เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Business Liaison Program (BLP): ร้อยเรื่องเล่า พันเรื่องราว เท่าทันเศรษฐกิจ


ธนาคารแห่งประเทศไทย มีกระบวนการในการดูแลเศรษฐกิจไทยที่ครอบคลุมทั้งระดับมหภาคผ่าน การติดตามตัวเลขทางเศรษฐกิจและระดับจุลภาคผ่านโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจ หรือที่เรียกว่า Business Liaison Program (BLP)

โดยมีการสัมภาษณ์ ภาคธุรกิจและลงพื้นที่จริงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างในแต่ละไตรมาส การจัดประชุมหารือในประเด็นที่มีนัยต่อเศรษฐกิจ โครงการผู้บริหาร ธปท. พบผู้ประกอบการในภูมิภาค ตลอดจนการศึกษาเชิงลึก ซึ่งข้อมูลจากการสัมภาษณ์และลงพื้นที่จริงได้เข้ามาเสริมให้การติดตามภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจของ ธปท. มีความรวดเร็วทันกาลและรอบด้าน รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจในระดับจุลภาคที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ

ซึ่งความรู้ความเข้าใจดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างมากต่อการดำเนินนโยบายการเงินท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงดังเช่นในปัจจุบัน ในระยะข้างหน้า ธปท. ยังคงมุ่งพัฒนาโครงการสัมภาษณ์ภาคธุรกิจอย่างไม่หยุดนิ่ง ทั้งการยกระดับการวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างความร่วมมือ กับหน่วยงานภายนอกเพื่อร่วมจัดทำผลสำรวจกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ รวมทั้งการสานสัมพันธ์กับธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกเพื่อพัฒนามาตรฐานระเบียบวิธีการสำรวจให้ทัดเทียมนานาชาติอยู่เสมอ

1. บทนำ
 
หนึ่งในหน้าที่หลักของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. คือการดูแลเศรษฐกิจของไทยให้มีเสถียรภาพและเติบโตได้ในระดับเหมาะสมกับศักยภาพของประเทศ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นผู้กำหนดทิศทางของนโยบายการเงินผ่านการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผ่านการกลั่นกรองพิจารณาข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ ธปท. นำเสนอในที่ประชุม

หลายท่านอาจเข้าใจว่า ธปท. ใช้งานเฉพาะข้อมูลตัวเลขสถิติอย่างเป็นทางการ ซึ่งบางครั้งข้อมูลเหล่านี้อาจไม่สะท้อนความรู้สึกที่ประชาชนและภาคธุรกิจประสบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลเศรษฐกิจที่ถูกเผยแพร่มักเป็นข้อมูลในระดับมหภาคที่เป็นภาพรวม จึงทำให้ไม่สามารถอธิบายถึงเศรษฐกิจในระดับจุลภาคที่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดได้ทั้งหมด อย่างไรก็ดีธปท. ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะกับตัวเลขเศรษฐกิจในระดับมหภาคเท่านั้น แต่ติดตามข้อมูลหลากหลายรูปแบบ ทั้งข้อมูลที่ดำเนินการจัดเก็บโดยหน่วยงานอื่น และข้อมูลปฐมภูมิที่จัดเก็บเองโดยมีข้อมูลแบบสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่สำคัญ คือ แบบสอบถามผู้ประกอบการเดือนละประมาณ 800 ราย ข้อมูลสำรวจความเชื่อมั่นครัวเรือนฐานรากทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง (Rural and urban areas) ที่ ธปท. ร่วมมือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจสำรวจความเชื่อมั่นของผู้จัดการสาขาธนาคารทั่วประเทศ ตลอดจนข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการลงพื้นที่เพื่อจับชีพจรของเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้เพื่อให้แน่ใจว่า กนง. รับทราบภาพสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่หลากหลายมิติและในทุกระดับ ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำ

