การตลาด
สกู๊ป "อสมท"สิ้นสัมปทานช่อง 3 เดินหน้าลุย Digital Platform เพิ่มรายได้


สิ้นสุดไปเรียบร้อยสำหรับสัญญาสัมปทานช่อง 3 หลังใช้บริการมานานว่า 50 ปี ซึ่งนับจากนี้เป็นต้นไป อสมท ก็จะเดินหน้าพาธุรกิจก้าวไปสู่ดิจิทัลอย่างเต็มตัว โดยการพัฒนา Platform ใหม่เข้ามาต่อยอดธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจในสื่อดิจิทัลมากขึ้น


 
 
ย้อนกลับไปเมื่อ 52 ปีที่ผ่านมา บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัดได้รับสัมปทานจากองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทยในชื่อ “ไทยทีวีสีช่อง 3” เพื่อส่งสัญญาณโทรทัศน์ออกไปสู่สถานีโทรทัศน์ส่วนภูมิภาค โดยช่อง 3และช่อง 9 ใช้ดาวเทียมอินเทลแซต ซึ่งบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เป็นผู้ร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีกับ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (เดิม) ตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สี ลงวันที่ 4 มี.ค. 2511

ต่อมาบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้ทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีกับองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2521 ซึ่งแปลงสภาพเป็นบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยมีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมรวม 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2525 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2520 และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2532

 
 
 
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมาสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีระหว่าง บมจ.อสมท กับ บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ได้สิ้นสุดลงไปเรียบร้อยแล้วหลังจากได้ร่วมดำเนินสัญญามาตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2523 ส่งผลให้ไทยทีวีสี ช่อง 3 จะยุติการแพร่ภาพทีวีอนาล็อกเป็นช่องสุดท้ายของประเทศไทยหลังจากได้ออกอากาศมายาวนานกว่า 50 ปี

ทั้งนี้ อสมท ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจนับและตรวจรับทรัพย์สินที่จะมีการส่งมอบให้ถูกต้องตามสัญญาและให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กร โดยบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด จะต้องส่งมอบทรัพย์สินในสภาพที่สามารถดำเนินการต่อไปได้ตามปกติและส่งมอบสถานที่ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่สัญญาสิ้นสุด สำหรับบุคลากรของ อสมท ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสถานีเครื่องส่งอนาล็อกในพื้นที่ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ดูแลสถานีเครื่องส่งดิจิทัลต่อไป

ส่วนสัญญาเช่าเวลาจัดรายการและโฆษณา FM 105.5 MHz ตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการฯระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2539 ถึง 31 ม.ค. 2563 คณะกรรมการ กสทช.ได้มีมติอนุมัติให้ บมจ.อสมท ใช้คลื่น FM 105.5 MHz ประกอบกิจการไปก่อน ซึ่ง บมจ.อสมท ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมจัดรายการกับบริษัท บีอีซี-เทโร เรดิโอ จำกัด เพื่อให้การออกอากาศเป็นไปอย่างต่อเนื่องต่อไป

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2563 นี้ อสมท ได้ทำการปรับธุรกิจใหม่ โดยการเพิ่มหน่วยธุรกิจอีก 2 ส่วน คือ 1.สำนักธุรกิจดิจิทัล นำ Content ใน Platform เดิม มาพัฒนาสู่ Platform ใหม่ ประกอบด้วย Contents ข่าวและข่าวบันเทิง Content เสียงจากวิทยุ 53 สถานี เพื่อขยายไปสู่ Podcast และ Radio Online 2.สำนักดิจิทัลแพลตฟอร์ม เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มกับ Digital Platform ที่มีโอกาสสร้างธุรกิจใหม่ๆ นอกเหนือจากธุรกิจมีเดียโทรทัศน์ โดยเปิดโอกาสเจรจากับ Partner ไทยและต่างประเทศ

