การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
คนพิการแนะ สปสช.ตั้งกลไกดูแลฟื้นฟูคนพิการระดับชุมชน


คนพิการชี้การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เห็นชัดถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพ แนะสร้างกลไกระดับชุมชนเข้ามาจัดการในระดับพื้นที่เพื่อให้คนพิการได้รับบริการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดรับฟังความเห็นทั่วไปประจำปี 2563 “หลักประกันสุขภาพคนพิการในยุค New Normal" ผ่านทาง facebook live เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนองค์กรคนพิการเข้าร่วมให้ความเห็นทั้งในเวทีและผ่านช่องทางออนไลน์อีกจำนวนมาก

 
นายวันเสาร์ ไชยกุล ตัวแทนเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นชัดถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพผู้พิการที่ขาดการดูแลหรือการเข้าถึงบริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้าถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น ซึ่งในอนาคตก็อาจเกิดสถานการณ์ลักษณะนี้ได้อีก ดังนั้น ถ้ามีกลไกสุขภาพระดับชุมชนเข้ามาจัดการในระดับพื้นที่น่าจะทำให้คนพิการได้รับบริการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง

นายวันเสาร์ กล่าวต่อไปว่า จริงๆ กลไกเหล่านี้มีอยู่แล้ว เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพสุขภาพระดับท้องถิ่นและกองทุน LTC ของ สปสช. ศูนย์บริการคนพิการของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำอย่างไรให้กลไกเหล่านี้ร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพในระดับพื้นที่

"ขั้นตอนเร่งด่วนคือ 1.เอกซเรย์พื้นที่ว่ามีจำนวนคนพิการเท่าใด ปัญหาและความต้องการเป็นอย่างไร 2.เอกซเรย์คนทำงานในพื้นที่ว่ามีองค์กร เครือข่ายในพื้นที่หรือไม่ เพื่อให้เกิดการจับคู่กับหน่วยงานรัฐในการขับเคลื่อนระบบในพื้นที่ นอกจากนี้ในระยะยาวยังมีเรื่องการพัฒนาวิจัยวัสดุอุปกรณ์สิ่งของทางการแพทย์ที่ทางเครือข่ายเราอยากเห็นการพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้ เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สายสวนปัสสาวะ สายอาหาร ฯลฯ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้มีราคาถูกลงและเมื่อราคาถูกลงก็อาจเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ได้" นายวันเสาร์ กล่าว
 

ด้าน นางกัญญาวีร์ แขวงโสภา สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การรับบริการฟื้นฟูทางการแพทย์จากโรงพยาบาลต้องเลื่อนนัดไปแบบไม่มีกำหนด ส่งผลให้การทำหัตถบำบัด การฝึกพูด การเรียนรู้ของเด็กออทิสติกต้องหยุดชะงัก จากที่กำลังจะเริ่มพูดได้ พอมีการแพร่ระบาดก็ทำให้พัฒนาการด้านการพูดหยุดไป เด็กแสดงพฤติกรรมรุนแรง ส่งผลให้ครอบครัวเกิดความเครียด

นางกัญญาวีร์ เสนอให้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช. จัดทำสื่อด้านบริการฟื้นฟูสภาพด้านการแพทย์ทั้งรูปแบบออนไลน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ สำหรับให้ครอบครัวของเด็กออทิสติกนำไปใช้ที่บ้านเพื่อกระตุ้นพัฒนาการหรือปรับพฤติกรรมเบื้องต้นแก่เด็ก และแม้การแพร่ระบาดจะหมดไปในอนาคต สื่อเหล่านี้ก็ยังใช้ได้และอาจจะช่วยลดขั้นตอนการพบแพทย์ให้น้อยลงก็ได้
 

ขณะที่ นางจรรยา บัวสร สำนักงานสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่กลุ่มคนพิการทางการมองเห็นฝากมาสะท้อนในเวทีนี้คือในช่วงโควิด-19 ทำให้สถานที่ต่างๆ มีมาตรการวัดอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่ ซึ่งคนพิการทางการมองเห็นอยากให้มีเครื่องวัดอุณหภูมิที่มีเสียงบอกว่าอุณหภูมิเท่าไหร่เพื่อให้รับทราบด้วย และหากเป็นไปได้ก็ควรอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ รวมไปถึงอุปกรณ์ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดความดันโลหิตที่อยากให้มีเสียงบอกค่าต่างๆ ด้วยเช่นกัน

