เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ทบทวนแค่ปีละครั้ง...แผนการเงินไม่พลิกชีวิตเกษียณสุดชิล


หลายๆครั้งคุณคงต้องเคยถูกชักชวนให้ออมเงินหรือลงทุนแบบสม่ำเสมอ เพื่อขอให้คุณเริ่มก้าวขึ้นบันไดเลื่อนก้าวแรกแบบถูกต้องก่อน เมื่อคุณมีก้าวแรกแล้วหลังจากนั้นก็ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบ แค่นี้คุณก็จะสามารถไปถึงเป้าหมายการเงินได้


ดังนั้นเมื่อคุณตั้งเป้าหมายวางแผนการเงินให้เหมาะสมและเริ่มลงมือทันทีอย่างมีวินัยแต่การปล่อยให้เงินทำงานไปเรื่อยๆโดยที่ไม่เคยทบทวนเลย อันนี้คงไม่ใช่การจัดการเงินที่ดีนัก โดยเฉพาะเป้าหมายการเงินเพื่อวัยเกษียณเพราะหากการลงทุนที่คาดไว้เกิดไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด ย่อมมีโอกาสสูงที่เป้าหมายทางการเงินจะหลุดลอยไปไกลและอาจกลับตัวไม่ทัน

นอกจากนี้ในระหว่างทางย่อมมีปัจจัยมากมายที่มากระทบกับแผนการเงิน เช่น รายได้ ผลตอบแทนจากการลงทุน ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆหรือปัญหาเรื่องสุขภาพ สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบกับแผนการเงินที่เคยคำนวณไว้ เช่น เดิมเตรียมไว้สำหรับเกษียณ 10 ล้านบาท อาจต้องเตรียมมากขึ้นเป็น 15 ล้านบาทหรือต้องขยายระยะเวลาทำงานออกไปเพื่อให้มีเงินพอใช้ในยามเกษียณ

ดังนั้นการทบทวนแผนการเงิน มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯขอยืนยันมีความสำคัญมากและต้องทำอย่างน้อยๆปีละครั้งหรือมากกว่าหนึ่งครั้งก็ได้ แล้วแต่ความพอใจและเพื่อความชัวร์
 
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯคิดว่านี่คือคำถามที่คุณควรถามตัวเองก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป แถมยังได้ข้อคิดดีๆจาก “พิชญา ซุ่นทรัพย์” CFP® นักวางแผนการเงิน ที่แนะให้ตรวจเช็คปัจจัยต่างๆของตัวคุณเองตลอดเวลาก่อน เช่น

 
 
 
 
เงินที่เคยคิดไว้ว่าจะใช้หลังเกษียณ...ยังพอหรือเปล่า
นอกจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ยังมีปัจจัยส่วนตัวที่อาจเปลี่ยนไปและกระทบกับรายจ่ายหลังเกษียณได้ เช่น การย้ายที่อยู่ ปัญหาสุขภาพของคุณและคนในครอบครัว หนี้สิน ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายระยะยาว ดังนั้นถ้าคุณทบทวนจำนวนเงินจะช่วยให้คุณปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ทัน

ผลตอบแทนจากการลงทุนยังเป็นไปตามเป้าหรือไม่
ในแต่ละปีคุณควรประเมินผลการลงทุนของตัวเองและผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ลงทุนเอาไว้ว่าเป็นอย่างไร หากลงทุนมาสักระยะแล้ว ผลตอบแทนยังไม่ไปไหนหรือขาดทุน คุณควรพิจารณาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมแต่การวัดผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นอะไรที่ทำได้ยาก โดยเฉพาะช่วงเวลาสั้นๆที่ตลาดอาจมีความผันผวนเกิดขึ้น จึงต้องคอยปรับสัดส่วนการลงทุน หรือ Portfolio Rebalancing ของคุณ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ หากดูแล้วมีโอกาสที่ผลงานจะหลุดออกจากแผน คุณอาจต้องเพิ่มเงินลงทุน เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายการเกษียณ

สัดส่วนการลงทุนเหมาะสมกับช่วงวัยหรือไม่
อายุที่เพิ่มขึ้นพร้อมๆกับประสบการณ์และภาระความรับผิดชอบแต่สิ่งที่ตามมา ก็คือความสามารถในการรับความเสี่ยงของหลายคนลดลง ดังนั้นการกำหนดสัดส่วนการลงทุนเดิมไว้ โดยไม่ปรับเปลี่ยนเลยจะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงสูง มีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆในระยะยาว ส่งผลให้พอร์ตการลงทุนมีความผันผวนมากขึ้นตามมา

นอกจากจะปรับพอร์ตตามกรอบระยะเวลาและปรับให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนที่ตั้งใจไว้แล้ว ควรพิจารณาปรับลดสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น เช่น อายุ 40 ปี เคยลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง 60% แต่พออายุเพิ่มขึ้นมาเป็น 50 ปี จึงปรับลดสินทรัพย์เสี่ยงลงเหลือ 50% ซึ่งจะลดการขาดทุนลงในวันที่ตลาดผันผวน

เงินออมได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มที่แล้วหรือไม่
มีความเป็นไปได้สูงที่รายได้จะเพิ่มขึ้นในแต่ละปีหรืออาจลดลงได้จากการเปลี่ยนงาน ทำให้ภาระภาษีในแต่ละปีต่างกันไปด้วย ซึ่งหากไม่มีการทบทวนแผนการเงินในแต่ละปี อาจจะกำลังจ่ายภาษีมากกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นทุกปีคุณควรมีการวางแผนการออมหรือลงทุนที่ช่วยลดภาระภาษีให้เหมาะสมและต้องไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา

คุณมีแผนคุ้มครองรายได้แล้วหรือไม่
นอกจากวางแผนในส่วนของคุณแล้วคุณควรประเมินความคุ้มครองที่เหมาะสมสำหรับครอบครัว เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดกับคนในครอบครัว ดังนั้นควรพิจารณาปรับเปลี่ยนทุนประกันให้เหมาะสม รวมถึงใช้สิทธิ์ลดหย่อนทางภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตและสุขภาพไปพร้อมๆกัน ในบางกรณีหากประเมินแล้ว ทุนประกันชีวิตหรือทรัพย์สินที่ทำไว้สูงกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่มีความจำเป็นต้องคุ้มครองแล้ว อาจปรับลดทุนหรือเวนคืนกรมธรรม์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายลงได้เช่นกัน

มาถึงบทสรุปบอกได้เลยว่าระหว่างการเดินทางไปสู่เป้าหมายการเงินเพื่อวัยเกษียณ มีแรงเสียดทาน แรงกระทบกับแผนการเงินหรืออาจจะมีเป้าหมายใหม่ๆเข้ามาเพิ่มเติม ดังนั้นการทบทวนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง บอกได้เลยช่วยให้เห็นจุดอ่อนของแผนหรือจุดที่ต้องปรับปรุง เพื่อไม่ให้กระทบกับแผนการออมและการลงทุนได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ก.ย. 2562 เวลา : 08:19:01
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 5:56 pm