หุ้นทอง
เมื่อคุณตกงาน...คุณควรบริหารเงินอย่างไร ให้อยู่รอดหลัง COVID-19


วันนี้ชีวิตของคุณหลายๆคน ต้องเปิดใจยอมรับความเป็นจริงว่า “เริ่มเปลี่ยน” ในสถานการณ์ การระบาดของไวรัส COVID-19 และเป็นการเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ค่อยดีอีกด้วย

 

 

หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่คุณกำลังเผชิญ นั่นก็คือเรื่องเงิน แม้ว่าเงินจะไม่ใช่ทุกสิ่งของชีวิตแต่คุณก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เงินก็เป็นส่วนสำคัญของชีวิตเช่นกัน เมื่อฐานะการเงินคุณได้รับผลกระทบแล้ว ก็ย่อมทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนด้วยเช่นกัน โดยบางคนอาจถูกกระทบแค่เบาๆ เช่น มีรายได้เหมือนเดิม แค่รายจ่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่บางคนเริ่มหนาวๆ ร้อนๆ เมื่อรายได้เริ่มหดหายไปบางส่วน ยังประคองตัวไปได้อยู่ แต่อีกหลายคนหรือรวมถึงคุณด้วยอาจเข้าขั้นวิกฤติ เพราะถูกเลิกจ้าง กลายเป็นคนตกงานโดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งคุณก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความตระหนกในตอนแรก แต่ก็ขอให้คุณมี “สติ” เพื่อหาหนทางให้ชีวิตผ่านไปได้ อาจดูเหมือนว่าเป็นคำสวยงาม ดังนั้นถ้าคุณมีสติ ก็จะทำให้การตัดสินใจอะไรหลายอย่างถูกต้องและรอดพ้นจากช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ
 
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯและคุณวรวรรณ ตินะลา ขอบอกคุณว่า เมื่อคุณมีสติคุณก็จะสามารถนำมาจัดการกับเรื่องเงินทองได้ง่ายยิ่งขึ้นเพราะเมื่องานหาย เงินก็หายตามไปด้วย จากที่คุณเคยมีเงินเข้ามาทุกเดือนก็ไม่มี ขณะที่ด้านรายจ่ายคุณก็ยังมีอยู่และอาจมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นคุณลองจัดการด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
 
เริ่มที่ สำรวจเงินสดกันก่อน ซึ่งเป็นเงินที่คุณสามารถเบิกถอนมาใช้จ่ายได้ทันที ดังนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเงินที่ฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์และกองทุนรวมตลาดเงิน โดยตรวจสอบดูว่ามีจำนวนเท่าไหร่ จากนั้นก็สำรวจ เงินฉุกเฉิน เพราะปกติแล้วคุณควรมีเงินก้อนหนึ่งที่เก็บเอาไว้ใช้ตอนฉุกเฉิน ซึ่งควรมีเงินฉุกเฉินอย่างน้อย 3 เดือนของค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน

สำหรับวิธีการสำรวจว่า คุณมีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนเท่าไหร่ โดยนำเงินเดือนมาคำนวณ เช่น เงินเดือน 20,000 บาท มีค่าใช้จ่ายราว 10,000 บาท สมมติว่า อยากมีเงินออมสำรองฉุกเฉิน 3 เท่าของค่าใช้จ่าย ก็นำ 10,000 มาคูณ 3 แสดงว่าควรมีเงินไว้ใช้ยามจำเป็น 30,000 บาท
 
ต่อมาก็มาดู เงินชดเชยหากคุณถูกบอกเลิกจ้างก็จะได้เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งต้องดูว่าได้จำนวนเท่าไหร่ จากนั้นให้นำไปฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ ส่วนเงินที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แนะนำว่าไม่ควรนำออกมา เพราะถ้านำออกมาจะต้องจ่ายภาษี ควรเป็นสมาชิกต่อไป
 
