เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ คิดอย่างไรให้เป็นธรรม


หลายๆ ท่านที่เคยกู้ยืมเงินไม่ว่าจะเป็นการกู้ซื้อบ้าน กู้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือแม้กระทั่งผู้ประกอบธุรกิจ SME ที่กู้สินเชื่อมาเพื่อทำธุรกิจ อาจจะคุ้นเคยกับคำว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามสัญญา แต่รู้หรือไม่ว่า ในเงื่อนไขข้อสัญญาที่เราได้ลงนามไป ได้กำหนดเงื่อนไขข้อหนึ่งที่ระบุไว้ว่า ถ้าเราชำระเงินกู้ไม่ตรงตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้ให้บริการทางการเงิน (ผู้ให้บริการ) ในฐานะเจ้าหนี้ มีสิทธิ์เรียกเก็บ “ดอกเบี้ย ผิดนัดชำระหนี้” ซึ่งดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ว่านี้คืออะไร ต่างกับดอกเบี้ยตามปกติอย่างไร เรามาหาคำตอบกัน

 
 

1. ดอกเบี้ยปกติ (ดอกเบี้ยเงินกู้ปกติตามสัญญา) กับดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ต่างกันอย่างไร?
 
ดอกเบี้ยปกติ (ดอกเบี้ยเงินกู้ปกติตามสัญญา)คือ ดอกเบี้ยที่เราตกลงจะชำระให้กับผู้ให้บริการในฐานะเจ้าหนี้ เพื่อเป็นค่าตอบแทนจากการกู้ยืมเงิน โดยเราในฐานะลูกหนี้มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยส่วนนี้ให้ตรงตามงวดหรือระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ซึ่งถ้าเราจ่ายค่างวดครบ จ่ายตรงเวลา (กำหนดการชำระหนี้)ภาระค่าใช้จ่ายที่เราต้องชำระจะประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญาเท่านั้น 

แล้วดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นตอนไหน?

ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เกิดขึ้นเมื่อ “ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้” จ่ายค่างวดไม่ครบ หรือจ่ายล่าช้า จะถือว่า
เป็นการผิดนัดชำระหนี้ทั้งสิ้น ซึ่งการไม่สามารถชำระได้ตามสัญญา เจ้าหนี้จะกำหนดในสัญญาให้มีสิทธิ์ที่จะเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพิ่มเติมจากดอกเบี้ยปกติได้ เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่ต้องแบกรับหากลูกหนี้ไม่จ่ายชำระหนี้เลยจนกลายเป็นหนี้เสีย รวมถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสในการนำรายได้ดอกเบี้ยและเงินต้นไปลงทุนต่อ

2. ที่ผ่านมา ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้คิดกันอย่างไร?
 
ก่อนที่ ธปท. จะออกหนังสือเวียนเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้นั้น ผู้ให้บริการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ด้วยวิธีการดังนี้

ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (ส่วนเพิ่ม) = เงินต้นคงเหลือทั้งหมด x อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระต่อปี x จำนวนวันที่ค้างชำระ

สมมติ นาย ก. กู้เงินซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ผ่อนเดือนละ 42,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี (240 งวด) ซึ่งเมื่อผ่อนไป 
24 งวด มียอดหนี้ส่วนที่เป็นเงินต้นคงเหลือประมาณ 4.77 ล้านบาท แต่เมื่อถึงกำหนดชำระงวดที่ 25 นาย ก. 
ไม่สามารถจ่ายค่างวดเดือนนี้ได้ครบ 42,000 บาท ทำให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งหาก
ผู้ให้บริการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อบ้านที่ 15% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่
ผู้ให้บริการประกาศนั้น ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยปกติ และอัตราดอกเบี้ยปรับส่วนเพิ่มที่จะเรียกเก็บในกรณีที่ลูกหนี้ผิดสัญญา (โดยในกรณีนี้ ตัวอย่างอัตราดอกเบี้ยปกติ 8% และอัตราดอกเบี้ยปรับส่วนเพิ่ม 7%) และ นาย ก. ค้างชำระ 1 เดือน (30 วัน) ดังนั้น ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ส่วนเพิ่มที่ นาย ก. ต้องชำระของงวดที่ 25 
จะคิดเป็นยอด [4.77 ล้านบาท x (15 - 8%) x30/365] = 27,443.84 บาท 

ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า นอกจากดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แล้ว นาย ก. ยังคงมีภาระที่ต้องจ่ายค่างวดที่ค้างอยู่ 
ซึ่งได้แก่ เงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญาในงวดนั้นโดยจากตัวอย่าง ค่างวดสำหรับงวด 25 42,000บาท จะแบ่งเป็นเงินต้น 10,000 บาท และดอกเบี้ยตามสัญญา 32,000 บาท ดังนั้น นาย ก. จะมียอดที่ค้างชำระของงวดที่ 25 ทั้งหมด 42,000 + 27,443.84 = 69,443.84 บาท 

จะเห็นได้ว่าในงวดที่ 25 นาย ก. ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และยังมีภาระเพิ่มจากดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งถ้า
ในงวดที่ 26 หาก นาย ก. ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยปรับและค่างวดที่ค้างชำระรวมทั้งค่างวดงวดที่ 26รวมเป็นยอดทั้งหมด 69,443.84 + 42,000 = 111,443.84 บาท ผู้ให้บริการจะถือว่าชำระไม่ครบถ้วนและยังอยู่ในสถานะ
ผิดนัดชำระหนี้ต่อไป ซึ่งนั่นหมายความว่า ในงวดที่ 26 จะถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นตามยอดหนี้คงเหลือ
และจำนวนวันที่ค้างชำระด้วยนั่นเอง

3. การเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในต่างประเทศเป็นอย่างไร?
 
 
จากการศึกษาแนวทางปฏิบัติในการเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฮ่องกง พบว่า ส่วนใหญ่คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จาก “ฐานของค่างวดที่ค้างชำระ” แทบทั้งสิ้น โดยไม่ได้คำนวณจากฐานของเงินต้นที่ค้างชำระ เช่น ในประเทศสิงคโปร์กำหนดว่าการคิดดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้ให้คิดจากฐานของค่างวดที่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น ห้ามคิดจากค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

ยิ่งไปกว่านั้น ในบางประเทศมีการกำหนดเพิ่มเติมว่าอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะสามารถเก็บเพิ่มจากอัตราดอกเบี้ยปกติตามสัญญาเท่าไหร่เช่น ในประเทศมาเลเซียกำหนดให้สามารถเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ไม่เกินร้อยละ 1ต่อปีของค่างวดที่ค้างชำระนอกเหนือจากดอกเบี้ยปกติ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้สามารถเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สำหรับสินเชื่อ high-cost mortgage ได้ไม่เกินร้อยละ 4 เพิ่มเติม
จากดอกเบี้ยปกติ และในส่วนของประเทศเยอรมนี ได้มีข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สำหรับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ที่ให้เรียกเก็บเพิ่มจากดอกเบี้ยปกติได้ 2.5% หากมีการผิดนัดชำระหนี้

?การที่หลายประเทศกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่สามารถเรียกเก็บเพิ่มเติมได้จากอัตราดอกเบี้ยปกติตามสัญญาเป็นเพราะในด้านหนึ่งแม้เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับดูแลให้ลูกหนี้มีวินัยในการชำระหนี้ให้ตรงเวลา แต่ในอีกด้านก็จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วยเช่นกันว่า หากลูกหนี้ที่สุจริตมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตรงเวลา ดอกเบี้ยปรับที่ต้องจ่ายจะต้องไม่เป็นภาระต่อลูกหนี้จนเกินพอดี ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีกับลูกหนี้เองแล้ว ยังช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาหนี้เสียที่มีสาเหตุจากภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยปรับที่สูงขึ้นเกินกำลังของลูกหนี้นั่นเอง

