การตลาด
สกู๊ป "โควิด-19" ยังไม่กระทบอุตสาหกรรมโฆษณา 2เดือนแรกขยับตัวโต 1%


แม้ว่าเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่โคโรน่าหรือโรคโควิด-19 จะเริ่มมีการแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย แต่สถานการณ์อุตสาหกรรมโฆษณาของไทยก็ยังสามารถขยายตัวได้ในแดนบวก เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีการแพร่ระบาดเพิ่มสูงมากนัก


ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ยังไม่มีการประกาศปิดสถานบริการที่มีประชาชนเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมากเหมือนอย่างเดือน มี.ค.นี้ จึงทำให้สินค้าต่างๆ ยังคงออกมาใช้งบการตลาด เพื่อสร้างแบรนด์และกระตุ้นยอดขายตามแผนงานเดิมที่วางไว้ แม้ว่าบางรายจะปรับลดงบหรือชะลอการใช้จ่ายไปบ้าง แต่ภาพรวมก็ยังมีเม็ดเงินไหลเข้าในอุตสาหกรรมโฆษณาให้บรรดาเอเยนซี่ทั้งหลายได้อุ่นใจบ้าง
 

 
 
 
จากข้อมูลของบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย ระบุว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาของไทยในเดือน ม.ค.- ก.พ.2563 ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 17,865 ล้านบาท สูงกว่าปี 2562 ที่มีมูลค่าประมาณ 17,666 ล้านบาท โดยสื่อทีวียังคงเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 58% โดยในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาสื่อทีวีมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 9.66% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 5,405 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 4,929 ล้านบาท

นอกจากนี้หากมองอย่างเจาะลึกไปที่เซ็กเมนท์ของทีวีแต่ละช่องจะพบว่ามีการขยายตัวในทิศทางที่ดีอีกเช่นกัน โดยในส่วนของกลุ่มช่อง HD ซึ่งประกอบไปด้วย ช่อง 7 ,ช่อง 3 ,ช่อง MCOT,ช่องอมรินทร์ทีวี ,ช่องพีพีทีวี ,ช่องวันและช่องไทยรัฐทีวี มีเม็ดเงินไหลเข้าในช่วงเดือน ก.พ. 2563 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 3,542 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ประมาณ 15.45% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 3,068 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มช่อง SD ซึ่งประกอบด้วย ช่องเวิร์คพ้อยท์ ,ช่องโมโน 29 ,ช่อง 8 ,ช่องทรูโฟร์ยู และช่องจีเอ็มเอ็ม 25 มีเม็ดเงินไหลเข้าในช่วงเดือน ก.พ.2563 ที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 1,427 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ประมาณ 6.03% หรือมีมูลค่าระมาณ 1,345 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มช่องสาธารณะ ซึ่งประกอบไปด้วย ช่อง 5 และช่องเอ็นบีที มีเม็ดเงินไหลเข้าในช่วงเดือน ก.พ. 2563 เพิ่มขึ้นประมาณ 14.44% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 278 ล้านบาท

มีเพียงกลุ่มช่องข่าว ซึ่งประกอบด้วย ช่องเนชั่น ช่องทีเอ็นเอ็น 16 และช่องนิว 18 มีเม็ดเงินไหลเข้าในช่วงเดือน ก.พ. 2563 ลดลงประมาณ 40% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 117 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีเม็ดเงินอยู่ที่ประมาณ 196 ล้านบาท
 

 
 
 
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณามากที่สุด 3 อันดับแรกในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง (Personal Care & Cosmetic) มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2,484 ล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2,370 ล้านบาท และอันดับ 3 เป็นของ กลุ่ม Media & Marketing มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1,685 ล้านบาท โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง (Personal Care & Cosmetic) ใช้เม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้น 5% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food&Beverage) ใช้เม็ดเงินโฆษณาลดลง 2% และกลุ่ม Media & Marketing ใช้เม็ดเงินโฆษณาลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
 

 
 
นอกจากนี้นีลเส็น ยังระบุอีกว่าบริษัทที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดของเดือน ม.ค.- ก.พ. 2563 ที่ผ่านมาใน 3 อันดับแรก คือ บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลดิ้งส์ จำกัด มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่า 643 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ประมาณ 52% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนก.พ. ที่ผ่านมา คือ ใหม่ Comfort น้ำเดียว ซันซายน์ 18 บาท ทางสื่อทีวีมูลค่า 25 ล้านบาท รองลงมาคือซันซิล ใหม่ 5 เท่า พร้อมไบโอติน คอมเพล็กซ์ ทางสื่อทีวีมูลค่า 24 ล้านบาท

อันดับ 2 เป็นของบริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 465 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปี 2562 ที่ประมาณ 3% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนก.พ. ที่ผ่านมา คือ เอส.โอ.เอ็ม. ซีแม็คซ์ ผ่านทางสื่อทีวีคิดเป็นมูลค่าประมาณ 32 ล้านบาท ตามด้วยแคมเปญการตลาด เอส.โอ.เอ็ม. ไอ-แคร์ ดูแลสุขภาพดวงตา ทางสื่อทีวีคิดเป็นมูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท

และอันดับ 3 เป็นของบริษัท ทีวี ไดเร็ก จำกัด(มหาชน) มีการใช้เม็ดเงินคิดเป็นมูลค่าประมาณ 351 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ประมาณ 13% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนก.พ. ที่ผ่านมา คือ เครื่องบดสับปั่น ซื้อ 1 แถม 1 ทางสื่อทีวีมูลค่า 23 ล้านบาท ตามด้วยการทำตลาดชุดม๊อปพร้อมถังปั่น SJ MOP รุ่น BABY SHARK ผ่านทางสื่อทีวีคิดเป็นมูลค่าประมาณ 14 ล้านบาท

ทั้งนี้จากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มระบาดมากขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.นี้ ทำให้ภาพรวมเศราฐกิจของไทยเริ่มเห็นภาพผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้น เช่นเดียวกับสื่อโฆษณา

นายรัฐกร สืบสุข อุปนายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการระบาดของโค โควิด -19 เป็นเหมือนภาวะช็อคโรคที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจทั่วโลก และส่งผลกับทุกอุตสาหกรรมไม่เว้นกระทั่งอุตสาหกรรมสื่อที่ได้รับผลกระทบแล้วเช่นกัน ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวจะทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาปรับตัวดีขึ้นถ้ามีเหตุการณ์ 4 สิ่งนี้ 1.การระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563 และกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายไตรมาส 3

2.ไม่มีการคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเพิ่ม 3.ผู้เล่นในตลาด OTT โดยเฉพาะผู้เล่นจากต่างประเทศจะยังคงใช้วิธีการหารายได้ในรูปแบบบอกรับสมาชิก(Subscription Video on Demand)ไม่ใช่รูปแบบจากการโฆษณา และ 4.ภาพยนต์ระดับ Blockbuster อาจเลื่อนกำหนดฉายอยู่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 มี.ค. 2563 เวลา : 08:29:22
16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 11:10 am