การตลาด
สกู๊ป เครื่องใช้ไฟฟ้าหันรุก"สมาร์ทโฮม" เจาะประชากรอาเซียน 640 ล้านคน


จากการที่ปี 2573 (ปี ค.ศ.2030) ประชากรใน 5 ประเทศหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทยและมาเลเซียจะปรับเพิ่มเป็น 640 ล้านคน จากปัจจุบันมีประชากรรวมกันอยู่ที่ 520 ล้านคน ส่งผลให้หลายธุรกิจเริ่มเล็งเห็นโอกาสธุรกิจในกลุ่มประเทศดังกล่าว


หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่มองเห็นโอกาสการขยายตัวของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า หลังจากแต่ละแบรนด์มีการผลิตสินค้าเข้ามาทำตลาดจนเป็นที่รู้จัก ทำให้พอทราบถึงกลุ่มเป้าหมายของตัวเองที่ต้องการจะเข้าไปทำตลาด ล่าสุดได้เริ่มมีการปรับแผนผลิตสินค้าใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มประชากรของโลกเริ่มก้าวเข้าสู่กลุ่มผู้สูงวัยมากขึ้น และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยก็เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้วเช่นกัน

แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นดังกล่าว ประกอบกับธุรกิจก่อสร้างมีแนวโน้มขยายตัว โดยในปี ค.ศ. 2017-2030 คาดการณ์ว่าธุรกิจก่อสร้างจะมีมูลค่ามากกว่า 1,750 ล้านล้านเยน หรือเท่ากับอัตรา CAGR 3.9% ซึ่งหากมองเฉพาะ 5 ประเทศหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามที่กล่าวมาข้างต้นจะมีการก่อสร้างเพิ่มเป็น 4.41 ล้านหลังในปี ค.ศ.2021 ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าต้องพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว โดยเฉพาะการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น

 
 
 
นายไดโซะ อิโตะ รองประธานกรรมการอาวุโสและผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ บริษัท พานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น ไลฟ์ โซลูชั่นส์ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่าในปี 2563 บริษัท พานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น ไลฟ์ โซลูชั่นส์ ประเทศญี่ปุ่น ดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดสร้างการเติบโตในธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์สำหรับที่อยู่อาศัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมี 4 กลุ่มหลักคือ เฮ้าส์ซิ่งหรือที่อยู่อาศัย 2.เอนเนอร์ยีหรือ กลุ่มสินค้าพลังงาน 3.อีโคกลุ่มสินค้าประหยัดและรักษ์โลก และ 4.ไลท์ติ้งหรือกลุ่มให้แสงสว่าง

หลังจากบริษัทเดินหน้าขยายธุรกิจใน 4 กลุ่มดังกล่าว คาดว่าในปี 2564 จะมียอดขายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านเยน (ประมาณ 27,800 ล้านบาท) โดยประเทศที่สร้างรายได้ให้กับ พานาโซนิค คือ ไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวคาดว่าภายใน10 ปีจากนี้ หรือประมาณปี 2573 จะมีรายได้จาก 3 ประเทศนี้รวมกันไม่ต่ำกว่า 86,000 ล้านบาท

สำหรับประเทศไทยจะมีสินค้าทั้งที่นำเข้ามาจากต่างประเทศและสินค้าที่ผลิตในไทยโดยความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ผู้ผลิต ซึ่งขณะนี้พานาโซนิคได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ให้บริการตู้ล็อคเกอร์ในการทดสอบ “smart box” ซึ่งเป็นตู้สำหรับรับพัสดุไปรษณีย์แบบ IoT (Internet of Things) สามารถควบคุมการทำงานได้ด้วยสมาร์ทโฟนอีกด้วย รวมทั้งระบบครัวสำเร็จรูปที่ทำร่วมกับพาร์ทเนอร์ ส่วนตัวต่อไปคือ ห้องน้ำสำเร็จรูป เป็นต้น

