เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือนเมษายน 2563


ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร เดือนเมษายน 2563 โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ มันสำปะหลัง และสุกร มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ของตลาด ด้านข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง จากความต้องการของตลาดที่ลดลง

 


 
 
 
นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส.คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนเมษายน 2563 ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,637-8,690 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจาก เดือนก่อน ร้อยละ 3.14-3.77 ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 14,023-14,589 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.37-4.42 เนื่องจากความต้องการข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีคำสั่งซื้อข้าวจากประเทศที่มีการระบาดฯ เพื่อสำรองไว้บริโภคและเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และสหภาพยุโรป ประกอบกับภาวะภัยแล้งที่ ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดลดลง ส่วนมันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 1.94-1.99 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.52 – 3.11 เนื่องจากภาวะภัยแล้งส่งผลให้ปริมาณมันสำปะหลังที่ออกสู่ตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศและการแปรรูปเพื่อส่งออก และสุกร ราคาอยู่ที่ 69.00 – 73.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.47 – 7.35 เนื่องจากประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้ผลผลิตสุกรมีชีวิตออกสู่ตลาดน้อยลง อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวที่ซบเซา ส่งผลต่อการบริโภคเนื้อสุกรลดลง อาจทำให้ราคาสุกรขุนปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้สินค้าเกษตรบางชนิดมีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการของตลาดที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ราคา 14,621-14,639 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.21-0.33 เป็นผลจากความต้องการใช้ข้าวเหนียวในช่วงเทศกาล เช็งเม้งลดลง เนื่องจากความกังวลทำให้คนไทยเชื้อสายจีนบางส่วนงดการเดินทางไปประกอบพิธีกรรมไหว้บรรพบุรุษ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.26-7.35 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50-1.50 เป็นผลจากการบริโภคในประเทศและการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ลดลง ประกอบกับมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเมียนมา และเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตฤดูแล้งทำให้ผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ราคา 13.59-14.52 เซนต์/ปอนด์ (9.82-10.49 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 6.00-12.00 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศบราซิลปรับลดสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล และเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำตาล ขณะที่ความต้องการใช้น้ำตาลในภาคอุตสาหกรรมลดลงค่อนข้างมาก จากปัญหาการหยุดชะงักผลิตสินค้า

ยางพาราแผ่นดิบ ราคาอยู่ที่ 36.72-37.62 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.84-4.21 เนื่องจาก ความต้องการใช้ยางธรรมชาติปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบ จากการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และกลุ่มพันธมิตรยังไม่มีข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกลดลง ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 4.80-5.00 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.38 – 5.33 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบ ในตลาดโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันทางเลือกในประเทศและความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันดิบเพื่อผลิตไบโอดีเซลลดลง และกุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัว/กก. ราคาอยู่ที่ 135.00 – 141.00 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.00- 4.25 เนื่องจากความต้องการในประเทศยังชะลอตัว จากภาค การท่องเที่ยวซบเซา ขณะที่ปริมาณผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นจากผลผลิตของภาคใต้ที่เริ่มออกสู่ตลาด

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 มี.ค. 2563 เวลา : 15:03:43
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:50 am