เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC ประเมินส่งออก พ.ค. หดตัวสูง จากมาตรการปิดเมืองทั่วโลก ในระยะถัดไปส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป


Key points

มูลค่าการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2020 หดตัวในระดับสูงถึง -22.5%YOY และหากหักทองคำ การส่งออกจะหดตัวเพิ่มเติมเป็น -27.8%YOY นับเป็นอัตราหดตัวมากสุดในรอบเกือบ 11 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2009 เป็นต้นมา ทั้งนี้การส่งออกรวมในช่วง 5 เดือนแรกของปีหดตัว -3.7%YOY แต่หากหักการส่งกลับอาวุธ
และทองคำ การส่งออกจะหดตัวถึง -9.2%YOY
 

สินค้าส่งออกสำคัญเกือบทุกหมวดมีการหดตัวสูง อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรยังขยายตัวได้

- การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบหดตัวในระดับสูงที่ -62.6%YOY ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและอุปสงค์ในตลาดรถยนต์ที่ซบเซา โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกตลาดสำคัญ
อาทิ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์
 
- ด้านมูลค่าส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอื่น ๆ ล้วนมีการหดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก (-26.7%YOY), เคมีภัณฑ์ (-30.0%YOY), เครื่องใช้ไฟฟ้า (-31.7%YOY), เหล็กและผลิตภัณฑ์ (-35.1%YOY), เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (-37.0%YOY) และน้ำมันสำเร็จรูป (-42.4%YOY) ที่หดตัวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทั้งนี้สินค้าหมวดอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม (ไม่รวมทองคำ) หดตัวมากถึง -34.9%YOY 
 
- การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรพลิกกลับมาหดตัวสูงที่ -10.3%YOY หลังจากขยายตัว 5.8%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่หดตัวได้แก่ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป (-10.9%YOY) และน้ำตาลทราย (-25.4%YOY)
 
- อย่างไรก็ดี สินค้าเกษตรกรรมยังสามารถขยายตัวได้เป็นเดือนที่ 2 ที่ 14.1%YOY โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (8.0%YOY) ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง (149.8%YOY) และสุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง (797.7%YOY) ขณะที่สินค้าเกษตรบางประเภทยังหดตัว ได้แก่ ยางพารา (-42.0%YOY) และข้าว (-4.0%YOY)
 
- ด้านการส่งออกทองคำยังคงขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงที่ 735.1%YOY โดยมีตลาดสำคัญคือ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์
 
 

ด้านการส่งออกรายประเทศ มีเพียงแค่การส่งออกไปจีนที่ขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญอื่น ๆ ล้วนหดตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปยัง สหรัฐฯ EU15 และประเทศกลุ่มอาเซียน

- การส่งออกไปจีนขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ 15.3%YOY หลังจากขยายตัว 9.0%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้สดแช่แข็งและแห้ง และผลิตภัณฑ์ยาง
 
- การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ หดตัวสูงถึง -17.3%YOY หลังจากที่ขยายตัว 8.5%YOY (ไม่รวมการส่งกลับอาวุธ) ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่หดตัวได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ
 
- การส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัวสูงที่ -24.2%YOY หลังจากขยายตัวที่ 9.9%YOY ในเดือนเม.ย. สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
 
- การส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 พลิกกลับมาหดตัวที่ -27.9%YOY หลังจากขยายตัว 13.0%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าหลักที่หดตัวคือ อัญมณีและเครื่องประดับ และอากาศยานและส่วนประกอบ
 
- การส่งออกไปสหภาพยุโรป15 หดตัวต่อเนื่องในอัตราเร่งเป็นเดือนที่ 3 ที่ -40.0%YOY  สินค้าสำคัญ ที่หดตัว อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ
 
- การส่งออกไปตลาด CLMV ยังหดตัวสูงต่อเนื่องที่ -28.0%YOY หลังจากหดตัว -31.0%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์
 
- การส่งออกไปตลาดตะวันออกกลาง หดตัวในอัตราเร่งที่ -30.6%YOY โดยสินค้าหลักที่หดตัวคือ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และอัญมณีและเครื่องประดับ
 
ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -34.4%YOY โดยเป็นการหดตัวในทุกหมวดสำคัญ  ได้แก่ สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-26.1%YOY) หมวดสินค้าเชื้อเพลิง (-70.0%YOY) สินค้าทุน (-25.2%YOY) สินค้าอุปโภคบริโภค (-22.6%YOY) และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-39.7%YOY) ตามลำดับ ตามผลกระทบของมาตรการปิดเมืองในไทยและหลายประเทศทั่วโลก การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้การนำเข้าในช่วง 5 เดือนแรกของปี หดตัว -11.6%YOY

