เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
CIMBT หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือโต 2.8% จาก 3.3%


CIMBT หั่นคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือโตแค่ 2.8%  เชื่อสงครามการค้ายังยืดเยื้อกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และคาดกนง.ลดดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงไตรมาส4ปีนี้ 

 


 
 
 
ดร.โดนัล ฮานนา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาค กลุ่มซีไอเอ็มบีและดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) เปิดเผยถึงมุมมองเศรษฐกิจในหัวข้อ "ASIA and the lowering bamboo curtain" โดยดร.อมรเทพ กล่าวว่า ในส่วนของเศรษฐกิจไทยธนาคารได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 62 เหลือโต 2.8% จากเดิมที่ 3.3% เนื่องจากความตึงเครียดจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนเริ่มเห็นผลกระทบต่อประเทศไทยจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ ทำให้ภาคการลงทุนเอกชนมีแนวโน้มที่จะติดลบในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องแต่ไม่รุนแรงเท่าครึ่งปีแรกของปีนี้
         
อย่างไรก็ตามมองว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาล่าสุดจะช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอลงมากผ่านการกระตุ้นการบริโภคระดับล่าง แต่ยังมองว่าสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวคือภาคการลงทุนที่มีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งคาดหวังว่าภาครัฐจะมีมาตรการออกมาในช่วงที่เหลือของปีนี้ 
          
ด้านนโยบายการเงินของไทยมองว่ามีโอกาสที่จะเห็นการใช้มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม ซึ่งมีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงอีกครั้งไนไตรมาส 4/62 เพื่อประคองเศรษฐกิจและช่วยเหลือภาคส่งออก และลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับภาคเอกชน ช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ซึ่งแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี อาจจะอ่อนค่าลงจากปัจจุบัน หากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาด คือ เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯลงถึง 4 ครั้งในปีนี้
          
แต่หากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯลงเพียง 3 ครั้ง จะทำให้ตลาดมีการปรับมุมมองการลงทุน ซึ่งเป็นการกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์มากขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทและค่าเงินอื่นๆในภูมิภาคกลับมาอ่อนค่าลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งในส่วนของค่าเงินบาทธนาคารคาดว่าช่วงปลายปีนี้จะอยู่ที่ 30.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ 
          
นายอมรเทพ กล่าวว่าธนาคารยังคงมองว่าปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องยังคงเป็นปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่ยืดเยื้อไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 63 และหากนายโดนัล ทรัมป์ ยังคงเป็นผู้นำสหรัฐฯความตึงเครียดของสหรัฐฯและจีนยังคงมีต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2563

ด้านดร.โดนัล ฮานนา เปิดเผยว่า 5 ประเด็นที่น่าจับตาจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนที่ขยายตัวได้แก่ 1. เทคโนโลยี 5G ในอนาคต สหรัฐและจีนต่างพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองโดยแยกจากกัน ทำให้ผู้บริโภคต้องเลือกว่าจะใช้เทคโนโลยีของใคร ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง  2. เศรษฐกิจจีนชะลอลงจากสงครามการค้า แต่ที่เศรษฐกิจจีนกำลังโตตอนนี้เป็นการโตเหนือศักยภาพ เป็นผลจากการอัดฉีดทางการเงินการคลัง ซึ่งจะทำให้ เงินเฟ้อสูง  3. จีนเร่งการเติบโตโดยนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศจนการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 10%  รวมถึงการท่องเที่ยวของชาวจีนที่่อาจชะลอลง

4. เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตช้าลงแต่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต ซึ่งหากรัฐบาลบริหารจัดการไม่ดีจะมีปัญหาผลกระทบกับไทยและอาเซียน และ5. นักลงทุน นักวิเคราะห์มองว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยลง 4 ครั้ง หรือ 1% ภายใน 12 เดือนข้างหน้า แต่ซีไอเอ็มบีมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ถึงขั้นถดถอย การลดดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้แรงเท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดไว้  ดังนั้นมีโอกาสที่เงินจะไหลออกจากตลาดเกิดใหม่และมีโอกาสเงินบาทจะอ่อนค่าลง 

ดังนั้นไทยและประเทศอาเซียนควรต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์กันในอาเซียนให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอน และเร่งลดต้นทุน พร้อมสร้างประสิทธิภาพการผลิต 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 ส.ค. 2562 เวลา : 16:35:31
17-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 17, 2024, 4:02 am