เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ก่อนนำเงินไป ''โปะหนี้หรือลงทุน'' หันไปดูสุขภาพการเงินกันก่อนดีไหม


หากคุณมีเงินเข้ามาสักก้อนหนึ่ง คุณจะนำไปใช้อะไรก่อน ระหว่าง โปะหนี้ หรือ ลงทุน เพราะไม่ว่าจะเลือกทางใดก็เป็นประโยชน์ต่อตนเอง แล้วจะตัดสินใจอย่างไร วันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ และคุณกัญญา ศิริวราดร ชวนมาดูคำแนะนำกัน เริ่มจาก....

มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินหรือยัง

ก่อนคุณตัดสินใจจะนำเงินไปโปะหนี้หรือลงทุน คุณควรตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของตนเองก่อนว่า มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินหรือไม่ เพราะความสำคัญของเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน คือ เงินที่เตรียมไว้ใช้จ่ายหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล หรือตกงานทำให้ขาดรายได้

โดยปกติแล้วทุกคนควรมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้ประมาณ 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ดังนั้น ถ้ายังไม่มีเงินก้อนนี้ ควรเริ่มเก็บเงินสำรองก่อนที่จะนำไปโปะหนี้หรือลงทุน ส่วนผู้ที่มีการกันเงินสำรองเอาไว้แล้ว มาดูคำแนะนำต่อไป
 
 
นำเงินมาโปะหนี้

คุณควรตรวจสอบก่อนว่า เงินก้อนที่มีนั้น สามารถโปะหนี้ได้ทั้งหมดหรือไม่ คำแนะนำ คือ ถ้าคุณมีเงินเพียงพอ ควรโปะหนี้ให้หมด เพื่อจะได้ปลดหนี้และไม่ต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยอีกต่อไป แต่ถ้าโปะหนี้ได้เพียงบางส่วน ก็ต้องชั่งน้ำหนักก่อนว่าคุ้มค่าหรือไม่

โดยพิจารณาจากการคิดอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินว่าเป็นอย่างไร ซึ่งมีรูปแบบ ดังนี้
 
การคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก

หนี้ประเภทนี้ หมายถึง เมื่อผ่อนชำระเงินในแต่ละงวด ทำให้เงินต้นลดลง ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บก็จะลดลงตามไปด้วย เช่น หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บ้าน เป็นต้น
 
โดยอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล จะอยู่ที่ร้อยละ 18 – 20 ต่อปี ดังนั้น หากมีเงินก้อน ควรนำไปโปะหนี้ประเภทนี้เป็นอันดับแรก เพราะจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยลงได้
 
สำหรับหนี้บ้าน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6 – 7% ต่อปี โดยก่อนตัดสินใจโปะหนี้บ้าน ควรถามตนเองว่า สามารถหาช่องทางลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนมากกว่า 6-7% ต่อปีหรือไม่ ถ้าหาผลตอบแทนได้มากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จ่าย ควรนำเงินไปลงทุน แต่ถ้าหาผลตอบแทนได้ต่ำกว่า ควรโปะหนี้ก่อน เพราะนอกจากจะประหยัดดอกเบี้ยแล้ว ยังผ่อนบ้านหมดได้เร็วขึ้นอีกด้วย
 
การคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่

การคิดอัตราดอกเบี้ยรูปแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้รถ โดยสถาบันการเงินจะคิดคำนวณดอกเบี้ยจากเงินต้นทั้งก้อน แล้วนำดอกเบี้ยทั้งก้อนมากระจายเป็นจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละงวดพร้อมกับเงินต้น แปลว่า ถึงแม้จะมีการผ่อนเงินต้นในแต่ละงวด ดอกเบี้ยที่จ่ายก็ยังเท่าเดิม ดังนั้น อาจไม่จำเป็นต้องโปะหนี้ เพราะไม่ว่าจะโปะหนี้เพิ่มเท่าไรหรือเร็วขึ้นแค่ไหน ก็ไม่ได้ช่วยให้ภาระหนี้ลดลง
 
นำเงินก้อนไปลงทุน

ก่อนที่คุณจะนำเงินไปลงทุน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องรู้จักประเภทของการลงทุนและช่องทางการลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายอยู่ โดยแบ่งประเภทได้ ดังนี้
 
ฝากเงินกับธนาคาร ซึ่งเป็นช่องทางเก็บเงินที่ง่าย และปลอดภัย ข้อดี มีความเสี่ยงต่ำมาก สะดวก สามารถฝากถอนได้ตลอดเวลา ส่วน ข้อเสีย ผลตอบแทนต่ำ
 
หรือลงทุนในตราสารหนี้ ผู้ลงทุนมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ผู้ออกตราสารมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” โดยผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของ “ดอกเบี้ย” อย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และได้รับ “เงินต้น” คืนเมื่อครบกำหนดอายุไถ่ถอน โดยตราสารหนี้ที่สามารถลงทุนได้ทั่วไป เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน 

ทั้งนี้ ข้อดี ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำถึงต่ำมาก ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วน ข้อเสีย ผลตอบแทนที่ได้รับอาจต่ำกว่าดอกเบี้ยที่จ่ายเป็นประจำ
 
ลงทุนในกองทุนรวม กองทุนรวมมีหลากหลายประเภท ดังนั้น ควรศึกษานโยบายการลงทุนให้สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ ก่อนตัดสินใจลงทุน
 
ข้อดี มีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน (ผู้จัดการกองทุน) คอยดูแลเงินลงทุนให้ ซื้อขายได้ง่าย ผลกำไรที่ได้ไม่ต้องเสียภาษี และกองทุนบางประเภทสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ เช่น กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ส่วน ข้อเสีย อาจขาดทุนจากราคากองทุนที่ลดต่ำลง การจ่ายปันผลไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกองทุนนั้น
 
การลงทุนในหุ้น หุ้น คือ ตราสารที่ผู้ถือหุ้นมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกิจการ ตามสัดส่วนมูลค่าของหุ้นที่ถือครอง แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ์
 
ข้อดี ผลตอบแทนสูงในระยะยาว ได้รับส่วนแบ่งกำไรในรูปของเงินปันผล ได้รับกำไรจากการขายหุ้น ซึ่งกำไรจากการขายหุ้นจะได้รับการยกเว้นภาษีอีกด้ว ส่วน ข้อเสีย มีความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนอาจขาดทุนจากการขายหุ้น มีการจ่ายปันผลไม่ตายตัวขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทที่เข้าไปถือหุ้น ดังนั้น ควรมีความรู้และศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
 
เมื่อพิจารณาและมั่นใจว่า หากนำเงินไปลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ประกอบกับมีความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในการลงทุนแล้ว ก็ควรนำเงินไปลงทุน แต่ถ้ายังไม่มีช่องทางการลงทุน และอยู่ในช่วงศึกษาเรื่องการลงทุน ควรนำเงินไปโปะหนี้ก่อน
 
ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาว่าจะนำเงินไปโปะหนี้หรือลงทุน ขึ้นอยู่กับสุขภาพทางการเงิน เช่น มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเพียงพอ จากนั้นจึงพิจารณาถึงข้อดี ข้อเสีย เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด

บันทึกโดย : acnewsวันที่ : 17 มิ.ย. 2563 เวลา : 09:41:02
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 2:43 am