การตลาด
สกู๊ป "สมาคมผู้ค้าปลีกไทย"ชงมาตรการ 4 มิติสู้วิกฤตโควิด-19


จากการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่โควิค -19 ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทย ขณะนี้ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนและภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้มาใช้บริการตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2563 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า 30% และยังมีแนวโน้มว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เชื่อมโยงกันบางรายต้องปิดตัวไป เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

 


 
 
 
 
ทั้งนี้จากข้อมูลของ Economic Intelligence Center (EIC) ที่ทำงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับเศรษฐกิจระดับมหภาค ภายใต้การดูแลของธนาคารไทยพาณิชย์ ออกมาระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีเม็ดเงินที่สูญเสียไปจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้วกว่า 70,000 ล้านบาท ซึ่งภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่งนับเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่สูญเสียไปกับเม็ดเงินดังกล่าว เพราะเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของทั้งประเทศ เนื่องจากแต่ละปีจะมีการสร้างรายได้ให้กับประเทศคิดเป็น 16% ของจีดีพีรวม

นอกจากนี้ภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่งยังมีการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมรวมกว่า 6.2 ล้านคน มีผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่เข้าร่วมธุรกิจอีกกว่า 450,000 ราย ซึ่งจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่งได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการค้าปลีกที่เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
 

 
 
นายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่าจากผลกระทบของไวรัสโควิด -19 ที่เกิดขึ้น ในนามของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและภาคีค้าปลีกทั่วประเทศ อยากขอเสนอแนะมาตรการที่จำเป็นต่อรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในด้านของการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้บริโภค การประคองธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในห่วงโซ่ค้าปลีกค้าส่งให้อยู่รอดและการช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งให้สามารถจ้างงานต่อไปได้ผ่านข้อเสนอเร่งด่วน 4 มิติ ดังนี้

1.มิติด้านการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยจะมีข้อเสนอแนะ 4 ข้อด้วยกัน คือ 1. เสนอให้นำโครงการ“ช้อป ช่วย ชาติ” กลับมาอีกครั้ง โดยการขยายวงเงินการบริโภคจากเดิม 15,000 บาท เป็น 50,000 บาท และกำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 31 ก.ย. 2563 โดยไม่มีข้อจำกัดกลุ่มสินค้าหรือประเภทธุรกิจ 2. เสนอโครงการ “คืนภาษีนำเข้า Duty Tax Refund” สำหรับสินค้านำเข้าเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้กับทั้งลูกค้าคนไทยและนักท่องเที่ยว กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 30 ก.ย. 2563

3. เสนอภาครัฐพิจารณาลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 5% เป็นการชั่วคราว กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.- 30 ก.ย. 2563 เพื่อเป็นการลดภาระค่าครองชีพผู้บริโภค และ 4. พิจารณายกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้มีเงินได้สุทธิจากเดิม 150,000 บาทแรก เป็น 300,000 บาทแรก สำหรับปีภาษี พ.ศ.2563

ในส่วนของที่ 2 คือ มิติในด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายนิติบุคคล ผ่านข้อเสนอแนะ 3 ข้อ ได้แก่ 1. เสนอให้พิจารณายืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคลประจำปี พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้ชำระภายในเดือนพ.ค. ไปเป็นเดือนส.ค. และพิจารณายืดภาระการชำระภาษีนิติบุคคลกลางปี พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้ชำระภายในเดือนส.ค. ไปเป็นเดือนธ.ค.2563 2. เสนอให้นิติบุคคลที่ต้องลงทุนซื้อหรือเช่าอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการคัดกรอง แจ้งเตือนและเฝ้าระวังผู้มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดโควิด 19 ที่ใช้ในจุดคัดกรอง สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่าก่อนการคำนวณภาษี และ 3. เสนอให้พิจารณาลดอัตราค่าน้ำ ค่าไฟต่อหน่วย ให้แก่ นิติบุคคล กำหนดช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2563
 

 
 
สำหรับมิติที่ 3 คือ มิติในด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายการจ้างงาน ผ่านข้อเสนอแนะ 3 ข้อ ได้แก่ 1. เพื่อชะลอการลดกำลังคน การยกเลิกชั่วโมงล่วงเวลา (OT) ตลอดจนถึง การเลิกจ้างงาน อันเนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 2. เสนอให้สำนักงานประกันสังคม พิจารณาลดภาระค่าใช้จ่ายในการสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ทั้งนายจ้างและลูกจ้างในช่วงวิกฤตนี้ โดยพิจารณายกเว้นเงินสมทบทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเป็นการชั่วคราว จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563 และ 3. นโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถยืดหยุ่นการจ้างได้เพิ่มขึ้น จึงขอให้พิจารณาปรับเพิ่มอัตราชดเชยภาษีที่นิติบุคคลสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งเดิมหักได้เพียง 15,000 บาท/คน เป็นหักได้สูงสุด 50,000 บาท/คน เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีความรู้ความสามารถมีโอกาสได้จ้างงานในช่วงวิกฤตนี้

ส่วนมิติที่ 4 คือ มิติในด้านการสร้างความความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐด้วยกัน 2 ข้อ ได้แก่ 1. ภาคค้าปลีกค้าส่งจะร่วมมือกับภาครัฐ รณรงค์ให้ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกทั่วประเทศ ดำเนินการทำ Big Cleaning ทำความสะอาด พ่นสเปรย์ด้วยยาฆ่าเชื้อโรคในสถานประกอบการครั้งใหญ่โดยพร้อมเพรียงกัน โดยจะมีกระทรวงสาธารณสุขรับรองมาตรฐาน โดยเริ่มจากกรุงเทพมหานคร ขยายไปยังจังหวัดที่เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวตามลำดับ โดยภาครัฐ ภาคเอกชนจะต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์ ไปยังประชาช และประเทศต่างๆที่เป็นเป้าหมายการท่องเที่ยวของไทย

2. ภาครัฐต้องสนับสนุนให้ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกและแหล่งท่องเที่ยว ติดตั้งเครื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบการคัดกรอง การแจ้งเตือนและเฝ้าระวังผู้มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดโควิด 19 ในสถานประกอบการ ซึ่งถือเสมือนเป็นสถานที่สาธารณะ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการแล้ว อาทิ กล้องอินฟราเรดจับอุณหภูมิ เครื่องวัดอุณหภูมิสแกนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องโดยสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ตามข้อเสนอข้างต้น

จากมาตรการที่เสนอไปข้างต้นสมาคมผู้ค้าปลีกไทยมั่นใจว่า ถ้าภาครัฐเข้ามาให้การช่วยเหลือตามที่เรียกร้องจริง น่าจะช่วยกู้วิกฤติของผู้ประกอบการในภาคค้าปลีกค้าส่ง การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องได้มากพอสมควร

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 มี.ค. 2563 เวลา : 06:29:38
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 11:43 pm