การเข้าพบและสัมภาษณ์ผู้ประกอบการและการลงพื้นที่สำรวจเศรษฐกิจจริง เปิดโอกาสให้ได้รับข้อมูลเชิงคุณภาพที่สามารถสนับสนุนข้อมูลสถิติทางการและข้อมูลแบบสำรวจความเชื่อมั่น อีกทั้งช่วยให้เกิดความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม (Economic behaviors) ของทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังมีความรวดเร็วเท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจจริง ในรูปแบบที่การวิเคราะห์ข้อมูลผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ได้ บทความนี้จะอธิบายถึงบทบาทหน้าที่ในรูปแบบดังกล่าวซึ่งเป็นอีกมุมหนึ่งที่สาธารณชนอาจไม่ทราบนัก
 
II. โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจ (Business Liaison Program: BLP) การติดตามภาวะเศรษฐกิจผ่านการพูดคุยกับภาคธุรกิจเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของหลายธนาคารกลางทั่วโลก เช่นธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา (Federal Reserve Banks: FED) ออสเตรเลีย (Reserve Bank of Australia: RBA) แคนาดา (Bank of Canada: BOC) อังกฤษ (Bank of England: BOE) และสหภาพยุโรป (European Central Bank: ECB) เป็นต้น ซึ่งธนาคารเหล่านี้ได้มีการสำรวจ จัดเก็บ และใช้ข้อมูลดังกล่าว ประกอบการดำเนินนโยบายมาหลายทศวรรษ รวมถึงมีการรวบรวมข้อมูลที่ได้ เผยแพร่ออกมาเป็นรายงานทั้งในเชิงคุณภาพ เช่น The Beige Book ของ FED และในเชิงปริมาณตัวเลข เช่น The Agents’ Scores ของ BOE

การทำงานในระดับจุลภาคของ ธปท. เกิดขึ้นผ่านโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจ หรือ ที่เรียกว่า Business Liaison Program (BLP) ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นการส่งผู้แทนจาก ธปท. ไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบธุรกิจในสาขาต่าง ๆ รวมถึงสมาคมและองค์กรภาคเอกชน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อภาวะและแนวโน้มในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อนำมาประเมินภาพเศรษฐกิจ ร่วมกับข้อมูลระดับมหภาคที่เป็นภาพรวม โดยรูปแบบการทำงานในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบหลัก ดังนี้

1) การสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง โดยในแต่ละไตรมาส ผู้แทน ธปท. จากสำนักงานใหญ่ และสาม สำนักงานภาค มีการเข้าพบหรือโทรศัพท์เพื่อขอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการประมาณ 200 บริษัท ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ขอสัมภาษณ์เป็นประจำทุกปีเพื่อติดตามภาวะธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และ กลุ่มใหม่ ๆ เพื่อเป็นการกระจายกลุ่มตัวอย่างให้ มีความหลากหลาย สอดรับกับสถานการณ์หรือ การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในการกระจายกลุ่มตัวอย่างนั้น ได้ออกแบบให้ครอบคลุมและใกล้เคียงกับโครงสร้างเศรษฐกิจมากที่สุด ทั้งในมิติของอุตสาหกรรม ขนาด และพื้นที่ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างในโครงการ BLP ยังรวมไปถึงสมาคม องค์กรเอกชน และหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ที่สามารถให้ข้อมูลในลักษณะภาพรวมของอุตสาหกรรมได้อีกด้วย

ทั้งนี้ หากมีเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการติดตามข้อมูลเร็วผ่านการโทรศัพท์สัมภาษณ์ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที หรือมีการลงพื้นที่จริงให้ สามารถประเมินสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและรอบด้าน เช่น เหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ความล่าช้าของการเบิกจ่ายภาครัฐตาม พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ภาวะภัยแล้ง การปรับปรุง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ตลอดจนการออก พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เป็นต้น

2) การจัดประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น (roundtable) ในประเด็นที่มีนัยต่อเศรษฐกิจ โดยระดมความคิดเห็นจากตัวแทนบริษัท หน่วยงาน หรือสมาพันธ์/สมาคม/สภาต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ เช่นในปี 2562 ที่ผ่านมา ได้เชิญคณะผู้แทนจากสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับภาวะการบริโภคและการค้าปลีก รวมถึงมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นการบริโภค และร่วมหารือกับผู้แทนสภาแรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เรื่องภาวะตลาดแรงงานและรูปแบบการจ้างงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนในช่วงหลังการปิดเมืองจากสถานการณ์ COVID-19 ได้เชิญผู้แทนแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบหารือเกี่ยวกับภาวะและแนวโน้มความเป็นอยู่ของผู้ประกอบอาชีพอิสระและตลาดแรงงาน รวมถึงข้อเสนอแนะและมาตรการช่วยเหลือที่แรงงานต้องการจากภาครัฐ นอกจากนี้ ผู้บริหารของ ธปท. ได้เข้าร่วมประชุมกับสภาหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา นอกจากนี้ ยังได้ประชุมหารือถึงภาวะการลงทุนกับสมาคมการค้า/นักธุรกิจต่างประเทศ อาทิ หอการค้าญี่ปุ่นและอเมริกา โดยการจัดประชุมหารือเหล่านี้ นอกจากจะช่วยให้ ธปท. ได้รับข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้หลากหลายมุมมองในเวลาเดียวกัน จนกระทั่งนำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือนำไปเสนอต่อหน่วยงานภาครัฐอื่นได้แล้ว ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอกอีกด้วย

3) โครงการผู้บริหาร ธปท. พบผู้ประกอบการในภูมิภาค เป็นการหารือกับผู้ประกอบการเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. กับผู้ประกอบการภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับภาวะและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค รวมถึงการเยี่ยมชมบริษัทหรือลงพื้นที่ เพื่อให้เห็นการทำงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง โดยในแต่ละปี ธปท. จะมีการลงพื้นที่ในสี่ภูมิภาคหลัก ภาคละหนึ่งครั้ง ซึ่งในปี 2562 คณะทำงานได้ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เชียงใหม่ อุดรธานี และพระนครศรีอยุธยา

4) การศึกษาวิจัยเชิงลึก โดยใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ ทั้งในกลุ่มตัวอย่างรายไตรมาส หรือที่นอกเหนือกลุ่มตัวอย่าง โดยมีการศึกษาร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่จากแต่ละสำนักงานภาค และมีการสัมภาษณ์ในประเด็นเชิงลึกที่เฉพาะเจาะจงมากกว่าการติดตามภาวะเศรษฐกิจตามปกติ เพื่อศึกษาถึงแก่นแท้ของปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการศึกษาวิจัยเชิงลึกในหลายประเด็น เช่น ทัวร์ศูนย์เหรียญ ทุนจีนในภาคอสังหาริมทรัพย์และการเกษตร ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และพฤติกรรมการตั้งราคาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ เป็นต้น ทำให้ ธปท. เข้าใจถึงปัญหาทางเศรษฐกิจมากขึ้น จึงสามารถจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและสื่อสารไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้

รูปแบบการทำงานในโครงการ BLP มีความหลากหลาย เอื้อให้เกิดการสร้างเครือข่ายผ่านความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกภาคส่วน และทำให้ได้รับข้อมูลที่เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจจริง โดย ธปท. มีการดำเนินการด้านธรรมาภิบาลข้อมูลอย่างเข้มงวด ข้อมูลที่ได้รับถือเป็นความลับ และ ธปท. จะสรุปข้อมูลเป็นภาพรวมเพื่อเผยแพร่ในรายงานแนวโน้มธุรกิจเป็นประจำทุกไตรมาส และจะใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพประกอบการประชุมภาวะเศรษฐกิจรายเดือน และการประชุม กนง. อย่างต่อเนื่อง
 
III. ประโยชน์ของข้อมูล BLP และการประยุกต์ใช้ในงานของ ธปท.
 
การดำเนินนโยบายการเงินท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงจำเป็นต้องพึ่งพาการติดตามภาวะเศรษฐกิจที่รวดเร็วทันการณ์และรอบด้าน รวมทั้งมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจในระดับจุลภาคที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจด้วย ซึ่งข้อมูลที่ได้จากโครงการ BLP มีส่วนช่วยเสริมความรู้ความเข้าใจของ ธปท. ใน การติดตามและประเมินภาพเศรษฐกิจไทยหลาย ประการด้วยกัน ได้แก่

