การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
แพทย์ผิวหนังแนะนำการเลือกซื้อและการใช้แอลกอฮอล์เจลที่ถูกวิธี


กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง แนะนำชนิดของแอลกอฮอล์ การเลือกซื้อ วิธีการใช้และการเก็บแอลกอฮอล์เจล การสังเกตอาการการแพ้แอลกอฮอล์เจล และเตือนภัยเมทิลแอลกอฮอล์เป็นแอลกอฮอล์มีพิษไม่อนุญาตให้ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเด็ดขาด


แอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อโรคโดยทั่วไปมี 2 ชนิด คือ เอทิลแอลกอฮอล์ หรือ เอทานอล (Ethyl alcohol) และไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol) มีประสิทธิภาพทำลายเชื้อโรคได้ดีเมื่อมีความเข้มข้น 60-90 % โดยปริมาตรในน้ำ (%v/v) ความเข้มข้นที่ต่ำกว่านี้จะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อน้อย ความเข้มข้นที่มากกว่านี้ เช่น 95% แอลกอฮอล์ จะมีปริมาตรน้ำไม่เพียงพอที่จะช่วยให้แอลกอฮอล์ดูดซึมผ่านเข้าเยื่อหุ้มเซลล์เข้าไปทำลายไวรัส อีกทั้งการมีความเข้มข้นแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปจะทำให้แอลกอฮอล์เจลระเหยเร็ว และยังทำให้ผิวแห้งและระคายเคือง แต่มีแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งชื่อว่า เมทิลแอลกอฮอล์,เมทานอล (Methyl alcohol) หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่าแอลกอฮอล์ขาว เป็นแอลกอฮอล์มีพิษ ใช้ในอุตสาหกรรม ทำเชื้อเพลิง ทินเนอร์ ผสมสี ห้ามใช้กับร่างกาย สามารถดูดซึมได้ทางผิวหนังและลมหายใจ ทำให้หลอดลม ลำคอ เยื่อบุตาอักเสบ ปวดท้อง เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกระตุก หายใจลำบาก การมองเห็นผิดปกติและอาจทำให้ตาบอดได้ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไม่อนุญาตให้ใช้เมทิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอางโดยเด็ดขาด

กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือโดยไม่ใช้น้ำทั้งรูปแบบเจลและสเปรย์จัดเป็นเครื่องสำอาง โดย อย.กำหนดให้ผลิต นำเข้าและจำหน่ายแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น ตั้งแต่ 70% โดยปริมาตรขึ้นไป การเลือกซื้อแอลกอฮอล์ล้างมือ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์ 70 % (v/v) ขึ้นไป บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท มีฉลากระบุชื่อ ส่วนผสม วิธีใช้ ผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต เลขจดแจ้ง ที่แสดงการขึ้นทะเบียนกับ อย. ตรวจสอบได้ว่าไม่หมดอายุ ไม่ถูกยกเลิก และบอกสถานที่ผลิตตรงกันกับที่พิมพ์บนฉลากบรรจุภัณฑ์ (ตรวจสอบได้ที่ http://pca.fda.moph.go.th/service.php) หรือหากไม่มีเลขจดแจ้ง ต้องเป็นเภสัชตำรับที่ ผลิตโดยหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ

เจลล้างมือแอลกอฮอล์ที่ดีควรจะผลิตจากแอลกอฮอล์เกรดทำยา, เครื่องสำอางหรืออาหาร มีลักษณะเนื้อเจลใส ไม่เป็นตะกอน ไม่จับตัวเป็นก้อนหรือแยกชั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการฆ่าเชื้อ ควรใช้แอลกอฮอล์ทาให้ทั่วฝ่ามือลูบไล้ให้ทั่ว เป็นเวลาอย่างน้อย 20-60 วินาทีและปล่อยให้แห้งเอง ก่อนใช้ควรทดสอบการแพ้โดยทาใต้ท้องแขนทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง สังเกตความผิดปกติ ผื่นแดง ปวดแสบบวม หากมีอาการแพ้ คัน แนะนำให้หยุดใช้ อาการแพ้แอลกอฮอล์เจลนั้นมักจะเกิดเป็นอาการเฉพาะที่และไม่รุนแรง เช่น ผิวแห้ง แตก มีขุย หรือ มีผื่นแดงคัน โดยอาจจะเกิดจากผลของแอลกอฮอล์โดยตรงหรืออาจจะแพ้ส่วนผสมอื่นๆ เช่น แพ้ส่วนผสมน้ำหอม ก็ได้ การใช้แอลกอฮอล์ล้างมือเป็นประจำอาจทำให้เกิดผิวแห้ง แนะนำให้ใช้โลชั่นหรือครีมบำรุงผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวหลังใช้แอลกอฮอล์ได้ นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ระเหยง่ายและติดไฟ ควรเก็บในที่แห้งและอุณหภูมิห้อง ไม่โดนแสงแดดหรือวางในที่ร้อนจัด

ที่มา : สถาบันโรคผิวหนัง

#ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19
#ศูนย์ข้อมูลCOVID19
#NewNormalชีวิตวิถีใหม่
#สมดุลชีวิตวิถีใหม่
 

บันทึกโดย : acnewsวันที่ : 20 มิ.ย. 2563 เวลา : 10:08:58
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:10 pm