เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธ.กรุงศรีฯหั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือ 2.4%


ทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาลดเป้าจีดีพีปีนี้เหลือโต 2.4% ส่วนปีหน้าคาดขยายตัว 2.5%  เชื่อไตรมาสแรกปีหน้ามีโอกาสที่กนง.จะลดดอกเบี้ยเหลือ 1% 


 
 
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าธนาคารปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ลดลงเหลือโต 2.4% จากเดิมคาดโต 2.9% ขณะที่ปีหน้าคาดขยายตัวได้ 2.5%  เนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลง ความตึงเครียดของสงครามทางการค้า ความเสี่ยงจาก Brexit ที่ยังไม่มีข้อตกลง การส่งออกที่ชะลอลงจนส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมือง การขาดแคลนแรงงาน รวมไปถึงความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในหลายอุตสาหกรรม  โดยภาคการส่งออกปีนี้คาดว่าจะติดลบ 2.5% จากเดิมคาดติดลบ 2.8% ขณะที่ปี 2563 คาดโต 1.5%  และการนำเข้าในปีนี้คาดว่าจะติบลบ 4% จากเดิมคาดติดลบ 3.5% ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะเติบโต 3% ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้จะคงอยู่ที่ 1.25% และในปีหน้าคาดว่าจะปรับลดลงเหลือ 1%
 

 
 
ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 39.6 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 41.6 ล้านคนในปีหน้า ด้านการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 4% และลดลงเหลือ 3.5% ในปีหน้า ด้านการบริโภคภาครัฐในปีนี้คาดว่าจะทรงตัวที่ 2.2% และเพิ่มขึ้นเป็น 2.4% ในปีหน้า ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2.3% และเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% ในปีหน้า ขณะที่การลงทุนภาครัฐในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.8%และเพิ่มขึ้นเป็น 3% ในปีหน้า

 
 
 
สำหรับปัจจัยที่ยังต้องติดตามในปี 2563 ได้แก่ ภาคการส่งออกที่ยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด เนื่องจากการค้าโลกที่อ่อนแอ แม้ไทยยังได้ประโยชน์จำกัดจากการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ภาคธุรกิจรายใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการหดตัวของภาคการส่งออก ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า สหรัฐตัดสิทธิประโยชน์ GSP สินค้าไทย ข้อตกลง FTA ระหว่างอียูและเวียดนาม นอกจากนี้ยังต้องติดตามความเสี่ยงภายในประเทศ ทั้งด้านนโยบาย ปัญหาอุปทานส่วนเกินของตลาดที่อยู่อาศัย และความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง

ส่วนการลงทุนภาคเอกชน การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอน โดยกำลังการผลิตส่วนเกินที่มีอยู่มาก ส่งผลต่อแนวโน้มการลงทุนของภาคธุรกิจในระยะต่อไป รวมถึงการย้ายฐานการผลิตยังไม่ได้ส่งผลบวกอย่างเต็มที่ในระยะสั้น สำหรับการบริโภคภาคเอกชน กำลังซื้อของกลุ่มที่มีรายได้ต่ำยังได้รับแรงกดดันจากรายได้ภาคเกษตรและการจ้างงานซบเซา

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐ แรงกระตุ้นทางการค้ายังมีไม่พอที่จะชดเชยผลกระทบจากภาคการส่งออกที่หดตัวลง ความคืบหน้าของการลงทุนภาครัฐไม่ได้เป็นไปตามที่คาด ด้านการท่องเที่ยว ไทยได้ประโยชน์ระยะสั้นจากเหตุการณ์ประท้วงในฮ่องกง ขณะเดียวกัน มองว่า ภาคการท่องเที่ยวมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นจากการที่นักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นในระยะยาว

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน ในปีหน้าคาดว่าจะยังมีทิศทางที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องในระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ ผลจากการที่ไทยยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับที่สูงกว่า 3หมื่นล้านดอลลาร์


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ธ.ค. 2562 เวลา : 18:26:25
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 6:27 pm