การตลาด
สกู๊ป"ทีวีดิจิทัล"ตบเท้ารัดเข็มขัดส่งละครดังรีรันรับปีใหม่สู้อุตสาหกรรมโฆษณาวูบ


ปัญหาเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว ส่งผลให้การใช้เงินผ่านสื่อโฆษณามีการปรับตัวลดลงไปด้วย ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลแต่ละช่องต้องประสบกับปัญหาการขาดทุนและมีรายได้ลดลงกันถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็นช่อง 3 ช่องโมโน ช่องเวิร์คพ้อยท์ หรือช่อง 8


ทั้งนี้จากการรายงานตัวเลขผลประกอบการในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมาต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า ช่อง 3 มีรายได้จากการขายโฆษณาปรับตัวลดลง 23% ขณะที่ช่องโมโน มีรายได้จากการขายโฆษณาลดลง 7.89%  เวิร์คพ้อยท์มีรายได้จากการขายโฆษณาลดลง 23.3% และอาร์เอส มีรายได้จากการขายโฆษณาทีวีและวิทยุลดลง 9.9% 

จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลต้องปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ ด้วยการนำละครเก่ามาออนแอร์ในช่วงวันหยุดยาวอย่างเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้  เพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากผู้ชมส่วนใหญ่จะใช้เวลาในช่วงดังกล่าวไปกับการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ หากนำละครใหม่มาออนแอร์อาจไม่คุ้มกับต้นทุนที่ลงไป

เริ่มจากช่อง 7 ที่ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ช่อง 7 นำละครเก่ามาออนแอร์ใหม่ โดยละครที่เลือกมาออนแอร์ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ คือ สารวัตรใหญ่ ละครบู๊แอ็คชั่นที่เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มแมส และเป็นละครเรื่องแรกที่ทำเรตติ้งได้เกิน 10 ในปี 2562 โดยตอนจบสามารถทำเรตติ้งได้สูงถึง 11.291 และมีเรตติ้งเฉลี่ยทั้งเรื่องอยู่ที่ 8.022

 
 
โดยละคร "สารวัตรใหญ่" ที่จะนำมารีรันในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้จะเริ่ม(รีรัน) ตอนแรกในวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคมนี้ จากนั้นจะรับชมต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ 5 วันรวดจนถึงตอนจบ ตั้งแต่ วันจันทร์ที่ 30 ธ.ค. 2562 – วันศุกร์ที่ 3 ม.ค. 2563 โดยทุกวันศุกร์จะรับชมได้ในเวลา 20.20 น.  และวันเสาร์–อาทิตย์  จะรับชมได้ในเวลา 20.15 น.

 
 
ด้านช่อง 3 ก็ขอหยิบละครฮิตเรื่อง บุพเพสันนิวาส มาออกอากาศในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นรอบที่ 3 เริ่มตอนแรก วันพุธที่ 25 ธ.ค.2562  ต่อเนื่องยาวไปถึงวันที่ 9 ม.ค.2563โดยในวันจันทร์-ศุกร์ จะออกอากาศในเวลา 20.20 – 22.35 น. และเสาร์-อาทิตย์ ออกอากาศในเวลา 20.15-22.30 น. งานนี้ช่อง 3 หวังโกยรายได้แบบไม่มีต้นทุนเหมือนกับช่วงที่นำมารีรันรอบ 2 ที่โกยรายได้โฆษณาต่อนาทีไปได้ถึง 360,000 บาท 

ขณะที่ช่วงละครออกอากาศครั้งแรกโกยรายได้โฆษณาต่อนาทีไปได้ที่ 450,000 บาท เนื่องจากละครเรื่องดังกล่าวโกยเรตติ้งทั่วประเทศไปสูงสุดถึง 18.6  และมีคนดูเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 12.2 ล้านคน  ซึ่งหากมาดูเรตติ้งเฉลี่ยทุกตอนก็ยังอยู่ในระดับที่สูง คือ 13.2 หรือมีคนดูเฉลี่ยที่ 8.8 ล้านคนต่อตอน  และเป็นละครที่มีเรตติ้งสูงสุดในยุคทีวีดิจิทัล 

ส่วนช่องวัน ก็แว่วมาว่าจะนำละครหัวใจศิลามารีรันในช่วงเทศกาลปีใหม่เช่นกัน เพื่อลดต้นทุนและเรียกเรตติ้ง เนื่องจากละครเรื่องนี้ได้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี โดยมีผู้ชมทั่วประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.162 แซงละครช่วงไพร์มไทม์ของช่อง 3 ซึ่งมีเรื่องแรงเงา 2 ออกอากาศได้เป็นครั้งแรก เนื่องจากเรตติ้งอยู่ที่เพียง 2.385

