การตลาด
สกู๊ป จับตาอาณาจักรค้าปลีก"ซีพี"หลังคว้า "โลตัส"กลับสู่พอร์ตบริหาร


ปิดดีลกันไปเรียบร้อยสำหรับการซื้อขายกิจการห้างเทสโก้ โลตัส ในประเทศไทย หลังจาก 3 ตระกูลใหญ่อย่างตระกูลเจียรวนนท์ ตระกูลจิราธิวัฒน์และตระกูลสิริวัฒนภักดี ฟากฟันราคากันมาพักใหญ่ ล่าสุดชัยชนะก็เป็นเจ้าของเก่าอย่างกลุ่ม “ซี.พี.” หลัง “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” เทงบกว่า 3 แสนล้านบาท ซื้อเทสโก้โลตัสในประเทศไทยกลับคืนมาอยู่ภายในพอร์ตธุรกิจพ่วงด้วยธุรกิจห้างเทสโก้ โลตัสในประเทศมาเลเซีย เพื่อต่อยอดอาณาจักรค้าปลีก ซึ่งปัจจุบัน “ซีพี” มีห้างแม็คโคร ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และร้านซีพีเฟรชมาร์ท อยู่ภายใต้การบริหารอยู่แล้ว

 


 
 
 
สำหรับดีลที่ ซีพี ได้ไปในครั้งนี้มีราคาขายอยู่ที่ประมาณ 10,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 338,445 ล้านบาท ทำให้ต้องแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 บริษัท ประกอบด้วย 1. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด เข้าลงทุนในสัดส่วน 40% 2. CPALL ลงทุนในสัดส่วน 40% และ 3. CPF ลงทุนในสัดส่วน 20% โดยดีลดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินการซื้อขายแล้วเสร็จภายในครึ่งปีหลัง 2563

ก่อนหน้าที่ ซี.พี.จะเข้าซื้อกิจการห้างเทสโก้ โลตัส กลับคืนมาบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด หรือเทสโก้ประเทศไทย ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 99.99% ในนามบริษัท เอกชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco Lotus ในประเทศไทย ขณะที่ห้างเทสโก้ โลตัส ในประเทศมาเลเซีย หรือ Tesco Stores (Malaysia) Sdn. Bhd. (เทสโก้ประเทศมาเลเซีย) ประกอบธุรกิจค้าปลีกภายใต้เครื่องหมายการค้า Tesco ในมาเลเซีย ซึ่งห้างเทสโก้ โลตัส ทั้ง 2 แห่งทำธุรกิจร่วมกันภายใต้ กลุ่มเทสโก้เอเชีย

ไทยและมาเลเซียถือเป็นประเทศที่ 6 และ 7 ในการขายกิจการห้างเทสโก้ โลตัส ที่บริษัทแม่ในประเทศอังกฤษ ได้ทำการประกาศขาย โดยห้างเทสโก้ โลตัส ที่บริษัทแม่ได้ทำการขายกิจการไปนั้น ประกอบด้วย ประเทศสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และตุรกี ไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อนำเงินไปแก้ไขปัญหาหนี้สินกว่า 17,648 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 726,000 ล้านบาท
 
 

 
 
ปัจจุบันห้างเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยมีการทำธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบต่างๆมากมาย ประกอบด้วย รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตประมาณ 214 สาขา ตลาดโลตัสประมาณ 179 สาขา และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส มีกว่า 1,600 สาขา โดยในส่วนของรูปแบบเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส มีแผนจะขยายเพิ่มอีก 750 สาขา ภายใน 3 ปีนับจากนี้หรือขยายปีละ 250 สาขาต่อปี จากเดิมเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส จะเปิดเพิ่มปีละ 50 สาขา

นอกจากนี้ยังมีการทำธุรกิจในรูปแบบของการให้เช่าพื้นที่ภายในศูนย์การค้าและให้บริการอื่นๆ ส่วนแผนการขยายสาขาในปีนี้ จะเป็นอย่างไร จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เนื่องจากขณะนี้การซื้อขายกิจการยังไม่เรียบร้อย 100%

สำหรับห้างเทสโก้ โลตัส ในประเทศมาเลเซีย มีร้านค้าในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เกตจำนวน 46 สาขา ซูเปอร์มาร์เกตจำนวน 13 สาขา และร้านค้าขนาดเล็กจำนวน 9 สาขา (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ส.ค. 62) ที่ดำเนินการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป โดยปัจจุบันเทสโก้ โลตัส ประเทศมาเลเซียได้มีการพัฒนารูปแบบบริการ เพื่อขึ้นมาเป็นหนึ่งในการผู้นำใน
ด้านกิจการค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากนี้เทสโก้ โลตัส ประเทศมาเลเซีย ยังประกอบธุรกิจให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าจำนวน 56 สาขา

