การตลาด
สกู๊ป "นักการตลาด"แนะ 5 วัคซีน สื่อสารสู้โควิด-19 อย่างไรให้องค์กรรอด


ท่ามกลางการแพร่ระบาดโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19) ที่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบกันไปแบบเต็มๆ ซึ่งภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นแบบนี้การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพถือว่ามีความสำคัญสูงสุด เพราะถ้าหากสื่อสารไปแบบผิดๆ อาจทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบได้และเพื่อให้ทุกภาคส่วนผ่านพ้นวิกฤตกันไปด้วยดี บริษัท เฟลชแมนฮิลลาร์ด ประเทศไทย จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจ เครือข่ายเอเจนซีด้านการสื่อสารชั้นนำระดับโลก ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการตลาด จึงออกมาแนะนำ 5 วัคซีน สื่อสารในภาวะวิกฤติท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโคโรนาไวรัส (COVID-19)

 


 
 
น.ส.โสพิส เกษมสหสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟลชแมนฮิลลาร์ด ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าบริษัทในฐานะที่ปรึกษาด้านการสื่อสารระดับโลกและมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะในเรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ได้มีการตั้งคณะทำงานอันประกอบด้วยผู้นำของบริษัทฯกว่า 80 สำนักงานทั่วโลก เรียกว่า“คณะทำงานเฉพาะกิจเรื่อง โคโรนาไวรัส” เพื่อสร้างระบบปฏิบัติการในการสื่อสารและการสร้าง เกณฑ์มาตรฐาน (Benchmarking)และได้จัดทำรายงานสถานการณ์รายวันและการสร้างแผนการสื่อสารในภาวะฉุกเฉิน เพื่อช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถใช้เป็นแนวทางหรือวัคซีนป้องกันผลกระทบทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ บริษัทมี 5 วัคซีนมาแนะนำให้ทุกองค์กรผ่านวิกฤตไปด้วย ประกอบด้วย

วัคซีนที่ 1 ดูแลทุกคนในองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ทั่วถึง การสื่อสารที่สม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพ มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อองค์กร โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง บริษัท ห้างร้านต่างๆต้องเข้าใจถึงความพลิกผันของสถานการณ์ที่อาจสร้างความขัดแย้ง ความเห็นและความต้องการที่แตกแยก และแตกต่าง กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่องค์กรต้องดูแลในระดับนี้ ครอบคลุมถึง พนักงานประจำและพนักงานชั่วคราว คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ ชุมชนใกล้เคียงที่องค์กร/บริษัท ดำเนินกิจการในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งการประสานความร่วมมือและบูรณาการทางการสื่อสารกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขในพื้นที่ กรมควบคุมโรค ผู้นำชุมชน ผู้บริหารนโยบายภาครัฐทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ เป็นต้น

วัคซีนที่ 2 รับฟังและเตรียมพร้อมในการสื่อสารกับหน่วยงานนอกองค์กรและอย่าประเมินสถานการณ์ในองค์กรต่ำเกินไป ผู้บริหารและบริษัทต่างต้องเข้าใจและพร้อมเผชิญกับความจริง หากพนักงานหรือบริษัทตกอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคภายในองค์กร นั่นคือ สิ่งที่ทุกคนในสังคมและในประเทศนี้ ต้องเผชิญความจริงที่น่าตระหนกนี้ไปด้วยกันและสามารถปฎิบัติการและสื่อสารด้วยข้อมูลที่ถูกต้องจากองค์กรที่รับผิดชอบและเป็นผู้เชี่ยวชาญต่อเรื่องการระบาดวิทยาและการจัดการเรื่องสุขภาพและสาธารณสุขของประชาชน ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กองโรคติดต่อทั่วไป มติคณะรัฐมนตรี คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและการประกาศต่อการปรับยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ

