การค้า-อุตสาหกรรม
รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ประกาศแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสู้วิกฤตโควิด-19


ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโควิด-19 ผ่านระบบทางไกล ประกาศแผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจรับมือกับวิกฤตโควิด-19 และผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะ New Normal และการรักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต พร้อมวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว เน้นย้ำเร่งสรุปการเจรจาความตกลง RCEP ให้ลงนามในปลายปีนี้


นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยโควิด–19 ผ่านระบบทางไกล เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 โดยที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิค-19 ในภูมิภาค ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะหดตัวถึงร้อยละ 3 และได้หารือการรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะ New Normal ที่เกิดขึ้น และการรักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตโลก เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น รวมทั้งวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาว และเห็นความสำคัญของการร่วมมือกันในภูมิภาค รวมทั้งเน้นย้ำให้เร่งสรุปการเจรจาความตกลง RCEP ให้สามารถลงนามในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ภูมิภาค

นายสรรเสริญ กล่าวว่า เพื่อให้การรับมือกับผลกระทบมีผลอย่างรวดเร็ว รัฐมนตรีเศรษฐกิจได้ออกแผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 (Hanoi Plan of Action on Strengthening ASEAN Economic Cooperation and Supply Chain Connectivity in Response to the COVID-19 Pandemic) ซึ่งเป็นแผนงานความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมให้การเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาคเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็น ได้แก่ อาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยจะหลีกเลี่ยงการออกมาตรการต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและอาจเป็นอุปสรรคทางการค้า จะร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลการใช้มาตรการด้านการค้าทันที และจะส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมที่ทันสมัยในการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อให้อาเซียนพร้อมรองรับความท้าทายใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ติดตามการดำเนินการตามแผนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
 
นายสรรเสริญ เสริมว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจยังได้หารือกับตัวแทนจากภาคเอกชนของอาเซียน หรือสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN–BAC) โดยภาคเอกชนได้เสนอแนวทางการรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในระยะสั้น และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการระบาดใหญ่ในระยะยาว โดยที่ประชุมฯ สนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อร่วมจัดทำข้อเสนอแนะต่อผู้นำอาเซียนเกี่ยวกับแผนการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว 

ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนใน ปี 2562 มีมูลค่า 107,928 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 62,904 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,024 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยเกินดุล 17,880 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

บันทึกโดย : วันที่ : 05 มิ.ย. 2563 เวลา : 14:17:03
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:04 am