เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ปลดล็อค ปิดหนี้ แบบดีต่อใจ


ปิดหนี้ได้ ต้องชนะใจตัวเองก่อน

คงไม่มีใครอยากเป็นหนี้ เพราะหนี้ คือ พันธะ ภาระที่ต้องแบกรับ ต้องจัดการให้ได้ในระยะเวลาที่กำหนด แต่คนจำนวนมากกลับเป็นหนี้ เพราะความจำเป็น

และหากไม่เป็นหนี้ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีบ้าน มีรถ มีสินทรัพย์ราคาสูงเป็นของตัวเอง แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ยอมเป็นหนี้ เพราะตกหลุมพราง เพราะแพ้ทางกิเลสตัวเอง ด้งนั้นวันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ และดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ มีคำแนะนำ เรื่องการเป็นหนี้
 
 
 
 
เป็นหนี้แต่พอดี ไม่มีเครียด
 
การเป็นหนี้ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง เป็นหนี้เพื่ออนาคต เป็นหนี้เพื่อสร้างรายได้ และเป็นหนี้ไม่มากเกินตัว ถือเป็นเรื่องที่ดี หรือเรียกว่าเป็น หนี้ดี (Good Debt) เช่น การกู้เงินเพื่อซื้อบ้าน ที่นอกจากจะเป็นที่อยู่อาศัยในปัจจุบันแล้ว บ้านยังเป็นสินทรัพย์ที่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกด้วยในอนาคต หรือการเป็นหนี้เพื่อเรียนต่อก็ถือเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเอง
 
หนี้ดีๆ แบบนี้เมื่อเป็นแล้ว สามารถเพิ่มความมั่นคงในชีวิตได้ แต่การยอมเป็นหนี้เพื่อตอบสนอง “ความต้องการที่เกินจำเป็น” เพียงเพราะไม่อยากตกเทรนด์ หลงไปตามกระแสวัตถุนิยม ต้องอัพเกรดข้าวของเครื่องใช้ให้ดูดีตลอดเวลา ใครที่มักแพ้ใจตัวเอง แพ้ทางการตลาด ระวังจะเลยเถิดเป็นหนี้จนเกินตัว ความสุขระยะสั้นๆ จากโปรโมชั่นทั้งหลาย อาจจะสร้างความทุกข์ระยะยาวแบบตั้งตัวไม่ทัน ยิ่งปัจจุบันสารพัดเทคโนโลยีพร้อมอำนวยความสะดวกในการสั่งซื้อข้าวของ รูดบัตร จัดสินเชื่อให้ผ่อนกันได้โดยง่าย ยิ่งต้องจิตแข็ง 
 
ไม่จำเป็น ไม่กู้
 
ใครที่ไม่อยากเครียด เพราะปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวหรือชักหน้าไม่ถึงหลัง กลัวผ่อนหนี้ในแต่ละเดือนไม่ไหว คงต้องกลับไปทบทวนความรู้พื้นฐานเรื่อง ความจำเป็น (Need) และความต้องการที่เกินจำเป็น (Want)

เช่น หากซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ตามความจำเป็น อาจซื้อเครื่องละ 4,000 - 5,000 บาท แต่ถ้าตัดสินใจซื้อตามความต้องการที่เกินจำเป็น คงไม่พ้นเครื่องรุ่นใหม่ล่าสุด ดีไซน์สวย คุณสมบัติสุดล้ำ ราคาเครื่องละ 35,000 - 40,000 บาท และอาจใช้วิธีการผ่อน 0% หลายสิบเดือน
 
หากคุณจำเป็นต้องเป็นหนี้ ก็ต้องมั่นใจว่าจะจัดการหนี้ได้แบบไม่เบียดเบียนตัวเอง หลักง่ายๆ ในการประเมินตัวเอง คือ ไม่ควรผ่อนหนี้เกิน 40% ของรายได้ในแต่ละเดือน และยอดหนี้ทั้งหมดรวมกันแล้วไม่เกิน 50% ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่มี
 
เช่น เงินเดือน 30,000 บาท ซื้อสินค้าด้วยวิธีผ่อนชำระไม่ควรเกิน 12,000 บาทต่อเดือน (ไม่เกิน 40% ของเงินเดือน) เพราะหากคุณต้องจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนมากจนเกินไป ความยากลำบากในการใช้ชีวิตอาจจะมาเยือน จนเป็นเหตุให้อาจเริ่มเป็นหนี้เพื่อการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งหากคุณไม่ระมัดระวัง วางแผนจัดการหนี้อย่างเหมาะสมแล้ว คุณอาจจะต้องเข้าสู่วงจรการเป็นหนี้และวงจรความเครียดแบบไร้จุดจบ
 
นอกจากนี้ คุณอย่าลืมตรวจสอบให้แน่ใจด้วยว่าหนี้ที่มีทั้งหมดไม่เกิน 50% ของสินทรัพย์ หากสามารถควบคุมภาระหนี้สินที่มีให้อยู่ในเกณฑ์ 2 ข้อนี้ได้ รับรองเป็นหนี้แบบไม่เครียด สุขภาพทางการเงินไม่ย่ำแย่ และที่สำคัญการสร้างหนี้ที่พอเหมาะพอดีจะไม่บั่นทอนความปกติสุขและความมั่นคงในวันหน้า
 
ตั้งหลัก ปลดล็อค ปิดหนี้
 
คุณควร ตั้งสติ ยอมรับความจริง โดยเฉพาะความจริงทางการเงินที่ต้อง “รู้จักตัวเอง” อย่างจริงจัง เพราะจุดเริ่มต้นสำคัญในการปลดล็อคเพื่อปิดหนี้ คือ รู้อะไร ก็ไม่สู้ รู้จักตัวเอง โดยเริ่มที่สรุปรายการสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ และค่าใช้จ่ายทั้งหมดของตัวเองออกมา เพื่อที่จะได้เห็นว่าปัญหาทางการเงินที่แท้จริงอยู่ตรงไหน มีหนี้สินมากไปหรือไม่ ภาระผ่อนหนี้ในแต่ละเดือนเกินพอดีไปขนาดไหน รายได้ที่หามาได้ กลายเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
 