FCA (Financial Conduct Authority) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลในประเทศอังกฤษ ได้พูดถึงหลักคิด
ของการกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในด้านหนึ่งสิ่งนี้ควรสะท้อนต้นทุนความเสี่ยงของลูกหนี้ (credit risk) และต้นทุนค่าเสียโอกาสของเจ้าหนี้จากการที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แต่อีกด้านหนึ่งต้องคำนึงถึงความสามารถที่จะจ่ายดอกเบี้ยปรับของลูกหนี้ด้วยเช่นกัน เพราะหากเจ้าหนี้เรียกเก็บยอดที่สูงเกินไปจนลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ (affordability risk) และส่งผลให้เกิดเป็นหนี้เสีย เจ้าหนี้ก็ต้องฟ้องศาล หรือไม่ก็ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ขายทอดตลาด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการและผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ต้องสะท้อนความเสียหายจริงที่เกิดขึ้นกับเจ้าหนี้ และการที่กำหนดดอกเบี้ยปรับที่สูงเกินไป อาจเป็นต้นตอที่ทำให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ได้
 

4. การปรับปรุงวิธีคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพื่อความเป็นธรรม
 
?ด้วยสาเหตุข้างต้น ธปท. จึงได้ปรับปรุงและยกระดับแนวทางการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง เป็นธรรม เหมาะสม รวมทั้งให้สอดคล้องกับต้นทุนและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งกลายเป็นที่มาของหลักการในหนังสือเวียน ธปท.ฝคง.ว. 31/2563 187/2563 และ 188/2563ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

?4.1 การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้คำนวณบนฐานของเงินต้นในงวดที่ผิดนัดชำระ เป็นระบบการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แนวทางใหม่ที่คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (ส่วนเพิ่ม) บนฐานของ “เงินต้นในงวดที่ผิดนัดชำระหนี้” เท่านั้น โดยจะไม่รวมงวดตามสัญญาในอนาคตที่ยังมาไม่ถึงกำหนดชำระและยังไม่มีการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะต่างจากแนวปฏิบัติเดิมที่จะคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (ส่วนเพิ่ม) บนฐานของ “เงินต้นคงเหลือทั้งจำนวน”
 

?สาเหตุสำคัญที่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ไม่ควรรวมค่างวดในอนาคตที่มาไม่ถึงด้วยนั้น เพราะการผิดนัดชำระหนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อหนี้นั้นถึงกำหนดชำระแล้ว ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดนั้น (ตามมาตรา 204 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดว่า “ถ้าได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย”) แต่ถ้าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้ (ตามมาตรา 191 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำหนดว่า “นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด”) ดังนั้น หากยังไม่ถึงกำหนดชำระหนี้ตามงวดที่กำหนด หรือเจ้าหนี้ยังไม่ได้ใช้สิทธิในการบอกเลิกสัญญาเพื่อเรียกหนี้คืนทั้งจำนวนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา ลูกหนี้ก็ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ในหนี้จำนวนดังกล่าว เจ้าหนี้จึงยังไม่มีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในหนี้นั้นได้ 

?นอกจากเรื่องฐานการคำนวณแล้ว อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เรียกเก็บจะต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้บริการสามารถเรียกเก็บได้ตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และไม่คิดซ้ำซ้อนกับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา รวมทั้งต้องคิดตามจำนวนวันที่ผิดนัดชำระหนี้

?จากตัวอย่างเดิม หากคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (ส่วนเพิ่ม) ตามแนวทางใหม่จะคำนวณจากฐานของ “เงินต้นของงวดที่ 25” เท่านั้น เพราะตามข้อเท็จจริง นาย ก. ยังไม่ได้ผิดนัดชำระตามสัญญางวดที่ 26 ถึงงวดที่ 240 ซึ่งเป็นงวดการผ่อนตามสัญญาในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่ นาย ก. จะต้องจ่ายสำหรับงวดที่ 25 ที่ค้างชำระ จะประกอบด้วย 2 ส่วน กล่าวคือ

?1) ดอกเบี้ยปกติ ที่คำนวณจากเงินต้นส่วนที่เหลือ ดังนี้

ดอกเบี้ยปกติ = จำนวนเงินต้นที่เหลือ x อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามที่ระบุในสัญญา x จำนวนวันที่ค้างชำระ