ด้านซัมซุงก็ให้ความสนใจกลุ่มสินค้าสมาร์ทโฮมเช่นกัน โดยล่าสุดได้มีการพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ๆเขามาทำตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจสินค้ากลุ่มดังกล่าว
นายเฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ รองประธานธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า แผนการดำเนินธุรกิจของสินค้าในกลุ่มสมารท์โฮมหรือสมาร์ทโซลูชั่นนับจากนี้ บริษัทจะหันมาโฟกัสการสร้างการรับรู้สินค้าสมาร์ทโฮมไปในทิศทางเดียวตามแนวทางของบริษัทแม่ ด้วยการใช้การสื่อสารผ่านทุกช่องทาง โดยในส่วนของสินค้าที่จะนำมาทำตลาดจะเน้นไปที่ 2 กลุ่มหลัก คือ เครื่องปรับอากาศ และทีวี ด้วยการนำเสนอสินค้าที่มีฟังก์ชั่นสุขภาพ , สมาร์ทโฮม และความครบครันของสินค้าแบบออลอินวันโซลูชั่นตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

 
 
 
 
สำหรับสินค้าตัวแรกที่ ซัมซุง ได้นำมาเปิดตัวเข้าทำตลาดในประเทศไทยช่วงไตรมาสแรกนี้ คือ “สมาร์ทติงส์ ฮับ” (Smarthings Hub) อุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อแพลตฟอร์มและอุปกรณ์สมาร์ทโฮมของซัมซุงเข้ากับอุปกรณ์สมาร์ทโฮมของแบรนด์อื่น การเปิดตัวตู้เย็นรุ่นแฟมิลี่ฮับ ซึ่งช่วงแรกจะเน้นทำการตลาดไปในกลุ่มลูกค้าพาณิชย์ เพราะมีดีมานด์จากบริษัทที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายรายต้องการชูจุดเด่นการเป็นสมาร์ทโฮม เพื่อเป็นจุดขายของโครงการ

ส่วนแผนการทำตลาดเครื่องปรับอากาศ ปีนี้ ซัมซุงได้มีการปรับรูปแบบและกลยุทธ์การทำตลาดในสินค้าทุกเซ็กเมนต์ ตั้งแต่แมสถึงไฮเอนด์เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ล่าสุดได้มีการวางสินค้ารุ่น “วินฟรี พรีเมี่ยม พลัส” เป็นเรือธงในการทำตลาด ด้วยการชูจุดเด่นของฟังก์ชั่นที่เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็น ระบบสั่งงานผ่านสมาร์ทโฟน หรือระบบฟอกอากาศ PM 1.0 เป็นต้น

หลังจากเดินหน้าทำการตลาดต่อเนื่อง ซัมซุงคาดว่าสิ้นปีจะมียอดขายเติบโตมากกว่า 9.5% ซึ่งถือว่าสูงกว่าภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศ ขณะเดียวกันก็คาดว่าจะสามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มพรีเมี่ยมได้เพิ่มขึ้นเป็น 25% จากเดิมมี 20% ในพอร์ตรายได้ของซัมซุง

ปี 2562 ที่ผ่านมาตลาดเครื่องปรับอากาศมีการเติบโตของตลาดรวมมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 36% และในปี 2563 นี้คาดว่าตลาดรวมเครื่องปรับอากาศน่าจะมีอัตรการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 9.5% หรือมีมูลค่าเป็น 27,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 25,000 ล้านบาท ทั้งนี้มาจากปัจจัยการแข่งขันที่รุนแรง จากการทำโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม
 

 
 
ปิดท้ายกันที่ค่าย ชาร์ป ที่ปีนี้ขอเดินหน้าทำการตลาดภายใต้กลยุทธ์ ชาร์ป โฮมในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายที่จะผสานกำลังสร้างโมเดลระบบนิเวศ ด้านสมาร์ทโฮม (Smart Home Ecosystem) แบบครบวงจรในประเทศไทย โดยการจับมือร่วมกันระหว่าง “ชาร์ป” กับ “ไฮไฟ โอเรียนท์ ไทย” นายโรเบิร์ต อู๋ กรรมการผู้จัดการ ชาร์ป ไทย และ ชาร์ป มาเลเซีย กล่าวว่า กลยุทธ์ที่จะนำมาทำตลาดในครั้งนี้มีด้วยกัน 2 ขั้นตอน คือ 1. พลิกโฉมสู่ "สมาร์ทโฮมแพลตฟอร์ม” (Smart Home Platform) ด้วยโมเดล 4S คือ Small, Speed, Strong และ Share 2. การผสานความเชี่ยวชาญทั้งในระดับสากลและท้องถิ่น (Internationalization & Localization ของทั้ง2 บริษัท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.พ. 2563 เวลา : 08:12:26
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:18 am