เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ผลนิด้าโพลชี้ชัดร้านโชห่วย90% ไม่เห็นด้วยขึ้นภาษีบุหรี่เท่าตัว


สมาคมการค้ายาสูบไทยเผยผลสำรวจนิด้าโพล ร้านค้าปลีกขนาดเล็กร้อยละ 90 ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีบุหรี่รอบหน้า เหตุเศรษฐกิจกำลังแย่ ยอดขายลดลงทั้งบุหรี่และภาษียาเส้น ย้ำไม่เอาภาษีบุหรี่ร้อยละ 40 เดือนตุลาคมปีหน้า เตรียมนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นต่อ รมช. กระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิตและนายกรัฐมนตรี ชี้ขึ้นภาษีมากเกินไปกลับทำให้ของเถื่อนทะลัก การขึ้นภาษีแบบเป็นขั้นเป็นตอนน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า


 
นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย กล่าวว่าในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมากระทรวงการคลังขึ้นภาษียาสูบและยาเส้นเป็นระลอก เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ที่ปรับขึ้นภาษีบุหรี่ 2 ชั้น ทำให้ราคาบุหรี่ถูกที่สุดแพงขึ้นกว่า 50% จนปัญหาบุหรี่เถื่อนรุนแรงขึ้นและผู้สูบบุหรี่หันไปสูบยาเส้นที่มีราคาถูกกว่าแทนและเมื่อเดือนพฤษภาคมก็ได้มีการขึ้นภาษียาเส้นอีก จนทำให้ร้านค้าได้รับผลกระทบอย่างหนัก “สมาคมฯ ได้รับทราบปัญหาการค้าขายจากสมาชิกว่ายอดขายบุหรี่ (ที่ถูกกฎหมาย)และยาเส้นลดลง
 
 
 
 
ซึ่งผลสำรวจของนิด้าโพลก็ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์โดยทั่วไปกำลังแย่ โดยร้อยละ 68 บอกว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมากิจการโดยภาพรวมขายของได้น้อยลง ร้อยละ 73 บอกว่าขายยาเส้นได้น้อยลงตั้งแต่ขึ้นภาษียาเส้นเดือนพฤษภาคม 62 และร้อยละ 83 บอกว่าขายบุหรี่ได้น้อยลงตั้งแต่ขึ้นภาษีบุหรี่เดือนกันยายน 60 และร้านค้ากว่า ร้อยละ 90 ยืนยันเสียงเดียวกันว่า “ไม่เห็นด้วย” กับการขึ้นภาษีบุหรี่รอบหน้าจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เพราะคาดว่าจะทำให้รายได้จากการขายของลดลงและประสบปัญหาเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอเพราะต้นทุนบุหรี่สูงขึ้น ซึ่งจะซ้ำเติมร้านค้าโชห่วยให้ค้าขายยากลำบากขึ้นไปอีก”

 
นอกจากนี้ผลสำรวจเรื่องผลกระทบร้านค้าปลีกจากนโยบายการขึ้นภาษียาสูบสุดโหดจัดทำโดยนิด้าโพล ซึ่งทำการสำรวจความเห็นของร้านค้าโชห่วยที่ขายยาสูบใน 7 จังหวัด (กรุงเทพฯ อุบลราชธานี อุดรธานี เชียงใหม่ เชียงราย นครศรีธรรมราช และสงขลา) จำนวนทั้งสิ้น 1,029 ร้าน เมื่อเดือนกันยายน 2562 ยังพบว่า ร้านค้าร้อยละ 95 คาดว่าจะถูกกระทบหากขึ้นภาษีบุหรี่ในปี 63 โดยแบ่งเป็น ร้อยละ 57 มองว่าผลกระทบหลักมาจากรายได้ที่จะลดลงจากการขายบุหรี่ ร้อยละ 29 มองว่าผลกระทบหลักจะเป็นเรื่องของเงินทุนที่อาจมีปัญหาเพราะต้นทุนบุหรี่แพงและร้อยละ 9 มองว่าผลกระทบหลักจะมาจากการที่ขายสินค้าอื่นลดลงตาม

นางวราภรณ์กล่าวเสริมว่าในฐานะตัวแทนของร้านค้าปลีกที่ขายยาสูบ สมาคมฯจะนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นนี้ต่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ กรมสรรพสามิตและท่านนายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อสะท้อนสถานการณ์ปากท้องของร้านค้าให้ท่านได้รับทราบและพิจารณาปรับแนวนโยบายเพื่อลดผลกระทบหรือบรรเทาปัญหาให้แก่ร้านค้าเหล่านี้

 
 
ด้านตัวแทนร้านโชห่วย กล่าวว่า“ยาสูบหรือยาเส้นขึ้นราคาผู้สูบบุหรี่ก็ยังไม่เลิกสูบอยู่ดีถ้ารัฐบาลจะขึ้นภาษีโดยให้กระทบพวกเราให้น้อยที่สุดก็น่าจะค่อยๆ ขึ้นเป็นช่วงๆไปจะดีกว่า พวกเราร้านค้าก็เข้าใจว่าราคาสินค้าต้องมีการปรับขึ้นกันบ้าง โดยเฉพาะสินค้าจำพวกบุหรี่หรือยาเส้น เพราะรัฐบาลก็อยากให้คนบริโภคน้อยลง แต่ก็อยากขอร้องว่าให้เห็นใจร้านค้าที่ทำมาหากินสุจริตบ้าง รัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งละมากๆทุกครั้งไม่ได้เป็นผลดีกับใครเลย กลับทำให้ของเถื่อนทะลักอย่างที่เห็นกัน รัฐน่าจะเปลี่ยนมุมมองจะขึ้นภาษีก็ลองมองวิธีการใหม่ๆบ้าง ให้พวกเรายังอยู่กันได้ รัฐเองก็จะได้ไม่เสียรายได้ภาษีด้วย การขึ้นภาษีแบบเป็นขั้นเป็นตอนทีละน้อย น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า”

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ต.ค. 2562 เวลา : 22:35:21
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 11:10 pm