นอกจากนี้ อสมท ยังมีแผนที่จะจัดตั้งฝ่ายงานเล็กๆเข้ามาทำในรูปแบบ Business Lab ภายใต้ชื่อ ฝ่ายพัฒนาโครงการใหม่ ( Growth project ) เป็นคณะทำงาน Fast track ซึ่งเนื้อหาของการทำงานจะเน้นไปที่การนำเสนอนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำมาวิเคราะห์ธุรกิจใหม่ๆที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจเดิม เพื่อสร้างให้ธุรกิจดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองในอนาคต

นายเขมทัตต์ กล่าวต่อว่าแผนการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของการต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะการผลิต Content ข่าว และ Content อื่นๆที่ อสมท มีอยู่ เพื่อนำไปสู่ธุรกิจ Data และ Information ที่มีรากฐานมาจาก Content ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งนับจากนี้ไป อสมท จะหาพันธมิตรใหม่ๆที่เป็น Non broadcast เข้ามาเสริมทัพในการขยายธุรกิจมากขึ้น

จากแผนการดำเนินงานดังกล่าว การวางรากฐานพัฒนาธุรกิจให้สอดรับความต้องการในตลาดถือว่ามีความสำคัญสูงสุด เพราะสามารถช่วยลดความเสี่ยงด้านการแข่งขันของอุตสาหกรรมสื่อที่มีความรุนแรง โดย อสมท มีนโยบายขับเคลื่อนองค์กรให้เป็น “Trusted Content & Platform เน้นการสร้าง Contents และ Platform ที่มีประโยชน์ เชื่อถือได้ให้เป็นแหล่งอ้างอิงความถูกต้อง ตลอดจนรวบรวมข้อมูล Content Database ที่ถูกต้อง เพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจ

นายเขมทัตต์ กล่าววว่า ภาพรวมธุรกิจสื่อในปัจจุบันนี้การได้ข้อมูล Consumer มาได้มากที่สุดถือเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจมากที่สุด เนื่องจากหลายสื่อเริ่มนำ Big Data เข้ามาใช้ เพื่อค้นหาความต้องการของตนเองและอยากรู้ความเคลื่อนไหวของบุคคลอื่นๆ ถือเป็นการจับกลุ่มเป้าหมายของผู้บริโภคที่ชัดเจนขึ้น หากทำตรงนั้นสำเร็จก็จะสามารถขยายงานด้าน Creative contents ให้แข็งแรงสอดคล้องกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ

 
 
 
เหตุและผลดังกล่าวทำให้นับจากนี้ ก้าวต่อไปของ อสมทจะไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจโทรทัศน์หรือวิทยุแต่จะเป็นธุรกิจดิจิทัลที่มีความหลากหลายสร้างรายได้กลับคืนมามหาศาล เพราะรายได้ที่ อสมท จะได้รับนับจากนี้จะมีทั้งในส่วนของ Website , Social Media, รายได้จากการขาย Content ,การรับจ้างผลิตรายการ ทั้งในและต่างประเทศ, รายได้จากธุรกิจ Platform ใหม่ๆ เช่น WHAM และ Podcast, รายได้จากการเพิ่มกลยุทธ์ MCOT Academy ที่เน้นพัฒนาหลักสูตรสำหรับการพัฒนาการสื่อสารด้านวิชาชีพ , รายได้จากหลักสูตร Media training และ Brand สำหรับผู้บริหารระดับสูง เพื่อกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ นายเขมทัตต์ คาดว่า รายได้ของ อสมท ตั้งแต่ปี 2563 -2567 จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นายเขมทัตต์กล่าวปิดท้ายว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรมสื่อในปัจจุบัน โดยเฉพาะสื่อดั้งเดิม เช่น สื่อหนังสือพิมพ์และสื่อโทรทัศน์มีอัตราการเติบโตของรายได้ที่ลดน้อย เป็นผลมาจาก Disruptive technology และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้เทคโนโลยีในการรับชมข่าวสารผ่านอุปกรณ์รับชมแบบใหม่ ดังนั้นก้าวต่อไปของ อสมท จึงไม่ได้มีแค่ธุรกิจโทรทัศน์หรือวิทยุแต่จะมีในส่วนของธุรกิจดิจิทัลและอื่นๆอีกมากมาย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 มี.ค. 2563 เวลา : 09:33:39
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 5:05 am