การตลาด
สกู๊ป โควิด-19 ทุบ ''อุตสาหกรรมโฆษณา'' เดือน พ.ค.วูบ 29% โรงหนังหนักสุดหาย 100%


ยังคงติดลบอย่างต่อเนื่องสำหรับอุตสาหกรรมโฆษณาของไทย หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เอจีบี นีลเส็น ประเทศไทย ออกมาระบุว่า อุตสาหกรรมโฆษณาของไทยมีการขยายตัวติดลบสูงถึง 29%  หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 7,241 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 10,164 ล้านบาท  โดยสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุด คือ สื่อโรงหนัง มีมูลค่าอยู่ที่ 0 ติดลบที่ 100% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 674 ล้านบาทเนื่องจากช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาโรงหนังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ จึงทำให้ติดลบสูงสุด

สื่อต่อมาที่ติดลบมากที่สุด คือ สื่อในอาคาร มีมูลค่าอยู่ที่ 41 ล้านบาท ติดลบอยู่ที่ 56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 93 ล้านบาท ตามด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าอยู่ที่ 255 ล้านบาท ติดลบ 55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 567 ล้านบาท  ต่อด้วยสื่อทีวี มีมูลค่าอยู่ที่ 4,028  ล้านบาท ติดลบ 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 5,926 ล้านบาท 
 
เช่นเดียวกับสื่อนอกอาคารและสื่อเคลื่อนที่ ที่มีมูลค่า 791 ล้านบาท ติดลบ 25% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 1,048 ล้านบาท และปิดท้ายที่สื่อวิทยุ มีมูลค่าอยู่ที่ 277 ล้านบาท ติดลบ 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 353 ล้านบาท ส่วนสื่อที่มีการเติบโตเป็นบวกมีเพียงสื่อเดียว คือ สื่ออินเตอร์เน็ต มีมูลค่าอยู่ที่ 1,849 ล้านบาท เติบโต 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 1,503 ล้านบาท  
 
 
สำหรับภาพรวอุตสาหกรรมโฆษณาในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา(ม.ค.- พ.ค.) มีการขยายตัวอยู่ที่ 43,502 ล้านบาท ติดลบ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า48,585 ล้านบาท โดยสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุด คือ สื่อโรงหนัง มีมูลค่าอยู่ที่ 1,422 ล้านบาท ติดลบ 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 3,067 ล้านบาท สื่อต่อมาที่มีการขยายตัวติดลบสูง คือ สื่อสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าอยู่ที่ 1,483 ล้านบาท ติดลบ 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 2,425 ล้านบาท 
 
 
สื่อต่อมาที่มีการขยายตัวติดลบ คือ สื่อในอาคาร มีมูลค่าอยู่ที่ 281 ล้านบาท ติดลบ 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 417 ล้านบาท สื่อวิทยุ มีมูลค่าอยู่ที่ 1,499 ล้านบาท ติดลบ 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 1,757 ล้านบาท สื่อทีวี มีมูลค่าอยู่ที่  24,758 ล้านบาท ติดลบ 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 28,057 ล้านบาท สื่อนอกอาคารและสื่อเคลื่อนที่ มีมูลค่าอยู่ที่ 4,815 ล้านบาท ติดลบ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 5,346 ล้านบาท ส่วนสื่อที่มีอัตราการเติบโตเป็นบวก คือ สื่ออินเตอร์เน็ต มีมูลค่าอยู่ที่ 9,224 ล้านบาท เติบโต 23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีมูลค่า 7,516 ล้านบาท   
 

ในส่วนของกลุ่มสินค้าที่มีการใช้งบในการซื้อสื่อโฆษณาเดือน พ.ค. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 มีอยู่ด้วยกัน  4 กลุ่มหลัก  คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) มีการใช้เม็ดเงินอยู่ที่  6,104 ล้านบาท ลดลง 19%  ตามด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง (Personal Care & Cosmetic) มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่ออยู่ที่ 5,603 ล้านบาท ลดลง 10%  ต่อด้วย กลุ่ม Media & Marketing มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่ออยู่ที่ 5,175 ล้านบาท ลดลง 2% และ กลุ่มยานยนต์ (Automotive) มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่ออยู่ที่ 2,707 ล้านบาท ลดลง 27% 
 
 
ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีการใช้งบในการซื้อสื่อโฆษณาเพิ่มขึ้นจากปี 2562 คือ กลุ่มยา (Pharmaceuticals) มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาอยู่ที่ 2,368 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 29%  และ กลุ่มสินค้าครัวเรือนในบ้าน (Household products) มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาอยู่ที่ 1,503 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 4% 
 
จากข้อมูลของ เอจีบี นีลเส็น ประเทศไทย ยังระบุอีกว่า บริษัทที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดของเดือนม.ค. -พ.ค. 3 อันดับแรก คือ บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ไทย) โฮลดิ้ง จำกัด  มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาอยู่ที่ 1,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ประมาณ  29% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา คือ ใหม่ ลักส์ ชำระล้างแบคทีเรียและผิวเนียนนุ่ม ทางสื่อทีวีมูลค่า 18 ล้านบาท รองลงมาคือซันซิล ไบโอติน คอมเพล็กซ์ 5เท่า ทางสื่อทีวีมูลค่า 17 ล้านบาท
 
อันดับ 2 เป็นของ บริษัท ทีวี ไดเร็ก จำกัด (มหาชน)  มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาอยู่ที่  1,019 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ประมาณ  39% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา คือ SKG ลำโพงกระเป๋าลากทางสื่อทีวีมูลค่า 47 ล้านบาท ตามด้วยเครื่องบดสับปั่น ซื้อ 1 แถม 1 ทางสื่อทีวีมูลค่า 34 ล้านบาท
 
 
อันดับที่ 3 เป็นของบริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาอยู่ที่ประมาณ  985 ล้านบาท  ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่ประมาณ  12% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนพ.ค. คือ คอร์ดี้ ทิเบตแอนด์ภูฏาน ซื้อ 1 แถม 1ทางสื่อทีวีมูลค่า 29 ล้านบาท รองลงมาคือเอส.โอ.เอ็ม. ไอ-แคร์ ดูแลสุขภาพดวงตา ทางสื่อทีวีมูลค่า 13 ล้านบาท
 
หลังจากภาครัฐออกมาประกาศมาตรการผ่อนปรนให้กับธุรกิจต่างๆแล้ว 4 ระยะ และกำลังจะเกิดระยะที่ 5 ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ เชื่อว่าหลายสื่อน่าจะเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น  โดยเฉพาะ สื่อโรงหนัง  ซึ่งถือเป็นสื่อที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจโรงหนังถูกประกาศให้ปิดกิจการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยอย่างหนักในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา
 
 
จากมาตรการผ่อนปรนที่เกิดขึ้น ทำให้หลายธุรกิจเริ่มผ่อนคลาย ส่วนเดืน มิ.ย.จะเริ่มกลับมาพลิกฟื้นได้มากน้อยแค่ไหนนั้นคงต้องรอดูข้อมูลในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. หากไม่มีการแพร่ระบาดรอบ 2 เกิดขึ้นในประเทศไทย เชื่อว่าอุตสาหกรรมโฆษณาของไทยในสิ้นปี 2563 นี้ น่าจะติดลบเป็นตัวเลขหลักเดียวได้อย่างแน่นอน เพราะตอนนี้หลายสินค้าเริ่มออกมาใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ เพิ่มขึ้นแล้ว
 

บันทึกโดย : วันที่ : 27 มิ.ย. 2563 เวลา : 11:23:48
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:26 am