1) ใช้จับชีพจรเศรษฐกิจร่วมกับข้อมูลสถิติต่าง ๆ
 
ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ที่จัดทำและเผยแพร่โดย ธปท. และหน่วยงานอื่น อาทิ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Index: PCI) รายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของภาครัฐ และมูลค่าการนำเข้า ส่งออก เป็นต้น ถือเป็นหัวใจสำคัญของการติดตามภาวะเศรษฐกิจของ ธปท. เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวมีความแม่นยำและความน่าเชื่อถือสูงจากระเบียบวิธีการจัดเก็บข้อมูลที่ครอบคลุมกิจกรรมเศรษฐกิจได้เกือบทั้งหมด อย่างไรก็ดี ข้อมูลในลักษณะนี้ต้องอาศัยระยะเวลาในการกระบวนการจัดเก็บ ทำให้มีความล่าช้าในการเผยแพร่หนึ่งถึงสองเดือน ข้อมูลจากโครงการ BLP จึงเข้ามามีบทบาทเสริมภาพ การประเมินภาวะเศรษฐกิจในลักษณะม้าเร็ว เนื่องจากมีความเป็นปัจจุบันมากกว่า รวมทั้งผู้ให้สัมภาษณ์ยังสามารถบอกเล่าถึงมุมมองแนวโน้ม ในระยะข้างหน้าได้อีกด้วย

นอกจากประโยชน์ด้านการติดตามภาวะเศรษฐกิจรายเดือนแล้ว ข้อมูล BLP ยังเข้ามาช่วยประเมินสถานการณ์และผลกระทบเมื่อมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น อาทิ การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ผ่านมา ซึ่ง ธปท. ได้ติดต่อพูดคุยกับภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทำให้ได้ทราบว่าผลกระทบได้กระจายเป็นวงกว้างและรุนแรงไปในหลายกลุ่มธุรกิจ ไม่จำกัดเพียงแค่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวเท่านั้น แม้แต่ภาคการเกษตรก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน อาทิ มังคุดและลำไยที่อุปสงค์จากจีนลดลง รวมถึงภาคการผลิตที่เผชิญปัญหาทั้งด้านคำสั่งซื้อ ที่ลดลงและด้านการผลิตที่ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบจากจีน โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มผลิตยานยนต์ที่ในช่วงแรกมีวัตถุดิบคงคลังเหลือเพียงพอสำหรับการผลิตอีกเพียงหนึ่งถึงสองเดือนเท่านั้น อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญ คือ ภัยแล้งนอกฤดูกาลในช่วงกลางปี 2562 ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรเป็นวงกว้าง เจ้าหน้าที่ ธปท. ทั้งสำนักงานใหญ่และสำนักงานภาคจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและพูดคุยกับเกษตรกรในหลายจังหวัดเพื่อประเมินผลกระทบเบื้องต้น โดยได้นำข้อมูลจากการสัมภาษณ์มาประมวลร่วมกับข้อมูลสถิติทางการ ทำให้ ธปท. ประเมินขนาดและความรุนแรงตลอดจนระยะเวลาของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และใช้นำเสนอสำหรับการประชุม กนง. เพื่อจับชีพจรเศรษฐกิจไทยได้อย่างรวดเร็วทันการณ์

2) เติมช่องว่างของข้อมูลในการประเมินวัฏจักรเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง
 
 การพูดคุยกับภาคธุรกิจมีส่วนช่วยให้ ธปท. เข้าใจภาคเศรษฐกิจจริงได้ลึกซึ้งกว่าการวิเคราะห์จากตัวเลขสถิติเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะนำไปสู่ การตรวจจับสัญญาณสำคัญทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและด้านวัฏจักรเศรษฐกิจ

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ภาคธุรกิจช่วย แยกภาพของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างออกจากภาวะตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ในช่วงก่อนหน้า ที่เศรษฐกิจเติบโตชะลอลงพร้อมกับการจ้างงาน ในภาคการผลิตที่ลดลงตามไปด้วย ซึ่งหากมองจากตัวเลขสถิติเพียงอย่างเดียว อาจประเมินว่าการลดลงของการจ้างงานเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี จากการพูดคุยกับสมาคม และบริษัทขนาดใหญ่ในภาคการผลิตหลายแห่งทำให้พบว่าธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มมีการนำระบบอัตโนมัติ (Automation) เข้ามาใช้ในสายการผลิตมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและอัตรา การเปลี่ยนงานของพนักงาน (Turnover) ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อมาอาจไม่ได้เอื้อให้มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นมากดังเช่นในอดีต

