หุ้นทอง
เทคนิคง่ายๆ ในการ"คุยกับลูก"เรื่องการ"ใช้-บริหาร"เงินอย่างไรให้ดีมีคุณค่า


ทุกวันนี้แทบจะเกือบทุกครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่มักจะบ่นลูกตัวเองใช้เงินเก่ง เดี๋ยวก็ขอ...เดี๋ยวก็แบมือขอเงิน แต่เดี๋ยวก่อนถ้าลูกเป็นแบบนี้ คุณอย่าเพิ่งไปโทษลูก คุณควรสำรวจตัวเองก่อนว่า คุณมีพฤติกรรมเรื่องการวางแผนการเงินเป็นอย่างไร


ดังนั้นก่อนคุณจะสอนลูกให้รู้จักคุณค่าของเงิน คุณในฐานะพ่อแม่จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการ“วางแผน” และ “วินัย” ด้านการเงินก่อน
 
 

 
 
 
มาถึงตรงนี้คุณในฐานะพ่อแม่อาจจะมีคำถามตามมาว่า“แล้วจะเริ่มสอนลูกให้รู้จักการออมเงินอย่างไร” เรื่องนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับคำชี้แนะจากคุณอุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง CFP® รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิตและคณะอนุกรรมการมาตรฐานประสบการณ์การทำงานและจรรยาบรรณ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย มาแล้วว่า ไม่ใช่เรื่องยาก ดั่งสุภาษิตที่ว่า “ไม้อ่อนยังดัดง่าย”

โดยคุณพ่อคุณแม่อาจใช้เทคนิคการสอน โดยใช้อายุมาเป็นหลักก็ได้ เพราะอายุของเด็กนั้นจะมีผลต่อการรับรู้และความเข้าใจกับเรื่องเงินๆทองๆ

ถ้าเจ้าตัวเล็กอายุยังไม่ถึง 5 ขวบ แน่นอนเด็กวัยนี้ ยังไม่เข้าใจเรื่องเงินทองแต่สามารถรับรู้ผ่านทางอารมณ์และความรู้สึกได้ดี เช่น ภาพที่เห็นจากโฆษณาจะกระตุ้นความต้องการซื้อของเด็กก่อนถึงเวลาอันควรได้ ดังนั้นเด็กวัยนี้ไม่ควรให้ดูทีวีมากจนเกินไป

หนังสือนิทานเกี่ยวกับการออมเงิน ถือเป็นอาวุธคู่กายที่คุณพ่อคุณแม่ต้องนำมาสอนแล้วคุณจะเซอร์ไพรซ์เลยว่า การสอนเรื่องการออมให้กับเด็กวัยนี้อย่างสม่ำเสมอนั้นจะสามารถพัฒนาเรื่องเหตุและผล ด้านคุณค่าของเงินขึ้นตามอายุ ถ้าคุณเห็นเจ้าตัวน้อยรู้สึกภูมิใจกับเงินที่เพิ่มขึ้นในกระปุก นั่นหมายความว่าเขาเข้าใจเรื่องการออมเบื้องต้นแล้ว
เช่นถ้าบ้านไหนมีลูกอายุ 6-12 ขวบ เทคนิคการสอนเด็กวัยนี้ให้รู้จักค่าของเงิน เริ่มจากการให้เงินไปโรงเรียน ซึ่งมีคำถามตามมาว่าแล้วจะให้เงินมากน้อยเท่าไหร่
 
คำตอบก็คือคุณพ่อคุณแม่ต้องสำรวจว่าในโรงเรียนมีค่าใช้จ่ายแค่ไหน เช่น ขนมและน้ำดื่มราคาเท่าไหร่ สมมติว่าขนม 1 ชิ้น ราคา 15 บาท น้ำ 1 แก้ว ราคา 8 บาท อาจจะให้เงินลูกไปโรงเรียน 30 บาท เหตุผลที่ให้เงินเกินก็เพื่อสอนลูกให้รู้จักเก็บโดยเมื่อกลับถึงบ้านต้องถามลูกว่าวันนี้เหลือเงินเท่าไหร่ เมื่อมีเงินเหลือก็สอนให้นำไปหยอดกระปุกและเมื่อเห็นพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแล้ว ก็เริ่มให้เงินมากวันขึ้น เช่น 2 วันต่อครั้ง แล้วลองดูว่าจะมีเงินเหลือมาหยอดกระปุกเท่าไหร่จากนั้นก็ให้ 1 สัปดาห์ต่อครั้ง ถ้าลูกรู้จักคุณค่าของเงินจะทำให้เกิดการเก็บเงินที่สม่ำเสมอ
เมื่อผ่านไปสักระยะหรือเห็นว่าเงินเริ่มเต็มกระปุกแล้ว ก็พาลูกไปเปิดบัญชีออมทรัพย์ พร้อมๆกับสอนการเก็บและการออมเงิน เพื่อให้เข้าใจว่าเมื่อรู้จักเก็บแล้วก็ต้องรู้จักออมเพื่อให้งอกเงยขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้วิธีจูงใจที่ทำให้ลูกมีวินัยการออมได้แก่ การแข่งขันเก็บเงิน โดยคุณพ่อคุณแม่จะมีกระปุกออมสินคนละ 1 กระปุก ถึงสิ้นเดือนมาดูกันว่าระหว่างกระปุกของคุณพ่อ คุณแม่กับของคุณลูก ฝ่ายไหนจะเยอะกว่ากันหรืออีกวิธีที่ได้ผลก็คือ บอกลูกว่าถ้าเก็บเงินได้เท่าไหร่จะบวกเงินให้เท่านั้น เช่น วันนี้เหลือเงินจากโรงเรียน 5 บาท ก็ใส่กระปุกเพิ่มให้อีก 5 บาท เป็นการสร้างขวัญกำลังใจได้เป็นอย่างดี

