เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับลดลงและผันผวนจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานและความกังวลการแพร่COVID-19


ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับลดลงและผันผวนจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน และความกังวลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19


SCB Chief Investment Office ระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 มี.ค.) ตลาดหุ้นปิดปรับตัวผสมผสาน โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.50% สู่ระดับ 1.00-1.25% รวมทั้ง ความคาดหวังที่ว่า ธนาคารกลางทั่วโลก จะร่วมกับองค์กรอย่าง IMF และธนาคารโลก เพื่อออกมาตรการรับมือกับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19 นอกจากนี้ยังแรงซื้อหุ้นกลุ่มธุรกิจสุขภาพ หลังมีรายงานว่า นายโจ ไบเดน มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต เพื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะที่ ตลาดหุ้นยุโรปปรับลดลง เนื่องจาก นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสข้างต้น
 
อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นจีนปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยดัชนีฯได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังที่ว่า ทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสข้างต้น ด้านราคาน้ำมันปรับลดลงอย่างมาก หลังที่ประชุมระหว่างกลุ่มโอเปก และพันธมิตร นำโดยรัสเซีย ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตลงเพิ่มเติม ขณะที่ราคาทองคำ ปรับเพิ่มขึ้น นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสข้างต้นและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก

 
 
 
 
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
ในสัปดาห์นี้ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับลดลงและเคลื่อนไหวผันผวนจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมาก หลังกลุ่ม OPEC และพันธมิตร นำโดยรัสเซีย ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตลงเพิ่มเติม โดยรัสเซียไม่เห็นด้วยตามที่ OPEC ต้องการให้ประเทศพันธมิตร ให้ความร่วมมือลดการผลิตน้ำมันจำนวน 500,000 บาร์เรล ต่อวัน จากจำนวน 1.5 ล้านบาร์เรล ต่อวันที่กำหนดไว้ ประกอบกับซาอุดิอาระเบีย ประกาศลดราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ และประกาศพร้อมที่จะเพิ่มการผลิตน้ำมัน นอกจากนี้ตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มได้รับปัจจัยกดดัน จากความกังวลจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในต่างประเทศ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวลง สร้างภาวะ Risk-Off (เข้าลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย) บ่งชี้จาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับลดลงอยู่ต่ำกว่า 0.5 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างมาก
 
อย่างไรก็ดีสินทรัพย์เสี่ยงอาจได้แรงหนุนบางส่วนจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลก ยังมีแนวโน้มดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อเศรษฐกิจ โดยเราคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ลง -0.1% อยู่ที่ -0.6% นอกจากนี้ ทางการจีนยังมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการผ่อนคลายอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (ทั้ง LPR และ MLF) และปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของสถาบันการเงิน (RRR) ลงเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่ชะลอลงค่อนข้างมาก จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สำหรับตลาดหุ้นไทย ยังมีแนวโน้มได้รับแรงกดดันจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างมาก
 
แม้ว่าดัชนีฯมีแนวโน้มได้แรงหนุนบางส่วนจากการที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้อนุมัติมาตรการบรรเทาผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ดังนี้ เช่น แจกเงินผู้มีรายได้น้อย 1,000 บาท เป็นเวลา 2 เดือนและขยายวงเงินพิเศษกองทุน SSF เพื่อให้ลงทุนในตลาดหุ้นได้ไม่น้อยกว่า 65% ถึงเดือน มิ.ย.นี้ ก็ตาม

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
·         ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 หลังจำนวนผู้ติดเชื้อในต่างประเทศยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
·         ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเริ่มต้นของการทำสงครามราคาน้ำมัน
·         ติดตามผลการเลือกตั้งตัวแทนพรรคเดโมแครต การเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Super Tuesday II ในรัฐ 6 พร้อมกัน (10 มี.ค.) เพื่อหาตัวแทนพรรค เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
·         ติดตามการเสนองบประมาณของอังกฤษ (11 มี.ค.) คาดว่า จะมีงบประมาณ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19
·         ติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) เราคาดว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ลง -0.1% อยู่ที่ -0.6% พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์ GDP ของยูโรโซนในปีนี้ลง เนื่องจาก ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
·         การทยอยรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของจีน ในไตรมาส 4/2019 รวมทั้งการให้มุมมองต่อผลประกอบการในระยะถัดไป

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ GDP ไตรมาส 4/2019 ของยูโรโซน, อัตราเงินเฟ้อของจีน และสหรัฐฯ, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกน
เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ผลการเลือกตั้งตัวแทนพรรค Democrat (Super Tuesday II), ผลการประชุม ECB และการรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนของจีนในไตรมาส 4/2019
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 มี.ค. 2563 เวลา : 16:41:50
17-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 17, 2024, 1:30 am