โดยตามตัวอย่างเดิม ดอกเบี้ยตามสัญญาในงวดที่ 25 คิดเป็นยอด 32,000 บาท

?2) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (ส่วนเพิ่ม) สำหรับงวดที่ 25 ตามแนวทางใหม่ จะมีวิธีคำนวณ ดังนี้

ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (ส่วนเพิ่ม) = เงินต้นของค่างวดที่ผิดนัดชำระ x อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ต่อปี 
???? ???x จำนวนวันที่ค้างชำระ

จากตัวอย่างข้างต้นงวดที่ 25 มียอดต้องชำระ 42,000 บาท แบ่งเป็นชำระคืนเงินต้น 10,000 บาท และดอกเบี้ย 32,000 บาท การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (ส่วนเพิ่ม) จะคำนวณบนฐานของเงินต้นในงวดที่นาย ก. ค้างชำระเท่านั้น ซึ่งก็คือ 10,000 บาท 
 

?ดังนั้นในงวดนี้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (ส่วนเพิ่ม) ที่คำนวณตามแนวทางใหม่ จะคิดเป็นยอดเท่ากับ 
[10,000 บาท x (15 - 8%) x 30/365 วัน] = 57.53บาท  

และเมื่อรวมดอกเบี้ยตามสัญญา สรุปแล้วในเดือนนี้ ผู้ให้บริการจะเรียกเก็บดอกเบี้ยรวมทั้งหมดคิดเป็นยอด 32,000 + 57.53 = 32,057.53 บาท และมียอดเงินต้นที่ยังค้างชำระอยู่อีก 10,000 บาท ดังนั้นในงวดที่ 25 
นาย ก. มียอดที่ต้องชำระทั้งหมด 42,057.53 บาท

จากตัวอย่างข้างต้นจะสังเกตได้ว่า การคำนวณดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้จะคำนวณจากฐานของ “เงินต้นในงวดที่ค้างชำระ” เท่านั้น ไม่รวมส่วนของ “ดอกเบี้ยในงวด” (ตามที่มาตรา 655แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ”)

เปรียบเทียบดอกเบี้ยผิดนัดชำระแบบเก่า vs แบบใหม่

?จะเห็นได้ว่า จากการเปลี่ยนฐานการคำนวณ เมื่อเปรียบเทียบยอดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ระหว่างแบบเก่า (27,443.84 บาท) และแบบใหม่(57.53 บาท) มียอดที่ต้องชำระในงวดที่ 25 แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดี ถึงแม้การคำนวณด้วยวิธีใหม่นี้จะช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง แต่อย่าลืมว่าเมื่อเป็นหนี้ เรามีหน้าที่ต้องชำระหนี้ เพราะหากค้างชำระนานวันเข้า ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ก็จะพอกพูนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนวันที่เราจ่ายไม่ตรง จ่ายไม่ครบนั่นเอง นอกจากนี้ยังเป็นเหตุให้เจ้าหนี้มีสิทธิ์ตามกฎหมายในการบอกเลิกสัญญา หรือฟ้องศาล
เพื่อบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้คืนทั้งจำนวนได้อีกด้วย รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อประวัติในข้อมูลเครดิตของผู้ที่เคย
ผิดนัดชำระหนี้ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้การกู้ยืมยากขึ้น แต่ดอกเบี้ยในการกู้ยืมก็จะสูงขึ้นด้วยเนื่องจากมีประวัติที่ไม่ดีและมีความเสี่ยงสูงในสายตาเจ้าหนี้นั่นเอง