ที่สำคัญคุณพ่อ คุณแม่ ต้องจดบันทึกรายรับ รายจ่ายประจำวันให้ลูกๆเห็นเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นตัวช่วยให้รู้ว่าในแต่ละวันนั้นใช้เงินไปกับอะไรบ้าง เมื่อถึงสิ้นเดือนก็นำบันทึกดังกล่าวมาดู หากลูกๆนำเงินไปใช้กับสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น ซื้อยางลบ ดินสอชุดใหม่ ทั้งๆที่ชุดเก่ายังเหลือก็สามารถแนะนำได้ แล้วคุณจะแปลกใจเมื่อพบว่า แม้จะอายุเพียง 6 ขวบ เจ้าตัวเล็กก็สามารถบริหารเงินตัวเองได้ แถมยังรู้จักซื้อของอีกด้วยเพราะจะเลือกซื้อของตามลำดับความความสำคัญของตัวเอง

บ้านไหนมีลูกวัย 13-18 ปี ซึ่งเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้มีความรับผิดชอบในเรื่องเงิน ให้รู้จักใช้รู้จักจ่ายและรู้จักเก็บออม สอนให้รู้ค่าของเงินและสิ่งของเพื่อให้รู้จักคำว่า “แพงเกินไป”

เทคนิคการใช้จ่ายนั้น คุณสามารถใช้วิธีเปรียบเทียบก็ได้ เช่น พาไปซูเปอร์มาร์เก็ตและก่อนจะซื้อของก็สอนลูกให้รู้จักเปรียบเทียบของชิ้นไหนที่ซื้อแล้วเกิดความคุ้มค่า ที่สำคัญควรให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกซื้อของใช้ราคารแพง เช่น ตู้เย็น ทีวีหรือรถยนต์คันใหม่ การเปิดโอกาสให้ช่วยเลือกและร่วมพิจารณาทั้งคุณภาพและราคา ทำให้ลูกรู้จักรับผิดชอบของที่ซื้อมาใช้ร่วมกันและเป็นโอกาสที่คุณจะได้พูดคุยอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องเงินๆทองๆ ซึ่งการตั้งคำถามกับเด็กวัยนี้ ทำให้พวกเขารู้จักคำว่า “เหตุและผล” ก่อนการใช้เงิน

นอกจากนี้ยังทำให้เด็กรู้จัก“ตั้งเป้าหมาย”เช่น หากต้องการของเล่นราคา 700 บาท พวกเขาจะรู้ว่าจะต้องเก็บเงินวันละเท่าไหร่ เช่น เดือนหน้าต้องการซื้อของเล่นราคา 700 บาท ก็ต้องเก็บวันละ 23 บาท ดังนั้นในครั้งถัดๆไป เมื่อเด็กอยากได้อะไรก็จะตั้งเป้าหมายในการเก็บเงิน นอกจากนี้ยังมีเทคนิคที่ทำให้ลูกได้เรียนรู้คุณค่าของเงินนั่นคือ การสอนให้ทำงาน เช่น ให้ลูกทำงานบ้าน ช่วยคุณพ่อล้างรถ รดน้ำต้นไม้ ช่วยคุณแม่ทำกับข้าวเพื่อแลกกับค่าจ้างหรืออาจจะบอกว่าถ้าเรียนได้เกรดดีจะมีรางวัล

เมื่อลูกๆรู้จักการเก็บเงินแล้วขั้นถัดไปก็สอนการลงทุนด้วยการพาไปเปิดบัญชีกองทุนรวม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการลงทุน ซึ่งทุกวันนี้มีกองทุนรวมหลายๆกองที่เริ่มต้นลงทุนได้เพียงเงินระดับร้อยบาท

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ต.ค. 2562 เวลา : 08:00:48
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:32 pm