โดยคุณต้องรู้ว่าตัวเองทำงานกับบริษัทนี้กี่ปี หรือเมื่อถูกนายจ้างเลิกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่าไหร่ เช่น ถ้าคุณทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
หรือถ้าทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
หรือถ้าคุณทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
หรือถ้าคุณทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
หรือถ้าคุณทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
หรือถ้าคุณทำงานติดต่อกันครบ 20 ปี ขึ้นไป มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน
 
ขณะเดียวกันคุณก็ต้องสำรวจภาระหนี้สินตัวคุณเองด้วย โดยคุณควรจดข้อมูลหนี้สินทุกประเภทที่ต้องจ่าย โดยให้ทำเป็นตารางให้ชัดเจนว่าแต่ละงวดต้องจ่ายหนี้อะไรบ้าง จำนวนเงินและดอกเบี้ยเท่าไหร่ สิ้นสุดปีไหน สถาบันการเงินอะไร เป็นต้น
จากนั้นเรื่องที่คุณต้องจัดการ คือ หนี้สินโดยติดต่อกับเจ้าหนี้ (ส่วนใหญ่เป็นธนาคาร) เพื่อขอปรึกษาขอผ่อนผันจ่ายหนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายระหว่างที่กำลังหางานใหม่
 
นอกจากนั้นคุณต้องดูในเรื่องประกันสังคมของคุณ เนื่องจากขณะนี้คุณได้กลายเป็นผู้ตกงาน สิ่งที่ต้องทราบ คือ สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมที่จะได้มีอะไรบ้าง ก็ต้องรวบรวบข้อมูล ศึกษาเงื่อนไขในเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม จดคำถาม จากนั้นให้ติดต่อปรึกษากับเจ้าหน้าที่หรือถ้าสะดวกควรเดินทางไปสำนักงานประกันสังคม
 
การติดต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อสอบถามข้อมูลว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น เมื่อยื่นเอกสารเสร็จเรียบร้อยก็จะมีจดหมายนัดให้ไปรายงานตัวเดือนละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 6 ครั้ง (6 เดือน) หากลืมรายงานตัวในเดือนไหนก็จะไม่ได้เงินทดแทนในเดือนนั้น แต่ในช่วงนี้ที่เชื้อไวรัส COVID-19 กำลังระบาด ต้องสอบถามสำนักงานประกันสังคมว่าการรายงานตัวใช้ช่องทางไหน
 
โดยคุณในฐานะผู้ถูกเลิกจ้างก็จะได้เงินทดแทนในระหว่างการว่างงานจากประกันสังคมปีละไม่เกิน 180 วัน อัตรา 50% ของค่าจ้างเดือนล่าสุด โดยมีฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น เงินเดือน 10,000 บาท จะได้รับเงินเดือนละ 5,000 บาท แต่ถ้าเงินเดือนตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป จะได้รับเดือนละ 7,500 บาท
 เช่นกัน หากถูกเลิกจ้างในช่วง COVID-19 กำลังระบาด จะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม ดังนั้นคุณต้องติดตามข้อมูลข่าวสารทั้งจากสำนักงานประกันสังคม และกระทรวงแรงงาน เพื่อรักษาสิทธิของตัวเองและคุณควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th
 
ดังนั้นสิ่งที่คุณต้องตระหนักต่อมาก็คือหลังคุณตกงาน คุณควรปรับสัดส่วนค่าใช้จ่ายอย่างไร เมื่อมีข้อมูลครบ คุณก็ควรย้อนกลับไปดูว่า “ก่อนตกงาน” คุณมีการแบ่งเงินคร่าวๆ พบว่า 30% คือ เงินใช้จ่ายในชีวิตประวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าของใช้ในบ้าน ค่าความบันเทิง เมื่อคุณตกงาน คุณก็ลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงมาเหลือ 20%