หลังจาก ซี.พี.ได้ ห้างเทสโก้ โลตัส เข้ามาอยู่ในพอร์ตบริหาร ทำให้หลายคนเริ่มจับตามองว่า หลังจากนี้ไป ซี.พี.จะบริหารห้างเทสโก้ โลตัสอย่างไร ซี.พี. จะมีอำนาจเหนือตลาด หรือ “ผูกขาดตลาด” หรือไม่ เนื่องจากมีธุรกิจค้าปลีกอยู่ในมือจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น ห้างแม็คโคร ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น หรือร้านซีพี เฟรชมาร์ท

นอกจากนี้ธุรกิจที่คาบเกี่ยวกันจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะร้านเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรสที่ดูเหมือนจะคาบเกี่ยวกับร้านเซเว่นอีเลฟเว่นและร้านซีพีเฟชรมาร์ท ร้านไหนจะยังอยู่ ร้านไหนจะต้องไป แต่ไม่ว่าร้านไหนจะอยู่หรือร้านไหนจะไป แต่ถ้าผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด ผู้บริโภคก็คงจะโอเคกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

แต่ถ้าหากมองอีกมุมในด้านของซัพพลายเออร์ที่ส่งสินค้ามาขายในห้างเทสโก้ โลตัส ห้างแม็คโคร ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และร้านซีพีเฟรชมาร์ท ก็อาจจะร้อนๆหนาวๆกัน เพราะการที่ ซี.พี.มีร้านค้าปลีกอยู่ในพอร์ตบริหารเพิ่มขึ้นก็จะทำให้มีอำนาจในการต่อรองราคาเพิ่มขึ้นเช่นกัน จากปัจจุบันซัพพลายเออร์ค่อนข้างได้รับผลกระทบจากการนำสินค้าเข้าขายในห้างค้าปลีกอยู่แล้ว เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายยิบย่อยจำนวนมาก

ปัจจุบันห้างแม็คโครมีจำนวนสาขาที่เปิดให้บริการในประเทศไทยประมาณ 133 สาขา แบ่งเป็น รูปแบบคลาสสิค 79 สาขา รูปแบบอีโค พลัส 15 สาขา รูปแบบฟู้ดเซอร์วิส 27 สาขา รูปแบบฟู้ดช็อป 5 สาขา และสยามโฟร์เซ่น 7 สาขา นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปขยายธุรกิจในต่างประเทศอีกประมาณ 6 สาขา แบ่งเป็น กัมพูชา 2 สาขา, อินเดีย 3 สาขา และจีน 1 สาขา ซึ่งในส่วนของปีนี้มีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกหลายสาขา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหาทำเลที่มีความเหมาะสม
 
 

 
 
 
ในส่วนของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ปัจจุบันมีจำนวนสาขาที่เปิดให้บริการอยู่ทั่วประมาณกว่า 11,000 สาขา และมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 600-700 สาขาต่อปี ขณะที่ร้านซีพีเฟรชมาร์ท ปัจจุบันมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการประมาณ 400 สาขา โดยในปีนี้ยังไม่มีแผนที่จะขยายเพิ่มเติมมากนัก เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงสาขาเก่าที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีความสวยงามและมีสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า

จากอาณาจักรค้าปลีกของ ซี.พี. ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ ซี.พี.โดดขึ้นอันดับ 1 ของผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีรายได้สูงสุดในประเทศไทย เนื่องจากการซื้อกิจการห้างเทสโก้ โลตัสที่เกิดขึ้น ทำให้ ซี.พี.มีรายได้ทะลุ 800.000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ที่มาจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) บริหารร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และห้างแม็คโคร 571,110 ล้านบาท รายได้ที่มาจากห้างเทสโก้ โลตัส ประเทศไทย 188,628 ล้านบาท และห้างเทสโก้ โลตัส มาเลเซีย 33,551 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังทำให้ ซี.พี. มีส่วนแบ่งทางการตลาดค้าปลีกในทุกรูปแบบขึ้นเป็นอันดับ 1 เนื่องจากปัจจุบันมีร้านสะดวกซื้ออยู่ในมือทั้งหมดประมาณ 13,300 สาขา จากเดิมมีจำนวนสาขาร้านสะดวกซื้ออยู่ในมือประมาณ 12,000 สาขา ขณะเดียวกันก็มีห้างค้าส่ง (ในประเทศ) จำนวน 94 สาขา (เท่าเดิม) และมีห้างไฮเปอร์มาร์เก็ต (เทสโก้+ฟู้ด เซอร์วิส แม็คโคร) รวม 431 สาขา จากเดิมมีจำนวนสาขารวมอยู่ที่ประมาณ 40 สาขา ซึ่งจากความสำเร็จที่ได้รับดังกล่าวทำให้ปัจจุบัน ซี.พี. มีส่วนแบ่งตลาดห้างโมเดิร์นเทรดในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 43.5% จากเดิมมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 31.9% หลังจากนี้จะเพิ่มเป็นเท่าไหร่ปีหน้ารู้กัน

LastUpdate 16/03/2563 08:39:33 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:47 pm