นางจรรยา กล่าวอีกว่า กลุ่มคนพิการทางการมองเห็นยังสะท้อนปัญหาเรื่องสิทธิประโยชน์การใส่ตาปลอมให้แก่คนพิการทางการมองเห็นที่ไม่มีลูกตา ซึ่งการจะใส่อุปกรณ์เหล่านี้ได้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ แต่ส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นการทำศัลยกรรม พอวินิจฉัยเช่นนี้ทำให้ไม่ได้รับสิทธิการเบิกจาก สปสช. นอกจากนี้ ในส่วนของกลุ่มคนหูหนวกก็สะท้อนมาว่าปัจจุบันล่ามภาษามือยังไม่เพียงพอ ดังนั้นเวลาไปพบแพทย์ก็อยากได้ล่ามภาษามือออนไลน์เพื่อช่วยในเรื่องการสื่อสารกันด้วย

 
นางนิตยา ศรีวงศ์ สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจคนพิการในช่วงโควิด-19 พบว่ามีความต้องการผ้าอ้อมค่อนข้างมาก ไม่ใช่เฉพาะแค่พิการทางสติปัญญาอย่างเดียวแต่รวมถึงผู้ที่ติดเตียงและนั่งรถเข็นด้วย ดังนั้นหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้จาก สปสช. เป็นการถาวร เพราะผ้าอ้อมเป็นค่าใช้จ่ายประจำและต้นทุนค่อนข้างสูงถึงชิ้นละ 20-30 บาท
 

นายวิเชียร หัสถาดล สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผ้าอ้อมสำหรับคนพิการติดเตียงและที่นั่งรถเข็นยังไม่เพียงพออย่างมาก ส่วนเรื่องการซ่อมรถเข็น ก็ไม่สามารถเบิกจาก สปสช. ได้เต็มราคาซ่อม และเรื่องยาสำหรับคนพิการทางจิต ขอให้ลดค่ายาลงหรือให้ใช้ฟรีเพราะปัจจุบันมีคนพิการทางจิตเพิ่มขึ้นมาก
 

ด้าน นางพิศมัย สุวรรณรังษี สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สปสช.ดูแลในเรื่องยาสำหรับผู้ป่วยทางจิตดีมาก แต่ยังมียาบางตัวที่ราคาแพง ทำให้แพทย์ไม่สามารถจ่ายยาให้มากได้เพราะจำกัดด้วยค่ารักษาและอีกปัญหาคือเรื่องการตั้งกองทุนจิตเวชชุมชน แม้จะมีกองทุนนี้แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมการบำบัด รักษา ฟื้นฟูหรือส่งเสริมป้องกัน ไม่ครอบคลุมการสนับสนุนค่าเดินทางให้ ส่วนใหญ่งบประมาณจะถูกใช้ไปกับการลงพื้นที่เยี่ยมคนไข้มากกว่า ซึ่งคนไข้จะมักจะบ่นว่าไม่เคยได้รับบริการฟื้นฟู ดังนั้นอยากฝาก สปสช.พัฒนาการบริหารจัดการกองทุนนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น

น.ส.ปนัดดา ประสิทธิเมกุล ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรรายการโทรทัศน์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สำรวจปัญหาและความต้องการของผู้พิการละแวกบ้าน ไปแค่ครึ่งวันพบว่าผู้ป่วยหรือคนพิการไม่ค่อยทราบสิทธิของตัวเอง เวลาไปโรงพยาบาลก็ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง พอไม่มีค่าเดินทางก็จะปล่อยให้ตัวเองอาการหนักขึ้นแทนที่จะสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพได้ และอีกปัญหาคือเรื่องการออกบัตรคนพิการซึ่งต้องให้แพทย์วินิจฉัย มีหลายเคสที่ความพิการไม่มาก แพทย์จึงไม่ออกใบรับรองให้ ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาได้ กลายเป็นว่าเมื่อเวลาผ่านไป ความพิการก็มีมากขึ้น   

บันทึกโดย : acnewsวันที่ : 20 มิ.ย. 2563 เวลา : 17:13:39
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 2:13 am