ส่วน 20% คือเดิมคุณกันไว้ เป็นเงินลงทุน เช่น กองทุนรวมประหยัดภาษี เช่น RMF กองทุนรวมทั่วไป หุ้น เงินฝาก ซื้อประกัน รวมถึงเงินเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน ซึ่งเงินส่วนนี้ คือ เงินลงทุน ถึงแม้คุณจะตกงานแต่ก็ยังคงต้องแบ่งเงินไปลงทุน เพียงแต่ลดจำนวนลงมาเหลือ 10%

ขณะที่ 40% คือ เงินค่าผ่อนชำระหนี้ เช่น คอนโดมิเนียม รถยนต์ บัตรเครดิต ซึ่งเงินผ่อนชำระส่วนนี้ แม้คุณตกงานก็ควรคงเงิน 40% เพื่อผ่อนชำระหนี้ เท่าเดิม เหตุผลที่ไม่ปรับลดง เพราะในช่วงวิกฤติ ทั้งภาครัฐและสถาบันการเงิน ออกมาตรการต่างๆ ช่วยเหลือหรือผ่อนผันเรื่องการชำระหนี้ ดังนั้นต้องอัพเดตข่าวสารตลอดเวลา แต่แผนสองของเรา คือ ถ้าหากมาตรการไม่ครอบคลุม ก็ต้องโทรไปหาเจ้าหนี้เพื่อขอผ่อนผัน
ส่วน เงิน 10% คือ เงินที่คุณจัดสรรไว้เพื่อทำบุญและท่องเที่ยว แต่เมื่อคุณตกงาน เงินส่วนนี้ไม่จำเป็นกับสถานการณ์ตกงานที่คุณต้องมีไว้ ให้ตัดออกไปก่อน

ส่วนเงินสำรองฉุกเฉินที่คุณไม่เคยตระเตรียมไว้เลย หลังคุณตกงานจำเป็นต้องมีอย่างจริงจัง โดยคุณต้องจัดเก็บเงินส่วนนี้ 30% คือ เงินออม เพราะเมื่อดูเงินสำรองฉุกเฉินที่เก็บเอาไว้เพียง 3 เดือนอาจไม่พอ จึงต้องเก็บเพิ่มเป็นเงินฉุกเฉิน 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายเพียงพอได้ถึง 1 ปี ถึงแม้จะไม่มีงานทำ
 
คุณจะสังเกตเห็นว่าหลังตกงาน การแบ่งเงินมีทั้งส่วนที่ลด เพิ่มและคงไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นสัดส่วนตายตัว เพราะในช่วงที่ตกงานได้ปรับเปลี่ยนตลอดเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยใช้หลักการ 3 ล. หรือ 3 ลอง มาช่วย
โดย ลองคิด เพื่อหาคำตอบของตัวเองให้ได้ว่ามีเป้าหมายอะไร และต้องการทำแผนให้สำเร็จด้วยวิธีไหน
ลองทำ เมื่อวางแผนแล้วก็ลงมือทำ อย่าปล่อยให้เป็นเพียงความคิด
และ ลองดู โดยหมั่นสำรวจตัวเองว่าทำแล้วเป็นอย่างไร แบบไหนควรปรับ แบบไหนเหมาะสมแล้ว เพื่อให้แผนเดินหน้าไปได้

ดังนั้นในช่วงที่ยากลำบาก มักทำให้คุณและเราทุกคน ได้เรียนรู้ถึงการเอาตัวรอด การวางแผน การศึกษาหาข้อมูล การมีสติ การได้ใช้ชีวิตที่ช้าลง การสำรวจความต้องการของตัวเอง สร้างวินัยให้กับตัวเอง และมาถึงวันที่กำลังเจอวิกฤติอีกรอบ เรามีภูมิคุ้มกันทางด้านการเงินในการต่อสู้เพิ่มมากขึ้น
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 เม.ย. 2563 เวลา : 16:52:31
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:55 pm