*   Implication

การส่งออกที่หดตัวระดับสูงในเดือนพฤษภาคมแสดงถึงผลกระทบที่ชัดเจนจาก COVID-19 ทั้งในด้านความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกและปัญหา supply chain disruption ที่เกิดจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ในหลายประเทศ โดย พบว่ามาตรการปิดเมืองในหลายประเทศมีความเข้มงวดมากสุดในช่วงเดือนเมษายนจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้น จึงค่อย ๆ มีการผ่อนคลายมาตรการ ดังนั้น จึงทำให้คาดว่าการส่งออกในระยะถัดไป จะมีแนวโน้มหดตัวน้อยลง เนื่องจากปัญหา supply chain disruption มีแนวโน้มคลี่คลายลง
 

แม้ว่าการส่งออกจะมีแนวโน้มปรับดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี แต่ EIC คาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จากหลายปัจจัยเสี่ยงที่ยังกดดันการฟื้นตัวของภาคส่งออก ได้แก่

1) เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผู้บริโภคในหลายประเทศทั่วโลกจะยังระมัดระวังในการใช้จ่าย รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่จะถูกกดดันจากยอดขายที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่งบดุลที่เปราะบางมากขึ้น และความไม่แน่นอนในระดับสูง โดยการส่งออกในระยะถัดไปอาจได้รับปัจจัยบวกบางส่วนจาก pending demand หลังจากที่มาตรการปิดเมืองในหลายประเทศมีแนวโน้มผ่อนคลายในระยะข้างหน้า แต่ผลบวกที่เกิดจะเป็นแค่ในระยะสั้น และอาจมีขนาดเล็ก เนื่องจากความต้องการสินค้าส่งออกของไทยยังถูกกดดันด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาและอยู่ในภาวะถดถอย รวมถึงความไม่แน่นอนของการระบาด COVID-19 ที่อาจกลับมาระบาดในระดับรุนแรงได้อีกครั้ง

2) ราคาน้ำมันที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันมูลค่าการส่งออกในภาพรวม เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกหลายประเภทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบ อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสินค้าจำพวก ปิโตรเคมี และสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันดิบหดตัวในระดับสูงย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าส่งออกในภาพรวม ซึ่งจะเป็นปัจจัยซ้ำเติมปริมาณส่งออกสินค้าที่ลดลงอยู่แล้ว ทำให้มูลค่าส่งออกมีแนวโน้มหดตัวเพิ่มขึ้น

3) ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กลับมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2020  ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงต่อนโยบายการค้าโลกที่ปรับสูงขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ และจีนลงนามข้อตกลงระยะที่ 1 เมื่อเดือนมกราคม 2020
จีนนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เพียง 45% ของเป้าหมายมูลค่าการนำเข้าที่ตกลงกันไว้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ กดดันจีนในด้านต่าง ๆ ทำให้ความเสี่ยงต่อนโยบายการค้าการลงทุนในระยะต่อไปกลับมาเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้สินค้า ที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามการค้าได้รับผลกระทบเพิ่มเติมในอนาคต
 

ในรอบประมาณการล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายน EIC ได้ปรับคาดการณ์ส่งออกหดตัวลดลงมาอยู่ที่ -10.4% จากเดิมคาด -12.9% ตามการส่งออกทองคำและอาวุธที่มีมากในช่วงที่ผ่านมา โดยหากพิจารณาการส่งออกที่หักลบผลของทองและอาวุธ[1] ในช่วง 5 เดือนแรกของปี พบว่ามูลค่าการส่งออกหดตัวถึง -9.2%YOY ซึ่งเป็นอัตราหดตัวที่สอดคล้องกับที่ EIC เคยคาดไว้ อย่างไรก็ดี ในช่วง 5 เดือนแรก การส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 386.1%YOY เช่นเดียวกับการส่งกลับอาวุธที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้มูลค่าการส่งออกรวมในช่วง 5 เดือนแรกหดตัวเพียง -3.7%YOY ดังนั้น จึงทำให้ EIC คาดว่าการหดตัวของมูลค่าส่งออกโดยรวมทั้งปี 2020 จะต่ำกว่าที่เคยคาดไว้มาอยู่ที่ -10.4%

ทั้งนี้ต้องมีการติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด หลังตัวเลขเร็ว (High frequency data) เริ่มส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกกำลังผ่านจุดต่ำสุด (bottoming out) โดยจากการติดตามข้อมูลเร็วหลังมีมาตรการผ่อนคลาย การปิดเมือง รวมถึงมุมมองของหลายสำนักวิจัยระดับโลก พบว่ามีแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยโดยตรง โดย EIC จะมีการติดตามสถานการณ์และประเมินแนวโน้มภาคส่งออกของไทยอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป
 

บทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC : https://www.scbeic.com/th/detail/product/6912

ท่านผู้นำเสนอบทวิเคราะห์

ดร. กําพล อดิเรกสมบัติ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

พนันดร อรุณีนิรมาน ตำแหน่ง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

พิมพ์ชนก โฮว ตำแหน่ง นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

EIC Online: www.scbeic.com
Line: @scbeic

บันทึกโดย : วันที่ : 25 มิ.ย. 2563 เวลา : 16:07:31
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 12:15 am