การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
20 รพ. ร่วมจัด ''บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ'' 4 เดือน ปชช. เข้าถึงบริการ 3.2 หมื่นครั้ง


สปสช.เปิดรายชื่อ 20 รพ.ศูนย์ ร่วมจัด “บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ” ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง หลัง สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์ บริการผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและมีความจำเป็นนอกเวลา เผย 4 เดือน มีประชาชนเข้าถึงบริการกว่า 3.2 หมื่นครั้ง รวมเป็นค่าใช้จ่ายกว่า 4.86 ล้านบาท 

 


นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอ “บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ” ของกระทรวงสาธารณสุข โดยเพิ่มรายการ “กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่เร่งด่วนและเหตุสมควรอื่นกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของประชาชนที่เข้ารับบริการนอกเวลาราชการ” เป็นบริการใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ฉุกเฉินเร่งด่วน และเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงกรณีมีเหตุสมควร หรือผู้เจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิ มีสิทธิเข้ารับบริการนอกเวลาที่หน่วยบริการตามที่กำหนดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 และ สปสช.ได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขนอกเวลาราชการกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงกรณีที่มีเหตุสมควร และกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิ พ.ศ. 2563 รองรับ

ทั้งนี้ตามเกณฑ์การประเมินศักยภาพหน่วยบริการเพื่อให้ “บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ” โรงพยาบาลต้องจัดแยกบริการเป็น 2 ส่วน คือ “ห้องฉุกเฉินคุณภาพ” เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) และผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) มีการจัดห้องแยกเฉพาะ พร้อมอุปกรณ์และบุคลากรตามแนวทางการจัดบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และ “ห้องบริการแยกจากห้องฉุกเฉิน” เป็นบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง กรณีมีเหตุสมควรและกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นผู้มีสิทธิที่ต้องเข้ารับบริการนอกเวลาราชการ ซึ่งต้องมีห้องเพื่อบริการที่แยกจากห้องฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์และบุคลากรตามแนวทางของหน่วยบริการ ซึ่งต้องมีแพทย์ประจำเพื่อให้บริการ
 

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีโรงพยาบาลร่วมจัดบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ และผ่านเกณฑ์การประเมินจำนวน 20 แห่ง ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการดูแลที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น แต่ยังทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการสามารถเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้ โดยมีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแล จ่ายชดเชยค่าบริการ 150 บาท/ครั้ง ขณะเดียวกันยังเป็นส่วนสำคัญในการลดความขัดแย้งและความรุนแรงระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการจากความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้จากข้อมูลการเบิกจ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารับบริการผู้ป่วนอกเวลาราชการตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ถึง 31 มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการแล้วจำนวน 32,449 ครั้ง เป็นจำนวนเงินจ่าย 4,867,350 บาท

สำหรับรายชื่อโรงพยาบาลที่ร่วมจัดบริการและผ่านการประเมินการให้บริการฉุกเฉินคุณภาพ มีดังนี้ 1.รพ.ลำปาง 2.รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก 3.รพ.สวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ 4.รพ.สระบุรี 5.รพ.พระนครศรีอยุธยา 6.รพ.ปทุมธานี 7.รพ.นครปฐม 8.รพ.ชลบุรี 9.รพ.ระยอง 10.รพ.ขอนแก่น 11.รพ.อุดรธานี 12.รพ.มหาราชนครราชสีมา 13.รพ.บุรีรัมย์ 14.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ 15.รพ.สุราษฎร์ธานี 16.รพ.วชิระภูเก็ต 17.รพ.หาดใหญ่ และ รพ.ในกรุงเทพฯ 3 แห่ง ดังนี้ 18.รพ.ราชวิถี 19 รพ.นพรัตน์ราชธานี และ 20.รพ.เลิดสิน 

บันทึกโดย : วันที่ : 23 พ.ค. 2563 เวลา : 13:54:31
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 1:36 am