การตลาด
สกู๊ป "เอ็นไวโร"แนะนักการตลาดเจาะพฤติกรรมผู้บริโภครับ"5 เทรนด์"มาแรง


เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้บริโภคสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้ง่ายและมากขึ้น จากความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน เห็นได้จากการซื้อสินค้าหรือมีความชอบในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีความฉาบฉวยมากขึ้น


 
 
แต่ขณะเดียวกันก็หันมารักสุขภาพกันมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย ทำให้ทราบถึงโรคภัยไข้เจ็บ พร้อมกับรู้วิธีป้องกันและรักษาได้อย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ถือว่าสอดคล้องกับการทำวิจัยของบริษัท เอ็นไวโร (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ออกมาเปิดเผยเทรนด์ของผู้บริโภคปี 2020 ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเลือกซื้อซื้อสินค้าหรือทำอะไรจะเน้นไปในเรื่องของคุณค่า/ความเชื่อ (passion/value)

 
 
 
 
น.ส.สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโร (ไทยแลนด์) จำกัด ในเครือบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า เทรนด์ของผู้บริโภค 2020 ที่ได้จัดทำขึ้นระบุว่า ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าที่สะท้อน คุณค่า/ความเชื่อ (passion/value) โดยผลวิจัยที่ได้สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย
 

 
 
 
1.ฉาบฉวย : เด็กรุ่นใหม่ Gen Z เป็นกลุ่มที่ได้เติบโตมากับความ ‘เรียลไทม์’แค่นั่งอยู่หน้าจอก็ได้ทุกอย่างแม้กระทั่งอาหาร ดังนั้นการกินของคนกลุ่มนี้  คือการสั่งเดลิเวอรี่หรือการอุ่นอาหารแช่แข็ง แม้ไม่สดเท่าอาหารปรุงใหม่แต่ยอมแลกกับความสบาย รวมถึงวิธีการเรียนรู้ก็ไม่ต้องเดินทางแสวงหาแต่สามารถเรียนออนไลน์ได้เลย หรือมีแอพพลิเคชั่นต่างๆที่ตอบสนองการใช้ชีวิตแบบฉาบฉวย เช่น แอพแปลภาษา แทนที่จะเสียเงินเรียนภาษา ซึ่งเรียนแล้วอาจจะลืมก็ได้ไม่สู้เสียเงินซื้อเครื่องแปลภาษาที่ทำให้ใช้ชีวิตได้ดีกว่านี้ เพราะเครื่องเดียวแปลได้ 40 ภาษา เดินทางได้ทั่วโลกและยังมีแอพพลิเคชั่นต่างๆที่ทำให้ทำงานและจัดระบบได้ง่ายๆ เช่น slack, trello, social banking เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่าคนกลุ่มนี้เข้าใจการใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างดีแต่ไม่เน้นใช้ชีวิตแบบปราณีต ไม่สนใจขั้นตอน สนใจที่ผลลัพธ์แต่ขณะเดียวกันก็ยอมจ่ายกับอะไรที่ได้ผลลัพธ์แบบเรียลไทม์โดยไม่ต้องลงแรง เช่น ได้ภาษา โดยไม่ต้องเรียน ได้ร่างกายดี โดยไม่ต้องออกกำลัง ได้กินโดยไม่ต้องออกจากบ้าน เป็นต้น

2.รักตัวกลัวตาย:ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่คอยตรวจดู การหายใจ การเดิน การนอน ปริมาณน้ำตาลในร่างกาย ถ้าใช่ คุณก็เข้าข่าย พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้เครื่องมือในการติดตามสุขภาพแบบเรียลไทม์ (real time health monitoring devices) มีการขยายตัวค่อนข้างสูง โดยในปี 2016 มีมูลค่าอยู่ที่  30,667.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2022 คาดการณ์ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 67,982.2 ล้านเหรียญสหรัฐ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้การเข้าถึง medical device ง่ายจนทำให้ผู้บริโภคเริ่มหมกมุ่นกับสุขภาพตัวเอง ซึ่งเป็นพฤติกรรมใหม่ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน รสนิยมการบริโภคก็จะเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับการใช้เงินที่จะใช้ไปกับการป้องกันโรคมากกว่าการรักษา ใช้เงินกับการกินที่ใส่ใจสุขภาพมากกว่าการตามใจปาก ตัดน้ำตาล เกลือและแป้ง การเลือกอาหารเครื่องดื่มที่ใส่วิตามิน เช่น คอลลาเจน หรือการใช้แป้งเบเกอรี่ ที่ให้โปรตีนและไฟเบอร์สูง เป็นต้น