นอกจากนี้ มีหลายครั้งที่การสอบถามภาวะธุรกิจได้นำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในประเด็นเชิงโครงสร้างที่สำคัญ อาทิ การสัมภาษณ์ภาคธุรกิจในช่วงปี 2562 พบว่ารูปแบบการจ้างงานของภาคการผลิตเปลี่ยนแปลงจากการจ้างประจำเป็นรายเดือนไปสู่ลักษณะรายวันหรือสัญญาจ้างมากขึ้น รวมทั้งกลุ่มที่เป็นสัญญาจ้างอยู่แล้วก็มีการปรับอายุสัญญาให้สั้นลง เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับเพิ่มหรือลดจำนวนแรงงานตามแนวโน้มคำสั่งซื้อที่ในระยะหลังมีความผันผวนมากขึ้นจากภาวะการค้าโลกที่ไม่แน่นอน ซึ่งโดยปกติการจ้างงานในลักษณะดังกล่าวจะพบมากในกลุ่มบริการร้านอาหารและโรงแรม แต่ในระยะหลังได้แพร่หลายไปในเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ ส่งผลให้ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น และอีกตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง เชิงโครงสร้างสำคัญที่ ธปท. ได้รับข้อมูลจาก การสัมภาษณ์ คือการรุกเข้ามาของกลุ่มทุนจีนและมีการนำบริษัทจีนเข้ามาทั้ง supply chain ในหลายกลุ่มธุรกิจมากขึ้นผ่านวิธีการทุ่มราคาเพื่อเจาะตลาด ซึ่งสามารถทำได้ง่ายเนื่องจากกลุ่มทุนจีนมีข้อได้เปรียบทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิต ที่ดีกว่าทำให้ตั้งราคาได้ต่ำกว่า และด้านเงินทุน ที่มากกว่าทำให้ทนการขาดทุนได้นานกว่า ดังนั้น ผู้ประกอบการของไทยโดยเฉพาะรายย่อยจึง ไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ ธปท. เร่งเดินหน้าร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เพื่อร่วมผลักดันนโยบายที่เหมาะสมกับ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากขึ้น

3) เสริมภาพการพยากรณ์เศรษฐกิจ
 
ธปท. มีการเผยแพร่ประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งข้อมูล BLP เข้ามามีบทบาทในแง่ของการสอบทานข้อสมมติและ ผลประมาณการ อาทิ การสัมภาษณ์สมาคมโรงแรมสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหลายแห่งทำให้ได้ทราบว่านักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาหลังเหตุการณ์เรือล่มในเดือน ก.ค. 2561 มีจำนวนวันพำนักและ การใช้จ่ายที่ต่ำกว่าช่วงก่อนหน้า ซึ่งข้อมูลนี้ช่วยให้การตั้งข้อสมมติเพื่อประมาณการการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวหลังเหตุการณ์เรือล่มเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการใช้ข้อมูล BLP เพื่อสอบทานผลการประมาณการอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อตัวเลขที่ได้จากแหล่งที่มาและแบบจำลองที่ต่างกันให้ผลที่ไม่สอดคล้องกัน1 เช่นการใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์บริษัทขนาดใหญ่ ในภาคการค้าเพื่อยืนยันตัวเลขประมาณการ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน เป็นต้น