คุณควร ตั้งเป้าหมายปิดหนี้ที่ชัดเจน เพราะเป้าหมายจะช่วยให้เดินไปถูกทิศถูกทาง จะปิดหนี้ก็เช่นกัน ต้องเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง เมื่อรู้จักตัวเองแล้วก็ต้องรู้เป้าหมายที่จะเดินไป โดยเป้าหมายในการปิดหนี้ที่ดี ต้องเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น จะปิดหนี้บัตรเครดิต 100,000 บาท ให้ได้ภายใน 6 เดือน เป็นต้น เป้าหมายในการปิดหนี้ที่ชัดเจนจะช่วยให้เรามีเหตุผล และมีพลังใจในการจัดการหนี้อย่างจริงจัง 
 
คุณควรทำตารางปลดหนี้ เมื่อเห็นทรัพยากรทางการเงินของตัวเองและมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ก็ต้องลงมือทำตารางปลดหนี้หรือตารางสรุปรายละเอียดหนี้สินทั้งหมด โดยแยกตามเจ้าหนี้แต่ละราย สรุปให้ครบถ้วนว่ามีเจ้าหนี้กี่ราย เงินต้นเท่าใดบ้าง อัตราดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์ต่อปี ผ่อนงวดละกี่บาท กำหนดผ่อนชำระวันที่เท่าไร โดยเรียงลำดับหนี้ที่ต้องการปิดเป็นเจ้าแรกไว้ลำดับที่ 1
 
ทั้งนี้ การจัดการหนี้ควรจัดการหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงที่สุดก่อน เพราะจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้มากที่สุด โดยทั่วไป จึงควรจัดการหนี้ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงที่สุดไว้ลำดับแรก แต่ถ้าหนี้ก้อนที่อัตราดอกเบี้ยสูงที่สุด เป็นหนี้ก้อนใหญ่ และมีทีท่าว่าจะต้องใช้เวลานานในการจัดการ ก็ให้จัดลำดับหนี้ก้อนเล็กสุดไว้ลำดับแรก เพื่อที่จะจัดการปิดให้ได้เร็วที่สุด และเพื่อเรียกพลังใจที่ฮึกเหิมเมื่อปิดหนี้ก้อนแรกได้
 
คุณควรปรับพฤติกรรม สร้างวินัยทางการเงิน เพราะแก้หนี้ต้องแก้ที่เหตุ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงิน ถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการประสบความสำเร็จในการจัดการเงิน โดยเฉพาะการจัดการหนี้ จากการสรุปรายการสินทรัพย์ หนี้สิน รายได้ ค่าใช้จ่าย จะช่วยให้เราได้เห็นว่าจะเริ่มต้นจัดการตัวเองตรงไหนได้ก่อน ซึ่งการลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เพื่อนำเงินไปลดหนี้ คือ สิ่งแรกที่ควรทำ ตั้งเป้าให้ชัด ตั้งใจให้มั่น ว่าจะลดค่าใช้จ่ายตัวไหน ลดลงกี่เปอร์เซ็นต์ จะปลดหนี้ให้ได้ภายในเมื่อไร
 
หากมีสินทรัพย์ที่เกินจำเป็น เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า นาฬิกา ที่ไม่ได้ใช้ ก็ควรเปลี่ยนเป็น เงินสดเพื่อไปชำระหนี้ ลองนึกถึงดอกเบี้ยมากมายที่ต้องจ่าย รับรองตัดใจขายสินทรัพย์ได้หลายชิ้นแน่นอน หรือหากจะซื้อของชิ้นใหม่ที่เกินความจำเป็น ก็ควรถามตัวเองว่า ซื้อเพราะจำเป็นหรือแค่อยากได้ เพราะการถามตัวเอง เป็นการเรียกสติ ให้คิดให้ทบทวนก่อนตัดสินใจ จะได้มีเงินเหลือไปจัดการหนี้เพิ่มขึ้นได้ในแต่ละเดือน
 
แต่ถ้าประเมินแล้วพบว่า ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขายสินทรัพย์ ก็ไม่พอจัดการหนี้ได้ ทางออกให้คุยกับเจ้าหนี้ เปิดใจคุยกับเจ้าหนี้แต่ละรายว่า สถานการณ์ทางการเงินปัจจุบันมีปัญหาอะไร เจ้าหนี้พอจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง
 
ทั้งนี้ การมีพลังใจที่เข้มแข็งสำคัญมากในการปลดล็อค ปิดหนี้ คงต้องลองนึกภาพตัวเองในวันที่หมดหนี้ไว้เป็นกำลังใจบ่อยๆ นึกถึงเดือนที่จะได้ใช้เงินเดือนเต็มๆ แบบไม่ต้องผ่อนหนี้ นึกถึงอิสรภาพในวันที่หมดภาระหนี้ นึกถึงวันที่หนี้ลดลงเรื่อยๆ นึกภาพความสุขจากการไม่มีหนี้บ่อยๆ เพื่อสร้างกำลังใจให้ตัวเองได้มีแรงมุ่งมั่น มีพลังลงมือจัดการหนี้อย่างมีความหวัง คุณจะชนะหนี้ได้ ต้องชนะใจตัวเองก่อน

 


บันทึกโดย : acnewsวันที่ : 15 มิ.ย. 2563 เวลา : 09:42:41
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 1:42 pm