3.ชอบใช้กำลังภายใน:นอกจาก health care, self care ก็มาแรงแซงโค้ง จากกระแสเรื่องโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตายที่นับว่าสูงขึ้นมาก จากสถิติพบว่าการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับสองในกลุ่มวัยรุ่น รองจากอุบัติเหตุ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้สูง โดยวัยรุ่นกว่า 55% ยอมรับว่าตัวเองมีความเครียดทุกวัน ความเครียดที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้แอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับ mental wellness/mindfulness เป็นแอพยอดนิยมอันดับ 1 ในปี 2018 และตลาดแอพลิเคชั่นสำหรับการเจริญสติ นั่งสมาธิ มีมูลค่าสูงถึง 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2018 และคาดการณ์การเติบโตเฉลี่ย 8% ไปตลอดจนปี 2029 ผู้บริโภครุ่นใหม่ตระหนักถึงภัยของ social media ที่มีผลต่อ mental disorder คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเล่น social network น้อยลง เห็นได้จากคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกัน หรืออังกฤษ เล่น facebook น้อยลง 17% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับ twitter ที่ลดลง 7% มีเพียง instagram ที่เพิ่มขึ้น แต่ก็เพียงเล็กน้อยแค่ 2%

4.โพธิสัตว์ : ผู้บริโภครุ่นใหม่มีความมักน้อยมากขึ้น จะไม่สะสม ไม่เก็บของ เน้นสไตล์ minimalist ที่โล่ง โปร่ง สบาย รักษ์โลกเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถุงผ้า การใช้เสื้อผ้าที่ย่อยสลายได้และย้อมสีธรรมชาติ การใช้บรรจุภัณฑ์ที่รับประทานได้ ไปจนถึงการเช่าเสื้อผ้าออกงาน แทนที่จะซื้อใหม่หรือการใช้สินค้า reuse ซึ่งจะเป็นที่ยอมรับ และกลายเป็น new norm ไม่ติดหรู ไม่ติดแบรนด์ ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยแต่ยอมจ่ายแพงกับสินค้าที่ดีต่อตัวเองและดีต่อโลกใบนี้

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและโปรดสัตว์ไปในขณะเดียวกัน จึงมีโอกาสที่จะทานเนื้อสัตว์น้อยลง สินค้าที่เป็น plant base หรือโปรตีนจากพืช อาหาร vegan ธัญพืช เป็นเทรนด์การบริโภคใหม่ ซึ่งในปีที่ผ่านมา 70% ของคนรุ่นใหม่มีการซื้อผลิตภัณฑ์ ออร์แกนิค อย่างน้อยหนึ่งชิ้น ขณะที่อัตราคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็เพิ่มขึ้น (VEGAN) ถึง 600% ใน 2 ปีที่ผ่านมา และมีการคาดการณ์ว่าผู้บริโภค 1 ใน 10 คน จะเป็น Vegan ภายในปี 2030

5.ชายไม่จริง หญิงแท้ : บทบาทของบุรุษเพศจะลดน้อยลงในปี 2020 เมื่อการรวมตัวกันของคนที่ไม่ใช่เพศชาย ไม่ว่าจะเป็น สตรี และ เพศที่สาม จะโดดเด่นมากจน “เพศ” จะไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำอีกต่อไป ดูจากการชนะเลือกตั้งของทีมนายกหญิง ฟินแลนด์ การชนะเลือกตั้งของประธานาธิบดีหญิงของไต้หวันถึง 2 สมัยติดต่อกัน miss universe ปีล่าสุด ที่ชนะใจกรรมการ ด้วยการกล่าวถึงสิทธิ์สตรี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันเราจะเห็นแคมเปญการตลาดและการใช้เงินซื้อสินค้าต่างๆที่สะท้อนคุณค่าเรื่องความเท่าเทียม หรือ genderless เช่น ตุ๊กตาที่ไม่ใช่มีแต่เพศหญิงหรือชาย แต่เป็นการผสมของสองเพศ Genderless voice เทคโนโลยีการสั่งด้วยเสียงที่ไม่ได้เลือกใช้เสียง หญิงหรือชาย อีกต่อไป แต่เป็นเสียงกลางๆที่ไม่สะท้อนเพศใดเพศหนึ่ง และเราจะเห็นกลุ่ม"ชายไม่จริง หญิงแท้" มีบทบาทมากขึ้นในสังคม ในปี 2020

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนักการตลาดควรศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างดีว่าต้องการอะไร เพื่อให้สินค้าและบริการที่พัฒนาขึ้นมาตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เพราะถ้าหากมาถูกทางสิ่งที่จะได้กลับคืนมาก็คือ ยอดขายและผลกำไรที่จะนำมาหล่อเลี้ยงองค์กรต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ก.พ. 2563 เวลา : 08:22:05
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 5:44 pm