เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.รายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมิถุนายน 2563


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและการประเมินภาวะเศรษฐกิจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563

ในการประชุมวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี ขณะที่ 3 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิม จากผลกระทบของการระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงกว่าคาดและรัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก แนวโน้มเศรษฐกิจไทยหดตัวส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและความเปราะบางด้านเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นว่าควรดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อให้มีประสิทธิผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริงได้ทันการณ์ ขณะที่กรรมการ 3 ท่านเห็นว่าควรรอประเมินผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกไปก่อนหน้า สำหรับประชุมวันที่ 24 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าประมาณการเดิมจากผลกระทบของการระบาดที่รุนแรงกว่าคาด แต่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ ที่สามารถควบคุมการระบาดได้ดีซึ่งรวมถึงไทยด้วย คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี รวมถึงมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดคลี่คลาย

คณะกรรมการฯ เห็นว่า ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนสูง จึงพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น นอกจากนี้ ในช่วงนี้ควรเร่งให้เกิด (1) การดูแล
สภาพคล่องในระบบการเงินที่มีเพียงพอในระดับมหภาคให้กระจายไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ (
2) การเร่งให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ในช่วงที่มาตรการเลื่อนและลดภาระหนี้ยังมีผลบังคับใช้ และ (3) มาตรการด้านอุปทานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวได้ในภูมิทัศน์ใหม่หลังการระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง อาทิ สร้างกลไกบริหารกำลังการผลิตส่วนเกิน ยกระดับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงาน และเร่งปฏิรูปกฎเกณฑ์ภาครัฐที่เป็นอุปสรรค

 

การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงิน

 

1. เศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงเนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการผลิต การจ้างงาน
การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการส่งออกที่หดตัวในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและประเทศ
คู่ค้าของไทยในเอเชีย จนทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย (
recession) ในปี 2563 คณะกรรมการฯ จึงปรับลดข้อสมมติอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 4.6 ในปี 2563 และกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 ในปี 2564 ทั้งนี้ ประเมินว่ายังมีโอกาสที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะหดตัวมากกว่ากรณีฐาน จากการระบาดของ COVID-19 ที่อาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาดหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ (second wave) ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินโลกที่อาจสูงขึ้นจากความเสี่ยงที่ภาคเอกชนและรัฐบาลบางประเทศมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นหรืออาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ การกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจกลับมารุนแรงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ความตึงเครียดระหว่างจีนและฮ่องกง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอาจขยายตัวมากกว่ากรณีฐาน หากการระบาดสิ้นสุดเร็วกว่าคาด หรือมาตรการภาครัฐของประเทศต่าง ๆ
ที่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าคาด

ภาครัฐทั่วโลกออกมาตรการการเงินการคลังเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก
การระบาดของ
COVID-19
โดยภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ภาคครัวเรือนและการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักดำเนินมาตรการทางการเงินอื่นนอกจากการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ ส่วนธนาคารกลางในภูมิภาคหลายแห่งผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารกลางหลายประเทศยังดำเนินมาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพในตลาดการเงินควบคู่กัน เพื่อดูแลสภาพคล่องในตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง

2. ภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทย

ภาวะการเงินไทยโดยรวมผ่อนคลายมากขึ้น สะท้อนจากการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงที่คำนวณจากอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะ 1 ปีข้างหน้า และยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ
ตลาดเกิดใหม่ สำหรับอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทยปรับลดลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล
ระยะสั้นปรับลดลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับลดลงน้อยกว่า ส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับชันขึ้น สำหรับส่วนต่างอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนกับพันธบัตรรัฐบาล (
corporate credit spread) ยังทรงตัวในระดับสูงหลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ปี 2563 เนื่องจากนักลงทุนยังกังวลต่อผลประกอบการของบางธุรกิจ ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงค่อนข้างมากสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูเพื่อการพัฒนาสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund fee: FIDF fee) การระดมทุนของภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นในภาคธุรกิจเพื่อเสริมสภาพคล่องและจากการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ของภาครัฐ ด้านเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. และดัชนีค่าเงินบาททยอยปรับแข็งค่าตลอดทั้งไตรมาสที่ 2 เนื่องจากประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ ประกอบกับมีแรงขายเงินดอลลาร์ สรอ. จากในประเทศ โดยเฉพาะจากการขายทองคำในช่วงที่ราคาทองคำปรับสูงขึ้นตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์ COVID-19 ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม

เสถียรภาพระบบการเงินไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวในปีนี้จากผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19 แม้เสถียรภาพด้านระบบสถาบันการเงิน ด้านต่างประเทศ และด้านการคลังยังเข้มแข็ง โดยเศรษฐกิจโลกที่อาจหดตัวมากกว่าคาดอาจส่งผลให้ (1) ราคาสินทรัพย์ในตลาดการเงินโลกปรับตัวแรง (2) เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนในหลายประเทศรวมถึงไทย และ (3) ตราสารหนี้ภาคเอกชนบางกลุ่มมีโอกาสถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็น non-investment grade

3. แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย

เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 8.1 มากกว่าที่ประมาณการไว้ในรายงานนโยบายการเงินฉบับก่อน และหดตัวมากในเกือบทุกองค์ประกอบยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐ เนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 รุนแรงกว่าที่คาดไว้และหลายประเทศรวมทั้งไทยต้องดำเนินมาตรการควบคุมการระบาด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายภาคส่วนทั่วโลกต้องหยุดชั่วคราวโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 การท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าของไทยจึงมีแนวโน้มหดตัวสูง ส่งผลต่อการบริโภคเอกชนผ่านรายได้และการจ้างงานที่ลดลง อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ลดลงส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวสูง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป จากการปรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพื่อ เร่งเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งเม็ดเงินเพิ่มเติมจากมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบ COVID-19 ระยะที่ 3 ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้และทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ตามการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ซึ่งจะเอื้อให้ ภาคการส่งออกสินค้า ภาคการท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศหดตัวน้อยลง สำหรับปี 2564 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 สูงขึ้นจากที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากผลของฐานในปี 2563 ที่ต่ำกว่าเดิม ประกอบกับภาครัฐมีแนวโน้มที่จะดำเนินโครงการกระตุ้นการจ้างงานและโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยจะต่ำกว่าระดับศักยภาพอยู่มาก

ประมาณการเศรษฐกิจไทยครั้งนี้มีข้อสมมติเพิ่มเติม ได้แก่ (1) ไม่มีการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงในไทย จึงสามารถทยอยเปิดประเทศตามมาตรการระเบียงท่องเที่ยว (travel bubble) ซึ่งเป็น การจับคู่ประเทศที่ปลอดภัยจาก COVID-19 เพื่อให้เดินทางระหว่างกันในบริเวณที่กำหนดได้ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และ (2) วัคซีนป้องกันโรคจะมีใช้กันอย่างแพร่หลายตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2564  

มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวแรงกว่าที่ประเมินไว้จากด้านปริมาณ
เป็นสำคัญ
สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่หดตัวแรง รวมถึงปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต (supply chain disruption) ในบางธุรกิจ ด้านราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มหดตัวจากราคาสินค้าที่เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันดิบเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การทยอยผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดในหลายประเทศจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าให้ทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2563 สำหรับปี 2564 คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะกลับมาขยายตัวจากทั้งด้านปริมาณที่จะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจและการค้าโลก และด้านราคาที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกโดยรวมมีแนวโน้มต่ำกว่าระดับก่อนการระบาดของ COVID-19 เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ การทำธุรกิจทั่วโลกภายใต้วิถีชีวิตใหม่หลังการระบาดคลี่คลาย อาจส่งผลให้บางอุตสาหกรรมไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เต็มที่

ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ จากการระบาดในต่างประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและลุกลามไปหลายประเทศมากกว่าที่คาด ทำให้รัฐบาลไทยมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการจำกัด การเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไปอีกระยะ และจะเริ่มทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากบางประเทศในรูปแบบระเบียงท่องเที่ยว (travel bubble) ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563

ประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2563 และปี 2564 เกินดุลอยู่ที่ 15.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และ 20.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ โดยประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2563 ลดลงจากประมาณการเดิม เนื่องจากดุลบริการขาดดุลมากขึ้นตามรายรับจากการท่องเที่ยวที่ลดลงมากเป็นสำคัญ สำหรับประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2564 ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าตามดุลการค้าและรายรับการท่องเที่ยวที่จะทยอยฟื้นตัว 

