การตลาด
สกู๊ป"สิงห์"เปิดเกมรุกธุรกิจร้านอาหารประเดิมซื้อ"ซานตาเฟ่"เสริมพอร์ต


หลังจากออกมาประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา กลุ่มบุญรอดบริเวอรี่ ผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มของเมืองไทยก็เดินหน้าเปิดเกมรุกธุรกิจ 6 เสาหลักทันทีไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเบียร์ โซดาและน้ำดื่ม ธุรกิจบรรจุภัณฑ์บางกอกกล๊าส ธุรกิจระดับภูมิภาค(รีจินัล)ภายใต้ สิงห์ เอเชีย โฮลดิ้ง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยสิงห์เอสเตท ธุรกิจซัพพลายเชน ภายใต้บุญรอดซัพพลายเชนและธุรกิจอาหารโดยฟู้ด แฟ็คเตอร์ส


ในส่วนของธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากสำหรับการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของกลุ่มบุญรอดบริเวอรี่ในครั้งนี้ คือ ธุรกิจอาหารเพราะหลังจากชิมลางธุรกิจร้านอาหารมาหลายแบรนด์ หลายสาขาพบว่าลูกค้าให้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี ประกอบกับธุรกิจร้านอาหารยังมีโอกาสให้เข้าไปชิงส่วนแบ่งการตลาดได้อีกมาก โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาภาพรวมธุรกิจร้านอาหารมีมูลค่ากว่า 4.2 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% จึงทำให้กลุ่มบุญรอดบริเวอรี่เล็งเห็นโอกาสในการโดดเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหาร

ล่าสุดมีกระแสข่าวออกมาว่ากลุ่มบริษัทบุญรอดบริเวอรี่ได้เข้าซื้อหุ้นของ"ซานตาเฟ่ สเต็ก"เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งงานนี้มีข่าวว่ากลุ่มบุญรอดบริเวอรี่ ได้ใช้งบก้อนโตถึง 1,500 ล้านบาท ในการเข้าซื้อกิจการของ ซาน ตาเฟ่ สเต็ก เลยทีเดียว

กระแสข่าวดังกล่าวได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการธุรกิจร้านอาหารอีกครั้ง เมื่อมีรายงานข่าวจาก Dealstreetasia ระบุว่า เลคชอร์ แคปปิตอล ซึ่งเป็นกองทุน Private Equity เน้นลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ขายหุ้นของ “ซานตา เฟ่ สเต็ก”ที่บริษัทถืออยู่ทั้งหมดให้กับทาง“สิงห์ คอร์เปอเรชั่น” คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยดีลสตรีทเอเชีย อ้างว่าได้รับการยืนยันจากผู้บริหารระดับสูงของ เลคชอร์ แคปปิตอล ถึงการขายหุ้นในครั้งนี้
 

 
ทั้งนี้การลงทุนของเลคชอร์ แคปปิตอล ในธุรกิจของซานตา เฟ่ สเต็กนั้นได้เริ่มขึ้นในปี 2558 เมื่อ “เคที เรสทัวรองท์” ผู้บริหารร้านซานตา เฟ่ สเต็ก ได้เปิดทางให้ “เลคชอร์ แคปปิตอล”เข้ามาลงทุนโดยการถือหุ้นบริษัทในสัดส่วน 26% ในขณะที่ “สุรชัย ชาญอนุเดช” ซีอีโอบริษัทและผู้ก่อตั้งยังคงถือหุ้นใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 74% เพื่อเสริมแกร่งการลงทุน โดยเฉพาะการขยายสาขา

จากข้อมูลในปี 2561 ที่ผ่านมา ซานตา เฟ่ สเต็ก มีสาขาที่เปิดให้บริการในประเทศไทยอยู่กว่า 120 สาขาและมีการขยายสาขาไปในต่างประเทศอีกหลายสาขาในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม  ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นให้สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์และยังมีแผนที่จะขยายสาขาไปอีกหลายประเทศในตลาดอาเซียน ซึ่งจากแผนการดำเนินงานดังกล่าวทำให้ ซาน ตาเฟ่ สเต็ก มีรายได้ในปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 1,900 ล้านบาท

ก่อนหน้าที่จะมีการซื้อขายหุ้น ซาน ตาเฟ่ เสต็ก เกิดขึ้น นายสุรชัย ชาญอนุเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด ผู้บริหารร้านซานตาเฟ่ เคยออกมาประกาศแผนการขยายธุรกิจว่าจะเดินหน้าขยายสาขาร้าน ซาน ตาเฟ่ เสต็ก อย่างต่อเนื่องปีละไม่ต่ำกว่า 10 สาขา เพื่อให้ในแต่ละปีมีรายได้เติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 25%  เนื่องจากปี 2563 นายสุรชัย มีเป้าหมายว่าจะพายอดขายรวมของร้าน ซาน ตาเฟ่ เสต็ก ก้าวไปสู่ 3,000 ล้านบาท

