การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ศบค.ต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน ไฟเขียวคลายล็อคดาวน์เปิด ผับ-บาร์ฯ 1 ก.ค.นี้ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 7 คน เดินทางกลับมาจาก อินเดีย-สหรัฐ


ศบค.ไฟเขียวคลายล็อคดาวน์เฟส 5 เปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด ตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้ พร้อมเปิดรับ 6 กลุ่มชาวต่างชาติเข้าไทยได้ พร้อมต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน ขณะที่ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีก 7 คน เดินทางกลับจากอินเดีย-สหรัฐ

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เช้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศบค. โดยได้ขอบคุณราชการ ทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการและประชาชนที่ทำให้ไทยได้ผ่านสถานการณ์ต่างๆได้ด้วยดี และมีการบูรณาการความร่วมมือในทุกภาคส่วน และ เน้นย้ำการใช้แพลตฟอร์มและแอป "ไทยชนะ" รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
 

ทั้งนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบการผ่อนคลายมาตรการระยะ 5 มีผลตั้งแต่ 1 ก.ค. 63 การผ่อนคลายหลักๆ ได้แก่ การอนุญาตให้เปิดศูนย์การค้าจนถึงเวลา 22.00 น. ส่วน ร้านสะดวกซื้อเปิด 24 ชม.

อนุญาตให้เปิดผับ บาร์ คาราโอเกะ ถึงเวลา 24.00 น.ทุกกรณี โดยต้องจัดเว้นระยะห่างตามที่กำหนด รวมถึงอนุญาตให้เปิดสถานบริการ อาบ อบ นวด โรงน้ำชา พร้อมจัดระบบติดตามและประเมิน และหากพบผู้ติดเชื้อจะมีบทลงโทษเจ้าของกิจการ ถือเป็นความรับผิดชอบ เนื่องจากการรักษาผู้ติดเชื้อต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

นอกจากนี้ที่ประชุม ศบค.ยังอนุมัติเพิ่มจุดผ่านแดนเพื่อการขนส่งสินค้าเพิ่มเติมตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ขยายกลุ่มบุคคลที่อนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรได้แก่

1.คู่สมรสและบุตรผู้ได้รับอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการ

2.ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีถิ่นฐานในราชอาณาจักร

3.คู่สมรสต่างชาติและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้มีสัญชาติไทย

4.ผู้ไม่มีสัญชาติไทยแต่ต้องการเข้ามารับการรักษาในไทยและผู้ติดตาม (เน้นบางโรค บางกลุ่ม)

5.นักเรียน นักศึกษาต่างชาติและผู้ปกครอง

6.ผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุุญาตเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษกับประเทศเป้าหมาย (ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง จีน )

"กลุ่มที่เข้ามาต้องมากักตัว 14 วันโดยต้องออกค่าใช้จ่ายในการกักตัวเอง "

พบตัวเลขการลักลอบเข้าเมืองคนต่างด้าว มีการจับกุมรวม 2,498 คนในช่วง 1 เดือน เมียนมามากที่สุด รองลงมาคือลาว กัมพูชา สะท้อนว่าไทยยังเบาใจกับสถานการณ์ไม่ได้ ดังนั้นประชาชนต้องร่วมกันสอดส่องดูแล เพื่อให้เกิดความมั่นใจและปลอดภัยกับคนในประเทศ

"ขอบชายแดนไม่มีห้องแล็บตรวจ ดังนั้นเราทุกคนต้องช่วยกันดูแล เพราะยังมีข่าวคนติดเชื้อจากต่างประเทศ ซึ่งเราเป็นห่วง และผอ.ศบค.ได้กำชับในเรื่องนี้"

  ที่ประชุมยังเห็นชอบขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน ตั้งแต่ 1-31 ก.ค.63 ถือว่ายังจำเป็น เพราะเป็นกฎหมายที่มีอำนาจในการป้องกันโรคมากกว่า พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ใช้ในการจัดทำระบบการติดตามตัว เฝ้าระวัง และการควบคุมโรค มีอำนาจควบคุมได้ในทุกกิจการ/กิจกรรม รวมถึงทำให้ภาพรวมการบูรณาการทำงานอย่างเป็นเอกภาพ

"การเข้าสู่ระยะ 5 สำคัญ เพราะเราผ่อนคลายเข้าภาวะปกติ และพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้จำกัดสิทธิ แต่เราต้องช่วยกันสอดส่องดูแลเพื่อสุขภาพ เพื่อชีวิตที่เป็นปกติ แต่เป็นวิถีใหม่ ยืดเวลาติดเชื้อให้นานที่สุด"

นพสุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 วันนี้ (29 มิ.ย. 63) มีผู้ติดเชื้อใหม่ 7 คน เดินทางกลับจากต่างประเทศ รวมยอดสะสม 3,169 ราย ขณะที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศติดต่อกันแล้ว 35 วัน ส่วนผู้รักษาหายแล้วรวม 3,053 ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 58 คน ไม่มีเสียชีวิตเพิ่ม

สำหรับผู้ป่วยใหม่ 7 คน ประกอบด้วย ผู้เดินทางกลับจากอินเดีย 6 คน เป็นหญิงไทย 3 คน อายุ 28, 31 และ 26 ปี ชายไทย 3 คน อายุ 42, 45 และ 61 ปี เดินทางมาจากอินเดียถึงประเทศไทยในวันที่ 23 มิ.ย.เข้าพักใน State Quarantine และตรวจหาเชื้อในวันที่ 26 มิ.ย.พบเชื้อ รวมทั้งพบว่า 3 คน มีอาการ เช่น ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น และหายใจลำบาก ส่วนอีก 3 คน ไม่มีอาการ

และผู้เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา 1 คน เป็นหญิงวัย 27 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. เข้าพักใน State Quarantine ตรวจหาเชื้อในวันที่ 28 มิ.ย.พบเชื้อ โดยมีอาการไอ เจ็บคอ

ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก แม้ไทยพบผู้ติดเชื้อ ทะลุ 10 ล้านคน เพิ่มขั้นกว่า 1 แสนคน โดยสหรัฐ บราซิล รัสเซีย มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ส่วนผู้เสียชีวิต 504,075 คน

"แม้เรามีผู้ป่วยใหม่ลดลงแต่ต่างประเทศยังเพิ่มขึ้น เราก็ต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยเพื่อนบ้านในอาเซียนยังมีเพิ่มขึ้นทั้งอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์"

แม้ขณะนี้ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ แต่การผ่อนปรนมาตรการต่างๆ โดยเตรียมผ่อนปรนระยะ 5 โดยรัฐบาลประเมินศักยภาพความพร้อมของโรงพยาบาลและจำนวนเตียงรองรับกว่า 20,000 เตียงน่าจะเพียงพอในกรณีไม่พบผู้ป่วยหนัก รวมถึงความพร้อมเวชภัณฑ์ และยา

สำหรับวัคซีน ไทยมีแนวบริหารจัดการวัคซีน 3 แนวทาง คือ วิจัยพัฒนาในประเทศ ได้มีการพัฒนา 20 ชนิดและอยู่ระหว่างการทดลอง คาดผลิตระดับอุตสาหกรรมและนำมาใช้ได้ในปลายปี 64 นอกจากนี้ยังทำความร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศ และจัดหา จัดซื้อนำมาใช้ในประเทศ

LastUpdate 29/06/2563 14:43:27 โดย : acnews
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:20 pm