การใช้จ่ายภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจไทยในปี 2563 และช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยคาดว่ารัฐบาลจะเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ในช่วงที่เหลือ รวมทั้งปรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพื่อเร่งเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่าน พ.ร.บ. โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 และ การทบทวนโครงสร้างงบประมาณประจำปี 2564 อีกทั้งจะมีเม็ดเงินเพิ่มจากมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบ COVID-19 ระยะที่ 3 นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะช่วยประคับประคองภาคธุรกิจและรักษาการจ้างงานได้บางส่วน ทั้งนี้ รายจ่ายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวซึ่งจะช่วยเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะต่อไป  

การบริโภคภาคเอกชนในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 จากมาตรการควบคุมการระบาด รวมถึงรายได้ลูกจ้างนอกภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงมากและความเชื่อมั่นผู้บริโภคอ่อนแอ อย่างไรก็ดี การทยอยผ่อนปรนมาตรการควบคุมการระบาดจะเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มต่ำกว่าระดับก่อนการระบาดตลอดช่วงประมาณการ เนื่องจากครัวเรือนใช้จ่ายอย่างระมัดระวังจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ในระยะข้างหน้า ประกอบกับครัวเรือนมีฐานะการเงินที่เปราะบางขึ้นจากรายได้ที่ลดลงและหนี้ที่อยู่ในระดับสูง

การลงทุนภาคเอกชนในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าประมาณการเดิม เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่หดตัว รวมถึงกำลังการผลิตส่วนเกินที่อยู่ในระดับสูงทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่เลื่อนแผนการลงทุนใหม่ออกไป อย่างไรก็ดี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมีความคืบหน้าตามแผน โดยเฉพาะโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (public-private partnership: PPP) ทั้งในและนอกเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) สำหรับปี 2564 การลงทุนบางโครงการมีแนวโน้มดำเนินการได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล 

เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงโน้มไปด้านต่ำขึ้นกับผลกระทบของ COVID-19 เป็นสำคัญ โดยโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากกว่ากรณีฐานมาจาก

(1) เศรษฐกิจโลกอาจฟื้นตัวช้ากว่าคาดหรือเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง ซึ่งอาจทำให้การส่งออกสินค้าไทยได้รับผลกระทบมากกว่าคาด

(2) ธุรกิจและครัวเรือนมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น

(3) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่อาจล่าช้า

และ (4) ความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่ในไทยที่อาจนำไปสู่การใช้มาตรการปิดเมืองอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี โอกาสที่เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวสูงหรือหดตัวน้อยกว่ากรณีฐานมาจาก (1) ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ได้ผลมากกว่าคาด (2) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและโครงการ PPP จูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนมากกว่าคาด และ (3) ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตมาไทยมากขึ้นหลังจากที่ไทยสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดี

ประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 มีแนวโน้มติดลบมากขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคาพลังงานที่ปรับลดลงแรงตามกับทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สอดคล้องกับอุปสงค์ที่ลดลงจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกและกำลังการผลิตส่วนเกินของธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการลดภาระค่าไฟฟ้าและน้ำประปาของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับแรงกดดันด้านอุปสงค์ สำหรับระยะถัดไป อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยปรับเข้าสู่
กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทยอยปรับสูงขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คณะกรรมการฯ จึงประมาณการ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบที่ร้อยละ 1.7 และกลับมาเป็นบวกที่ร้อยละ 0.9 ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.0 และ 0.1 ในปี 2563 และ 2564 ตามลำดับ
ทั้งนี้ ในระยะข้างหน้า แนวโน้มเงินเฟ้อยังมีความไม่แน่นอนสูงจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกหลักการระบาดของ
COVID-19 ที่ส่งผลให้หลายสาขาอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่มาก รวมทั้งการกีดกันทางการค้าและความเสี่ยงด้าน
ภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจก่อให้เกิดการทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ (
deglobalization) ซึ่งในที่สุดจะส่งผลต่อห่วงโซ่
การผลิตโลกและราคาสินค้าอย่างมีนัยสำคัญได้


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ก.ค. 2563 เวลา : 15:51:24
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 3:42 am