การตลาด
สกู๊ป จับตา "ห้างสัญชาติญี่ปุ่น" ในไทย หลัง "อิเซตัน"เตรียมโบกมือลา ส.ค.นี้


ย้อนกลับไปเมื่อปี 2507 ห้างสรรพสินค้าสัญชาติญี่ปุ่นได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยภายใต้ชื่อ “ห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู” โดยมีสถานที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าราชดำริอาเขต ก่อนที่จะเปิดตัวห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู ได้มีการก่อตั้งบริษัท ไทยไดมารู จำกัด ภายใต้ทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท ขึ้นมาเพื่อดูแลกิจการของห้างไทยไดมารู


 
 
 
 
การเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู ในช่วงนั้นถือว่าเป็นห้างค้าปลีกที่มีความทันสมัยมากที่สุด เนื่องจากมีการติดตั้งบันไดเลื่อนภายในห้างสรรพสินค้าเป็นแห่งแรก โดยในช่วงแรกของการเปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าไทยไดมารูตั้งอยู่ทางฝั่งศูนย์การค้าเวิร์ลเทรด (หรือศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน) ต่อมาได้มีการย้ายห้างไปอยู่ฝั่งตรงข้าม
ตลอดระยะเวลาที่ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2507 ห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะตามคอนเซ็ปท์ที่นำมาเปิดให้บริการเหมือนกับการห้างสรรพสินค้าจากญี่ปุ่นเข้ามาเปิดให้บริการในประเทศ เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องการจะเข้าไปทำตลาด คือ คนญี่ปุ่นที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวย่านราชดำริ ถือเป็นแหล่งรวมของคนญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย เพราะมีสำนักงานใหญ่ของบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง จึงทำให้ย่านดังกล่าวถือเป็นแหล่งที่มีผู้บริโภคกำลังซื้อสูง

ความสำเร็จที่ได้รับดังกล่าวดำเนินมาจนถึงปี 2516 ห้างสรรพสินค้าไทยไดมารูก็เริ่มประสบกับปัญหาในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู ถือเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ขบวนการนิสิตนักศึกษาใช้เป็นจุดรณรงค์ต่อต้านสินค้าจากต่างประเทศ จนกระทั่งหมดสัญญาเซ้งกับศูนย์การค้าราชดำริอาเขต ทำให้ต้องย้ายมาอยู่ที่ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ ถนนศรีนครินทร์ (หรือศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์คในปัจจุบัน) ภายใต้การดำเนินธุรกิจของบริษัท ไทยดีเอ็มอาร์ รีเทล จำกัด ซึ่งได้ใช้ทุนจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทไป 50 ล้านบาท มีบริษัท ไดมารู อิงค์ ญี่ปุ่น เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

หลังจากย้ายมาอยู่ในทำเลใหม่ห้างสรรพสินค้าไทยไดมารูก็เริ่มซบเซาลง เนื่องจากคอนเซ็ปต์ของห้างไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เพราะทำเลดังกล่าวมีกลุ่มลูกค้าคนไทยเป็นหลัก ประกอบกับในย่านใกล้เคียงกันมีคู่แข่งเกิดขึ้น จนกระทั่งปี 2541-2542 ประเทศไทยประสบกับปัญหาเศรษฐกิจจากค่าเงินบาทลอยตัว จึงทำให้ไดมารู อิงค์ ญี่ปุ่น ตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดในบริษัท ไทยดีเอ็มอาร์ รีเทล จำกัดให้กับผู้ลงทุนชาวไทย คือ กลุ่มพรีเมียร์ในเครือโอสถานุเคราะห์แต่ยังคงให้สิทธิ์กับผู้บริหารชุดใหม่ใช้ชื่อ " ไดมารู "ต่อได้อีก 2 ปี จนกระทั่งวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ห้างสรรพสินค้าไทยไดมารูก็ถูกลบของจากรายชื่อจากประเทศไทย เนื่องจากกลุ่มพรีเมียร์ตัดสินใจไม่ต่อสัญญาการใช้ชื่อ " ไดมารู " อีกต่อไป
 
 

 
 