?4.2 ข้อกำหนดอื่นๆ นอกจากการเปลี่ยน “ฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้” ให้มีความสมเหตุ
สมผลและเป็นธรรมมากขึ้น หนังสือเวียนฉบับนี้ยังได้ระบุถึงการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ว่าจะมีผลตราบเท่าที่สัญญายังมีผลผูกพัน อย่างไรก็ดี มีการกำหนดเพิ่มติมว่า การบอกเลิกสัญญาลูกหนี้ควรมีระยะเวลาที่ลูกหนี้ค้างชำระหนี้ไม่น้อยกว่า 90 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ให้บริการฟ้องลูกหนี้เร็วเกินควร อีกทั้งการค้างชำระหนี้ 
90 วัน จะถือว่าหนี้นั้นด้อยคุณภาพแล้ว (Non- performing loan) นอกจากนี้ ในระหว่าง 90 วันนี้ ลูกหนี้ก็สามารถเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อขอผ่อนผันยืดระยะเวลาการชำระหนี้ หรือขอลดอัตราดอกเบี้ยได้ เพื่อปรับค่างวดที่ผ่อนชำระให้สอดคล้องกับรายได้และสภาพคล่องของลูกหนี้ 

?ยิ่งไปกว่านั้น ธปท. ได้ขอความร่วมมือผู้ให้บริการในการพิจารณากำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (grace period) ในกรณีที่ลูกหนี้เหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดยผู้ให้บริการสามารถกำหนดเป็นเกณฑ์ภายในได้ แต่ทั้งนี้ลูกหนี้ต้องเข้าใจด้วยว่าการผ่อนผันดังกล่าวไม่ใช่การหยุดคิดดอกเบี้ยถาวร หากลูกหนี้ไม่ชำระหรือชำระล่าช้าเกินกำหนด grace period ผู้ให้บริการสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้นับตั้งแต่วันที่เริ่มชำระค่างวดล่าช้าได้

5. การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ด้วยแนวทางใหม่จะทำให้การผิดนัดชำระหนี้ในภาพรวมเพิ่มขึ้นหรือไม่?

?หลายท่านอาจจะมีคำถามและข้อกังวลใจว่าการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แนวใหม่ ที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับแนวทางเดิมนั้น จะทำให้การผิดนัดชำระหนี้ในภาพรวมเพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมทั้งจะทำให้ลูกหนี้ขาดวินัยในการชำระหนี้หรือไม่  

?การจะตอบคำถามนี้ได้นั้น อาจต้องพิจารณาจากปัจจัยหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ร่วมด้วย ดอกเบี้ยปรับที่เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยปกตินั้นไม่ใช่ผลกระทบด้านลบเพียงเรื่องเดียวที่ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้จะต้องเจอ แต่ลูกหนี้จะมีรายจ่ายที่มากขึ้นจากค่าทวงถามหนี้ที่จะถูกเรียกเก็บในเดือนถัดไป และการผิดนัดชำระหนี้จะส่งผลเสียต่อประวัติการผ่อนชำระของลูกหนี้ในฐานข้อมูลเครดิต (Credit Bureau) ซึ่งข้อมูลการผิดนัดชำระหนี้นี้จะปรากฎและคงค้างอยู่ในฐานข้อมูลเครดิต 3 ปี  และจะส่งผลกระทบต่อการขอกู้ในอนาคตที่ทำให้การขอกู้ยากขึ้นหรือมีโอกาสที่จะขอกู้ไม่ผ่าน เนื่องจากผู้ให้บริการจะตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรเพื่อใช้พิจารณาประกอบการให้กู้ด้วย รวมทั้งการมีประวัติผิดนัดชำระหนี้อาจทำให้อัตราดอกเบี้ยสำหรับการกู้ครั้งใหม่มีอัตราที่สูงขึ้นเนื่องจากผู้ให้บริการมองว่าลูกหนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ต้องไม่ลืมว่า หากค้างชำระหนี้นาน ผู้ให้บริการสามารถฟ้องร้องลูกหนี้เพื่อให้ชำระหนี้คืนได้ หรืออาจทำให้ลูกหนี้ถูกตัดสินให้เป็นบุคคลล้มละลาย 
 

?ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่ควรคำนึงถึง คือการที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้อาจไม่ได้มีสาเหตุจากการจงใจที่จะไม่จ่ายชำระหนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น (เนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ส่งผลกระทบไม่เพียงแค่เรื่องดอกเบี้ยที่จะเรียกเก็บสูงขึ้น แต่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายทวงถามหนี้ รวมทั้งประวัติในเครดิตบูโร ดังที่ได้อธิบายไปข้างต้น) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง หรือไม่มีกำลังเพียงพอที่จะจ่ายค่างวดได้ตามที่เคยคาดไว้ (affordability risk) ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย อาทิ ปัญหาภาวะเศรษฐกิจทำให้รายได้ลดลง ในกรณีเช่นนี้ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ ที่เรียกเก็บยอดปรับไม่สูงเกินไป ที่นอกจากจะมีความเป็นธรรมมากขึ้นแล้ว อาจช่วยให้การผิดนัดชำระหนี้ในภาพรวมลดลง เพราะภาระดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เรียกเก็บเป็นยอดที่น้อยลงจากเดิมมากเมื่อเทียบกับในอดีต ดังนั้น หากลูกหนี้มีการผิดนัดชำระหนี้ ค่างวดและภาระดอกเบี้ยผิดนัดชำระนี้ที่ต้องจ่ายเพิ่มยังไม่เป็นภาระสำหรับลูกหนี้จนเกินไป ทำให้ลูกหนี้ยังคงมีแรงจูงใจในการจ่ายชำระหนี้คืน เพราะมองเห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์ว่าตนจะสามารถชำระหนี้ได้

?ขอยกตัวอย่างกรณีจริงที่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบเดิม คิดจากฐานของยอดหนี้คงค้างทั้งหมด 
ทำให้ลูกหนี้มีภาระดอกเบี้ยสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีผลทำให้ลูกหนี้รายนี้ที่เดิมจ่ายค่างวดล่าช้าเพียงงวดเดียว ต้องผิดนัดชำระหนี้ในหลายงวดต่อๆ มา แม้ลูกหนี้เองจะจ่ายชำระค่างวดเข้ามาอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม
 

?โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากค่างวดที่จ่ายเข้ามาไม่เพียงพอที่จะตัดชำระเงินต้นในงวดนั้น เนื่องจากลำดับการตัดชำระหนี้ในปัจจุบัน ค่างวดที่จ่ายชำระเข้ามาจะนำไปตัดชำระ (1) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ก่อน ตามด้วย (2) ดอกเบี้ยปกติ และที่เหลือถึงจะนำไปตัดชำระในส่วนของ (3) เงินต้น ดังนั้น เมื่อลูกหนี้จ่ายชำระค่างวดเข้ามา จะไม่สามารถตัดชำระเงินต้นได้ครบ ทำให้ในงวดนั้นเกิดการผิดนัดชำระหนี้ จึงอาจสรุปได้ว่า การเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบเดิมที่เรียกเก็บด้วยมูลค่าที่สูง ทำให้ลูกหนี้มีภาระยอดเงินสุทธิที่ต้องจ่ายในงวดนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และทำให้มีลูกหนี้จำนวนไม่น้อยที่การจ่ายชำระล่าช้าเพียงงวดเดียวเป็นสาเหตุให้ต้องผิดนัดชำระหนี้ในหลายๆ งวดต่อมา 
อีกทั้งถ้าพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ทำให้รายได้ของประชาชนจำนวนมากลดลง จึงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่อาจจะจ่ายค่างวดล่าช้าหรือไม่สามารถจ่ายได้ในช่วงนี้ ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่จะช่วยให้โอกาสผิดนัดชำระหนี้ของคนไทยโดยรวมลดลงด้วย

?การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ ธปท. ขอความร่วมมือให้ผู้ให้บริการทางการเงินเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อ SME 
 
ทั้งนี้ สำหรับการผิดนัดชำระหนี้ก่อน 1 พฤษภาคมผู้ให้บริการสามารถนำหลักการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ไปประกอบการพิจารณาผ่อนปรนได้ตามที่เห็นสมควร หากประชาชนท่านใดพบพฤติกรรมการให้บริการที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรม ท่านสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ที่ช่องทาง www.1213.or.th หรือ โทร. 1213

 


บันทึกโดย : วันที่ : 08 พ.ค. 2563 เวลา : 18:13:47
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:01 pm