วัคซีนที่ 3 ตัดสินใจและสื่อสารที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ คุณค่าของความเคารพสิทธิส่วนบุคคล เสรีภาพของความเป็นมนุษย์ และบนความรับผิดชอบต่อผู้อื่นและสังคม ในทุกสถานการณ์ที่บีบบังคับให้องค์กรต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความกดดันต่างๆ ขอแนะนำให้ผู้บริหารและองค์กรใช้หลักการของมนุษยธรรม และความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการชี้นำการตัดสินใจในการบริหารความเสี่ยงและการสื่อสารในภาวะวิกฤติที่คับขันเช่นนี้ องค์กรจำเป็นต้องบริหารการสื่อสารบนเป้าหมายที่ต้องการบรรลุในภาวะวิกฤติ (communications with a sense of purpose) ไม่เป็นการสื่อสารบนอารมณ์ ความกดดัน และความรู้สึกในห้วงขณะนั้น
 
 

 
 
 
นอกจากนี้การสื่อสารที่อยู่บนการบริหารความต้องการและความสนใจของทุกกลุ่มที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับผู้บริหารและโฆษกขององค์กรควรต้องสื่อสารที่แสดงถึงความเข้าอกเข้าใจในสถานการณ์และรับผิดชอบในข้อความที่ใช้ในการสื่อสารอย่างระมัดระวัง บนความเปราะบางในการรับสารของผู้รับฟังและประชาชน ที่อยู่ภายใต้อารมณ์ความรู้สึกของผู้ตกเป็นเหยื่อโรคระบาด ครอบครัว และผู้คนที่แวดล้อม โดยไม่สร้างความตื่นตระหนกมากเกินไปต่อการดำเนินชีวิตปกติสุขของคน และต่อผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

วัคซีนที่ 4 ยอมรับและตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวและชัดเจน แม้ว่าในขณะนั้น อาจไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์แบบทั้งหมดในมือ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งภายในไทย และต่างประเทศ เรามักจะได้รับทราบข้อมูลที่เป็นข่าวลือ ข่าวปลอม ข่าวสารที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ข่าวที่สร้างความตื่นกลัว เผยแพร่อย่างรวดเร็วในสังคมออนไลน์ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเสมอในภาวะวิกฤติ อย่ารีรอให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ จึงจะสื่อสาร เพราะเหตุการณ์ที่สามารถพลิกผันตลอดเวลา อาจทำให้องค์กรและผู้บริหารไม่สามารถทำการสื่อสาร ทำความเข้าใจหรือแสดงจุดยืนได้ทันท่วงที นั่นคือ โอกาสที่ให้บุคคลอื่นฉกฉวยการสื่อสารสร้างข้อมูลเท็จ บิดเบือน และสร้างความสับสน

ด้วยเหตุนี้แต่ละองค์กรต้องเท่าทันกับข้อมูลที่มาจากภาครัฐและหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เพื่อสื่อสารกับพนักงานในกรณีที่ต้องเปลี่ยนแปลง กำหนดการเข้าทำงาน การเดินทาง ความปลอดภัยและสุขอนามัยของสถานประกอบการ ค่าจ้าง และอื่นๆ ที่องค์กรต้องตัดสินใจเรื่องแผนการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan)

 
 
 
วัคซีนที่ 5 เปิดใจต่อความเห็นที่แตกต่างและความขัดแย้ง แม้ว่าการเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 เป็นปัญหาและความท้าทายกับพวกเราทุกคนในโลกนี้ ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ฐานะและวรรณะ เราต้องมีความเข้าใจที่จะบริหารจัดการกับกลุ่มคนที่อาจมีวิสัยทัศน์และความเห็นที่แตกต่างและมีปฏิกิริยาต่อต้านบนพื้นฐานของการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่ม

ดังนั้น ขอแนะนำให้บริหารการสื่อสารบนพื้นฐานของการประสานความร่วมมือในทุกภาคส่วน รัดกุมในการออกแบบและเลือกถ้อยคำในการสื่อสารที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวก ชัดเจน ไม่สร้างความคลุมเครือให้มีการตีความที่สร้างความแตกแยกหรือความไม่พอใจในสังคม ภายใต้เงื่อนไขที่พวกเราต้องรวมพลังความร่วมมือและความเป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาและผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 เม.ย. 2563 เวลา : 08:59:47
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 9:50 am