เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
การปลดล็อกปัจจัยเชิงโครงสร้างเพื่อเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน


เศรษฐกิจไทยในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมานับว่าขยายตัวได้ดี แต่ยังคงโตต่ำกว่าระดับศักยภาพ1 ที่เศรษฐกิจไทยควรจะเติบโตได้หากใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ซึ่งสาเหตุมาจากการที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักรที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น และปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีผลกระทบต่อเนื่องในระยะยาว โดยการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่เกิดขึ้น อย่างเช่นในสถานการณ์โควิด 19 ที่คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอหรือหดตัวลงชั่วคราวในช่วงที่มีการแพร่ระบาดอยู่นั้น สามารถทำได้โดยการใช้เครื่องมือนโยบายการเงินและการคลัง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่มีปัจจัยเชิงโครงสร้างซ่อนอยู่ การใช้นโยบายการเงินและการคลังอย่างที่เราคุ้นเคยอาจไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร


มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยจะยังคงเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ โครงสร้างประชากรที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพราะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเร็วและคาดเดาได้ยากมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการปลดล็อกปัจจัยเชิงโครงสร้างให้สำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
 

“ภาคธุรกิจ” ต้องทำอย่างไรถึงอยู่รอด

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมีส่วนเร่งให้บริบทเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาสู่การปรับโฉมรูปแบบการค้าและการทำธุรกิจ รวมถึงภูมิทัศน์ทางการเงิน (financial landscape) ในปัจจุบัน พฤติกรรมและความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ทั้งจากรูปแบบการดำเนินชีวิตและโครงสร้างประชากร ทำให้ภาคธุรกิจต้องเข้าใจผู้บริโภคและปรับตัวให้ทัน เช่น ธุรกิจร้านอาหารที่ต้องการเข้าถึงลูกค้า จะต้องมีบริการจัดส่งถึงบ้าน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ไม่ทำอาหารทานเองหรือไม่ต้องการเสียเวลากับการเดินทางเพื่อไปหาอาหารรับประทานนอกบ้าน ธนาคารเองก็ต้องพัฒนานวัตกรรมทางการเงินและปรับกลยุทธ์ไปสู่ digital banking ด้วยการใช้ระบบพร้อมเพย์ที่ทำให้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินถูกลงจนเหลือศูนย์ และต่อยอดนวัตกรรมไปสู่ระบบการชำระเงินผ่าน QR code ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศยังเป็นความท้าทายเพิ่มเติม เนื่องจากกระแสความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้การปรับตัวของภาคธุรกิจต่าง ๆ ต้องคำนึงถึงประเด็นนี้ด้วย

สร้างระบบ ยกระดับ “แรงงานไทย”      

 กระแสของเทคโนโลยีเข้ามามีผลต่อแรงงานมากขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจเริ่มนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนการจ้างแรงงาน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขาดแรงงาน เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย และอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่แรงงานในปัจจุบันยังขาดทักษะฝีมือ ในด้านการขาดแรงงาน หากมองไปข้างหน้า สถานการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น ขณะที่การเพิ่มจำนวนประชากรทำได้ไม่ง่ายนัก ในเรื่องนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถร่วมกันพัฒนาระบบสนับสนุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้แรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันทำงานในระบบได้อย่างเต็มที่มากขึ้น เช่น มีสถานรับเลี้ยงเด็กที่ไว้ใจได้ในที่ทำงาน มีสถานดูแลผู้สูงอายุที่มีมาตรฐานและราคาเหมาะสม ในด้านทักษะแรงงาน ผลสำรวจของ World Economic Forum ระบุว่าภายในปี 2565 แรงงานทั่วโลกจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาด้วยการปรับเปลี่ยนทักษะและการยกระดับทักษะ สำหรับไทย ครึ่งหนึ่งของแรงงานจำเป็นต้องพัฒนาทักษะทั้ง “ทักษะเกี่ยวกับงาน” (technical skill) โดยเฉพาะการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ และการคิดเชิงนวัตกรรม และ “ทักษะเกี่ยวกับคน” (human skill) ให้สามารถเข้าใจจิตใจและอารมณ์ของผู้อื่นได้ เพื่อให้อยู่รอดและไม่ถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร ซึ่งภาครัฐสามารถให้การสนับสนุนการเพิ่มทักษะแรงงานผ่านการจัดฝึกอบรมทักษะที่จำเป็น โดยประสานกับภาคธุรกิจเพื่อฝึกอบรมแรงงานในทักษะที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจได้อย่างแท้จริง

บทบาทของ “ภาครัฐ” ภายใต้บริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปควรเป็นอย่างไร

บริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนเร็วและซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน ทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ จำเป็นต้องคล่องตัวมากขึ้น ระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับทั้งภาครัฐและธุรกิจจึงเป็นหัวใจสำคัญของการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งในช่วงหลายปีมานี้ ภาครัฐได้พยายามทบทวนและปรับปรุงระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินการด้านต่าง ๆ เช่น โครงการปรับปรุงกฎหมายเพื่อปรับอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (ease of doing business) ที่ทำให้ไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้นเป็นลำดับที่ 26 จาก 190 ประเทศทั่วโลกในปี 2560 และโครงการทบทวนการอนุญาตของทางราชการที่นำเอาหลักการ Regulatory Guillotine มาใช้ทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อลด ละ เลิกส่วนที่ไม่จำเป็นหรือสร้างภาระต่อการปฏิบัติงาน โดยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการลดอุปสรรคที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ภาครัฐยังควรเน้นการสร้างแรงจูงใจ โดยพิจารณาตามความเหมาะสมและความจำเป็นในการช่วยเหลือ เพื่อเป็นการผลักดันและสนับสนุนการปรับตัวของภาคส่วนต่าง ๆ แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังที่มากจนเกินไป เช่น การให้แรงจูงใจทางภาษีกับภาคธุรกิจที่มีการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยให้สามารถลดหย่อนภาษีได้ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย
ด้วยบริบทเชิงโครงสร้างหลายด้านที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและคาดเดาได้ยากนั้น ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและเอื้อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

ที่มา : ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

บันทึกโดย : วันที่ : 01 พ.ค. 2563 เวลา : 16:10:54
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 1:57 am