อีกหนึ่งช่องที่จะนำคอนเทนต์เก่ามารีรันใหม่ คือ ช่องโมโน เนื่องจากขณะนี้เรตติ้งปริ่มๆ อยู่ในอันดับ 2 หากต้องการขึ้นเป็นที่ 2 อย่างถาวร ช่องโมโนต้องงัดกลยุทธ์เรียกเรตติ้งมาใช้  ซึ่งไม้เด็ดที่ช่องโมโนมีแผนที่จะเลือกหยิบมาใช้ในครั้งนี้ คือ การนำซีรีส์ทั้งไทยและต่างประเทศมาออกอากาศมาราธอน แบบไม่คั้นโฆษณา เพื่อดึงสายตาของผู้ชมไม่ให้เปลี่ยนช่องไปไหน ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวช่องโมโนคาดหวังว่าจะขยับเรตติ้งเพิ่มขึ้นได้เป็นที่น่าพอใจ
 

 
 
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจ-สายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ เอ็มไอ กล่าวว่า ช่วงวันหยุดยาวปลายเดือนธ.ค. 2562 ต่อเนื่องไปถึงต้นเดือน ม.ค.2563  ทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่เริ่มหันมาใช้กลยุทธ์รีรันละครและซีรีส์เก่าแบบมาราธอนกันมากขึ้น เนื่องจากต้องการประหยัดต้นทุนในด้านของค่าใช้จ่าย  เพราะโดยปกติแล้วช่วงเทศกาลวันหยุดยาวการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาค่อนข้างน้อย  เนื่องจากผู้ชมส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญไปกับการท่องเที่ยวในต่างจังหวัดและต่างประเทศ จึงทำให้จำนวนผู้ชมทีวีในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ปรับตัวลดลงจากปกติค่อนข้างมาก

นอกจากนี้การนำคอนเทนต์มารีรันในช่วงวันหยุดยาวยังถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์หลักในการลดต้นทุน เพราะหากนำละครใหม่มาออกอากาศอาจไม่คุ้มค่าใช้จ่าย  เนื่องจากละครแต่ละเรื่องจะมีต้นทุนค่อนข้างสูงเฉลี่ยตอนละประมาณ 1-2 ล้านบาท หากขายโฆษณาได้น้อยอาจทำให้ขาดทุนได้  และปกติช่วงวันหยุดยาวสินค้าจะไม่นิยมซื้อสื่อโฆษณามากนัก  ประกอบกับปัจจุบันเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวในทิศทางที่ดีนัก  ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโฆษณาโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจึงต้องหันมาลดต้นทุน  ด้วยการนำคอนเทนต์เก่ามาออกอากาศแทนคอนเทนต์ใหม่   

สำหรับภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย ออกมาระบุว่าโดยรวมสถานการณ์ติดลบอยู่ที่ประมาณ 0.15% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 96,493 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 96,636 ล้านบาท โดยสื่อที่ยังคงติดลบสูงสุด คือ สื่อหนังสือพิมพ์ ติดลบอยู่ที่ 23.81% ตามด้วยสื่อนิตยสารติดลบอยู่ที่ 20.27% สื่อเคเบิลทีวี/แซทเทลไลท์ทีวี ติดลบอยู่ที่ 7.81% และสื่อวิทยุติดลบอยู่ที่ 1.17%  ส่วนสื่อที่มีการขยายตัวเติบโตมากที่สุดในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา คือ สื่อโรงหนัง เติบโตที่ 16.81% ตามด้วยสื่อเคลื่อนที่เติบโตที่ 7.40%  สื่อในอาคารเติบโตที่ 2% และสื่อทีวีดิจิทัลเติบโตที่ 0.25%

อย่างไรก็ดีแม้ว่าภาพรวม 11 เดือนภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาจะติดลบ แต่หากมองเป็นรายเดือนถือว่าดีขึ้น โดยในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมามีการเติบโตเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.54% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 9,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ 9,062 ล้านบาท โดยสื่อที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด คือ สื่อโรงหนังเติบโตที่ 22.75% ตามด้วยสื่อเคลื่อนที่เติบโตที่ 9.68% สื่อทีวี เติบโตที่ 8.37% สื่อวิทยุเติบโตที่ 2.73%  และสื่อนอกอาคารเติบโตที่ 2.04%  ส่วนสื่อที่ยังคงขยายตัวติดลบอย่างต่อเนื่อง คือ สื่อหนังสือพิมพ์ติดลบที่ 34.23% ตามด้วยสื่อนิตยสาร ติดลบที่ 26.27% สื่อในอาคารติดลบที่ 8.99% และสื่อเคเบิลทีวี/แซทเทลไลท์ทีวี ติดลบที่ 3.54%

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว นายภวัต คาดการณ์ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมในปี 2563 น่าจะยังขยายตัวติดลบอยู่ที่ประมาณ 0.15% เนื่องจากยังไม่พบว่ามีปัจจัยบวกที่ช่วยทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เม็ดเงินโฆษณากันมากขึ้น
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ธ.ค. 2562 เวลา : 08:16:54
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 3:39 pm