4) ให้ภาพหรือข้อมูลที่ไม่มีการเผยแพร่
 
โครงการ BLP ของ ธปท. มีการพัฒนากระบวนการสำรวจทั้งในแง่ของกลุ่มตัวอย่างและรูปแบบคำถามอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเสริมช่องว่างในการวิเคราะห์เศรษฐกิจที่ตัวเลขทางสถิติยังไม่ครอบคลุม อาทิ ข้อมูลเศรษฐกิจฐานราก ที่ได้จากการสัมภาษณ์ธุรกิจร้านค้าปลีกท้องถิ่นและ การลงพื้นที่จริงเพื่อติดตามภาวะ รวมถึงข้อมูลสำรวจความเชื่อมั่นของครัวเรือนฐานรากที่สอบถามจากผู้จัดการสาขาธนาคาร (Relationship Manager Sentiment Index: RMSI) รายเดือนที่เกิดจากความร่วมมือกับธนาคารออมสินและและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผ่านโครงการ BLP ขณะที่ข้อมูลทางสถิติยังให้เพียงภาพการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมเท่านั้น สำหรับการประเมินภาวะธุรกิจขนาดกลางและ ขนาดเล็ก SME ธปท. ได้ติดตามและพูดคุยกับสมาคมภาคเอกชนในสาขาต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เห็นภาพของธุรกิจ SME ที่อาจมีความแตกต่างไปจากภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม นอกจากนี้ ในระยะหลังผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์มากขึ้นผ่าน E-Commerce Platform และ Online Travel Agency (OTA) ที่ตัวเลขสถิติและดัชนีชี้วัดการบริโภคและการท่องเที่ยวจากช่องทางดั้งเดิมอาจยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ ธปท. จึงหารือกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าวอยู่เป็นประจำเพื่อนำข้อมูลมาช่วยเสริมการประเมินภาพเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าข้อมูล BLP มีส่วนช่วยยกระดับการติดตามเศรษฐกิจในระดับจุลภาค รวมถึงเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจและดัชนีชี้วัดแบบดั้งเดิมยังไม่ครอบคลุมด้วย

5) เป็นช่องทางสื่อสารนโยบายกับภาคเอกชน
 
การออกไปพบปะพูดคุยกับภาคธุรกิจยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสารนโยบายของ ธปท. รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจซักถามเพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ ตลอดจนเสนอแนะนโยบายที่เหมาะสมในการลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจจากมุมมองของหน่วยเศรษฐกิจจริง ซึ่งเจ้าหน้าที่ ธปท. จะมีการนำเสนอนโยบายที่ได้รับการเสนอแนะจากภาคธุรกิจเหล่านี้ให้กับผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ

ในช่วงที่มีเหตุการณ์เร่งด่วนเช่นเหตุการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบ เป็นวงกว้าง ธปท. ได้มีการพูดคุยกับหลากหลาย กลุ่มธุรกิจ ซึ่งนอกจากจะเพื่อประเมินผลกระทบของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อการเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อรับมือกับสถานการณ์ด้วย โดย ธปท. พยายามประสานกับสถาบันการเงินและหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ และผลักดันมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที

IV. ทิศทางของโครงการ BLP ในระยะข้างหน้า
 
ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการภาคเอกชนและลงพื้นที่ในโครงการ BLP นั้น มีประโยชน์อย่างยิ่งในการประเมินภาพเศรษฐกิจ ช่วยให้ รู้เร็ว (Timeliness) รู้ลึก (Insight) และ รู้รอบ (Well-round) ธปท. จึงพัฒนาโครงการ BLP อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการสำรวจและ การวิเคราะห์ข้อมูล โดยในระยะข้างหน้า จะมุ่งพัฒนาสามด้านหลัก คือ

1) ยกระดับการวิเคราะห์ข้อมูลสำรวจที่มีอยู่ด้วยวิธีใหม่ ๆ อาทิ การทำ Text Mining ด้วยเทคนิค Topic Modeling และ Sentiment Analysis ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลการสัมภาษณ์ภาคธุรกิจที่ ธปท. จัดเก็บไว้ตลอด 16 ปีที่ได้ดำเนินโครงการมา ซึ่งจะช่วยเพิ่มมุมมองการวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งมากขึ้น รวมทั้งประยุกต์ใช้วิธีวิเคราะห์ ทางสถิติในรูปแบบอื่น ๆ กับข้อมูลการสำรวจ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ นอกเหนือจากการวิเคราะห์ในรูปแบบดัชนีการกระจายตัว (Diffusion Index) ในปัจจุบัน อาทิ การวิเคราะห์ความแปรปรวน (Variance) ของความคิดเห็นภาคธุรกิจเพื่อใช้ตรวจจับสัญญาณการถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession) เป็นต้น

2) เดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนา การสำรวจภาวะความเป็นอยู่ของภาคธุรกิจ และประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อนบ้านที่มีศักยภาพในการเป็นคู่ค้าหลักให้มี ความครอบคลุมและรอบด้านมากขึ้น โดยเครือข่ายสำนักงานภาคของ ธปท. ได้สานสัมพันธ์กับหน่วยงานของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) รวมทั้งมณฑล ในตอนใต้ของประเทศจีน ด้วยการเข้าร่วมงานประชุมสัมมนาที่จัดโดยหน่วยงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนข้ามแดน และความเคลื่อนไหวด้านแรงงานระหว่างกัน นอกจากนี้ ธปท. จะเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพิ่มเติมผ่านโครงการ BLP เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ดังเช่นที่ได้จัดทำการสำรวจความเชื่อมั่นของครัวเรือน ฐานรากร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่กล่าวไปแล้วข้างต้น โดย ธปท. อยู่ระหว่างการจัดทำ ผลสำรวจภาวะธุรกิจในภาคการค้าและกำลังซื้อ ของผู้บริโภค

3) มุ่งยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมนานาชาติ ผ่านการสานสัมพันธ์กับธนาคารกลางชั้นนำเพื่อสร้างความร่วมมือที่ดีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านระเบียบวิธีในการสำรวจภาคธุรกิจ รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจให้ทัดเทียมมาตรฐานนานาชาติ โดยเข้าร่วมงานประชุม Annual Conference on Central Bank Business Surveys and Liaison Programs (CBBS) เป็นประจำ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางชั้นนำจาก ทั่วโลกที่ดูแลโครงการสัมภาษณ์ภาคธุรกิจโดยตรง ซึ่งธนาคารกลางแต่ละแห่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพในทุกปี นอกจากนี้ ธปท. ยังได้เข้าร่วมการสำรวจภาคธุรกิจในระดับนานาชาติ (Global Survey) เป็นครั้งแรกในเรื่อง “พฤติกรรมการตั้งราคาของธุรกิจ” ในปี 2562 ที่ผ่านมากับ 19 ธนาคารกลางทั้งในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ อาทิ Reserve Bank of Australia (RBA) Sveriges Riksbank (ประเทศสวีเดน) และ Bank of Canada (BOC) เป็นต้น ในฐานะผู้นำของภูมิภาคเอเชียใน การนำเสนอหัวข้อและออกแบบข้อคำถามสำรวจ รวมถึงร่วมหารือกระบวนการสำรวจกับ Federal Reserve Bank of Atlanta ซึ่ง ธปท. วางแผนที่จะเข้าร่วมการสำรวจในประเด็นที่มีนัยต่อการดำเนินนโยบายด้านอื่น ๆ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย

V. บทส่งท้าย
 
การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะมีความท้าทายมากขึ้นจากความไม่แน่นอนที่มาจากปัจจัย ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้การติดตามและประเมินภาวะเศรษฐกิจด้วยตัวเลขทางสถิติเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอและครอบคลุม การใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ภาคธุรกิจประกอบการวิเคราะห์จึงจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวช่วยให้ ธปท. สามารถประเมินภาวะเศรษฐกิจได้รวดเร็วทันการณ์และรอบด้านมากขึ้น รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่อพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจในระดับจุลภาค ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ ทำให้ ธปท. สามารถดำเนินนโยบายเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

References:
 
Reserve Bank of Australia (2014), “The RBA's Business Liaison Program” Bulletin – September Quarter 2014
 
บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เพราะความช่วยเหลือและคำแนะนำจากที่ปรึกษา
 
ดร. จิตเกษม พรประพันธ์ คุณปราณี สุทธศรี คุณศิริพรรณ นาครทรรพ และดร. กิ่งกาญจน์ เกษศิริ
 
รวมทั้งทีม FAQ Editor ดร. สุรัช แทนบุญ และ ดร. นครินทร์ อมเรศ ผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้
 
บทความโดย : โดย ณัฐพล เลิศเมธาพัฒน์ และ ชนา กีรติยุตวงศ์

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ก.ค. 2563 เวลา : 17:30:05
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:17 am