 
ห้างต่อมาที่ตัดสินใจไม่ไปต่อกับการทำธุรกิจในไทย คือ ห้างสรรพสินค้าโตคิวหลังต้องเผชิญภาวะ “ขาดทุน” มาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดให้บริการวันที่ 19 มิ.ย. 2558 และภาวะขาดทุนที่เพิ่มขึ้นเป็น “เท่าตัว” ต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากพฤติกรรมการช้อปปิ้งของผู้บริโภคเปลี่ยนไป คือ หันมาช้อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น แม้ว่าโตคิวจะพยายามเพิ่มสินค้านำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น เช่น ผัก ผลไม้ตามฤดูกาล เสื้อผ้าแฟชั่น สินค้าเพื่อสุขภาพและอาหารญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาด แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยลดปัญหาขาดทุนได้ จนกระทั่งวันที่ 31 ม.ค. 2562 ก็ตัดสินใจปิดกิจการไป

การเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้าโตคิว พาราไดซ์ พาร์ค เกิดจากการร่วมทุนระหว่าง “โตคิวญี่ปุ่น” ในนามบริษัท กรุงเทพ-โตคิว สรรพสินค้า จำกัด และบริษัท พาราไดซ์ รีเทล จำกัด ในเครือบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) เพื่อตั้งเป็นบริษัท พีที รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท ในสัดส่วน 50 : 50 โดยเป้าหมายของการเปิดให้บริการก็เพื่อรองรับประชากรที่อยู่อาศัยในย่านศรีนครินทร์และใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงแต่เมื่อทุกอย่างไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทำให้ต้องปิดกิจการไปในที่สุด

 
 
 
 
ห้างต่อมาที่จะปิดตัวในวันที่ 31 ส.ค.2563 นี้ คือ “อิเซตัน” เนื่องจากการสิ้นสุดสัญญาเช่ากับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สถานที่ตั้งที่ห้างสรรพสินค้าอิเซตันดำเนินธุรกิจในประทศไทยตลอดระยะเวลา 28 ปีที่ผ่านมา

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2532 บริษัท อิเซตัน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้ทุนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2532 ที่ประมาณ 290 ล้านบาท มีคนไทยถือหุ้น 14 ราย วงเงินรวม 147.90 ล้านบาท และผู้ถือหุ้นญี่ปุ่น 1 ราย วงเงิน 142.10 ล้านบาท คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายเซอิจิ อาโอยามา นายซาโตชิ ยามาโมโตะ นายรัตน์ โอสถานุเคราะห์ นายวรชัย ปัฐพาณิชย์โชติ นายโคจิ โอยามา และนายโทโยฮิโกะ ทานากะ

ทั้งนี้หากมาดูผลประกอบการย้อนหลังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ไม่มากนัก โดยในปี 2559 มีรายได้รวม 1,422.435 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.94% ปี 2560 รายได้รวม 1,423.919 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.1% และปี 2561 มีรายได้รวม 1,454.395 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.14%จากรายได้ที่เติบโตเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ประกอบกับพฤติกรรมของคนไทยในการซื้อสินค้าเปลี่ยนไปและการแข่งขันของธุรกิจห้างค้าปลีกในไทยที่นับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้นต่อเนื่อง จึงทำให้ ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับซีพีเอ็น เตรียมเก็บกระเป๋ากลับบ้านในช่วงเดือนส.ค.ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการขอบคุณลูกค้า ห้างสรรพสินค้าอิเซตันได้เตรียมจัดโปรโมชั่นพิเศษไว้รองรับลูกค้า พร้อมประกาศให้ลูกค้าได้ทราบว่าบัตรกำนัล( Gift Voucher) ที่ลูกค้าต้องการจะซื้อ ทางห้างสรรพสินค้าอิเซตันจะจัดจำหน่ายถึงวันที่ 31 พ.ค. 2563 โดยลูกค้าสามารถชำระสินค้าได้ตามปกติจนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2563 เช่นเดียวกับคะแนนสะสมของสมาชิก IPC (e-IPC) ลูกค้าสามารถรับคะแนนสะสมจากการซื้อสินค้าตามเงื่อนไขปกติถึงวันที่ 8 เม.ย. 2563 และสามารถใช้คะแนนสะสม(Redeem) จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2563

ปัญหาที่ห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นแต่ละแห่งประสบ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถของห้างที่เหลืออยู่ไม่ว่าจะเป็น สยามทาคาชิมายา หรือโตคิว เอ็มบีเค รวมไปถึงน้องใหม่อย่าง ห้างดองกี้ ห้างไหนจะงัดแผนการตลาดเด็ดๆ มาปลุกใจขาช้อปชาวไทยให้ไปต่อได้ งานนี้มีลุ้น

LastUpdate 18/04/2563 14:03:35 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:02 am