เป้าหมายที่ชัดเจนที่นายสุรชัย ได้วางไว้ดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกลุ่มบุญรอดบริเวอรี่ สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจร้านเสต็ก เพื่อเสริมพอร์ตธุรกิจร้านอาหารของตัวเอง จากปัจจุบันมีธุรกิจร้านอาหารในเครือ ประกอบด้วย ร้านEst.33  ร้าน Farm Design และร้าน  Kitaochi เป็นต้น 

ดังนั้นการเข้าถือหุ้นในร้าน ซาน ตาเฟ่ เสต็กของกลุ่มบุญรอดบริเวอรี่ ในครั้งนี้จึงถือเป็นการต่อจิ๊กซอว์ให้กลุ่มธุรกิจอาหารมีความแข็งแกร่งตรงตามที่นายปิติ  ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส จำกัดและกรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดบริเวอรี่ จำกัดได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะเตรียมงบสำหรับลงทุนในธุรกิจนี้ไว้ประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตในทุกๆรูปแบบ

 
สำหรับแผนธุรกิจอาหารเบื้องต้นที่กลุ่มบุญรอดบริเวอรี่ได้วางไว้นั้นจะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจอาหารเพื่อให้มีศักยภาพและความแข็งแกร่ง ด้วยการรวบรวมบริษัทในเครือทั้งหมดจากเดิมแยกกันบริหารงานมาอยู่ภายใต้การดูแล“ฟู้ด แฟ็คเตอร์ส” เช่น ธุรกิจข้าวถุงพันดี, ร้านอาหารเอส33, ร้านฟาร์มดีไซน์, ร้านอาหารญี่ปุ่น Kitaohji, โรงงานผลิตสินค้ากลุ่มอาหารเฮสโก ฟู้ด อินดัสทรี และเฮสโก โซลูชั่น, โรงงานผลิตเครื่องดื่มวราฟู้ดส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้รวมทีมงานให้มาอยู่ในศูนย์กลางประมาณ 150 คน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในเชิงรุกและมีขนาดธุรกิจอาหารที่ใหญ่ขึ้นโดยในอีก 3 ปีข้างหน้ากลุ่มบุญรอดบริเวอรี่ คาดหวังว่าจะมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีรายได้รวมประมาณ  4,500 ล้านบาท

หากกลุ่มบุญรอดบริเวอรี่สามารถพาธุรกิจอาหารก้าวไปสู่เป้าหมายได้ตามระยะเวลาที่กำหนด สเต็ปต่อไปที่ต้องก้าวไปให้ถึง คือการมีรายได้รวมอยู่ที่ 10,000 ล้านบาท พร้อมกับนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อระดมทุนต่อยอดการเติบโตธุรกิจต่อไป

แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้นกลุ่มบุญรอดบริเวอรี่ต้องเร่งงานวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดให้ครบพอร์ตก่อน โดยเฉพาะหมวดสินค้าใหม่ๆอย่างสินค้าพร้อมรับประทาน(Ready to eat :RTE และอาหารพร้อมปรุง (Ready to cook :RTC) โดยขณะนี้กลุ่มบุญรอดบริเวอรี่ได้เตรียมสร้างห้องปฏิบัติการด้านอาหาร (Food Lab) ไว้รองรับการพัฒนาสินค้าเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกันในด้านของโรงงานผลิตสินค้าก็เตรียมขยายพื้นที่เพิ่มเติมเพราะยังมีพื้นที่ในการขยายกำลังการผลิตสินค้าในเครือและรับจ้างผลิตสินค้านอกเครือ(OEM) ให้กับแบรนด์ไทยและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นอีก 2 แนวทางหลักในการสร้างรายได้

ที่สำคัญไปกว่านั้นเพื่อให้ธุรกิจอาหารขยายตัวอย่างรวดเร็วการมองโอกาสเข้าซื้อและควบรวมกิจการ(M&A) การร่วมทุน(Joint venture) ถือหุ้นส่วนน้อยและส่วนมาก รวมถึงการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจอาหารแบรนด์อื่นๆก็เป็นอีกกลยุทธ์หลักที่กลุ่มบุญรอดบริเวอรี่จะให้ความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ธุรกิจอาหารก็ยังสามารถไปได้ดีกว่าหลายๆธุรกิจ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ต.ค. 2562 เวลา : 07:16:06
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 10:05 am