เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.สรุป Media Briefing: Central Bank Digital Currency (CBDC)


ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างศึกษา ออกแบบ และพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ซึ่งต่อยอดจากการทดสอบการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) ในโครงการอินทนนท์ที่ผ่านมา โดยการต่อยอดนี้ เป็นการนำ CBDC ไปใช้ทดสอบกับภาคธุรกิจ โดยเริ่มจากการศึกษาและออกแบบระบบ CBDC เพื่อเชื่อมต่อกับระบบการบริหารการจัดซื้อและการชำระเงินระหว่าง บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กับคู่ค้า (Suppliers) ในห่วงโซ่อุปทาน โดยมี บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบดังกล่าวร่วมทดสอบ  

คุณวชิรา อารมย์ดี

การศึกษาครั้งนี้ จะทำให้ ธปท. เข้าใจถึงรูปแบบ ผลกระทบรวมถึงข้อจำกัดในการนำ CBDC ไปใช้ในภาคเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมกับภูมิทัศน์ของระบบการเงินยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต โดย ธปท. คาดหวังว่าระบบต้นแบบการชำระเงินดังกล่าว จะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินของภาคธุรกิจ การเตรียมความพร้อมในการทดสอบและพัฒนา CBDC ของ ธปท. ในครั้งนี้ สอดคล้องกับ ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก เนื่องจากเห็นว่าเทคโนโลยีมีศักยภาพที่ช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีต้นทุนถูกลงและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ (Distribution Ledger Technology: DLT) ที่สามารถช่วยสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินที่หลากหลาย นอกจากนี้ ธนาคารกลางต่าง ๆ ยังได้ให้ความสนใจในการพัฒนา CBDC สำหรับรายย่อยมากขึ้น เนื่องจากการเร่งพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน อาจลดทอนประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายทางการเงินและเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ อย่างไรก็ดี การนำระบบต้นแบบมาปรับใช้จริงนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาและพิจารณาผลกระทบในมิติอื่นๆอย่างรอบครอบ เช่น ข้อกฎหมาย เสถียรภาพของระบบ ความปลอดภัยในการใช้งาน หรือ ความพร้อมด้านเทคโนโลยีของผู้ใช้ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้เปิดเผยผลการทดสอบ CBDC สำหรับการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale CBDC) ในโครงการอินทนนท์ ทั้ง 3 ระยะ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

ระยะที่ 1 สร้างระบบการชำระเงินต้นแบบ โดยใช้เทคโนโลยี DLT ในการรองรับการโอนเงินในประเทศระหว่างสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ โดยเริ่มจากการแปลงเงินฝากของสถาบันการเงินที่นำมาฝากไว้ที่ ธปท. ให้อยู่ในรูปสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและโอนชำระเงินระหว่างกัน 

ระยะที่ 2 ต่อยอดจากโครงการในระยะที่ 1 โดยเพิ่มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Smart Contract เพื่อมาจำลองวงจรชีวิตของพันธบัตร (bond-life cycle) ตั้งแต่การแปลงพันธบัตรให้อยู่ในรูป Token เพื่อส่งมอบพันธบัตรและชำระเงินค่าพันธบัตรในเวลาเดียวกัน (Delivery Versus Payment: DVP) การจ่ายดอกเบี้ย ไปจนถึงการจ่ายคืนเงินต้นในวันที่พันธบัตรครบกำหนด รวมทั้งออกแบบระบบให้รองรับการซื้อขายพันธบัตรในตลาดรอง หรือนำพันธบัตรมาใช้เป็นหลักประกันสำหรับธุรกรรมซื้อคืน (Repurchase Agreement) นอกจากนี้ ระบบต้นแบบในระยะที่ 2 นี้ยังมีกลไกที่ช่วยตรวจสอบข้อมูล เพื่อช่วยป้องกันธุรกรรมการชำระเงินที่ต้องสงสัย (Fraud Prevention) รวมถึงตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อลดกระบวนการของสถาบันการเงินในการปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทของ ธปท.  

ระยะที่ 3 เชื่อมต่อกับระบบการชำระเงินในต่างประเทศผ่านการใช้ CBDC สำหรับการชำระเงินข้ามประเทศระหว่างสถาบันการเงินแบบโดยตรงถึงกัน (peer-to-peer) โดยมุ่งหวังที่จะลดกระบวนการปัจจุบันที่ต้องทำธุรกรรมผ่านหลายตัวกลาง เพื่อให้การทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศมีความรวดเร็วมากขึ้น ต้นทุนถูกลง และปลอดภัยสูง โดยโครงการระยะที่ 3 นี้ ทาง ธปท. และสถาบันการเงิน 8 แห่ง ได้ศึกษาและทดสอบร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA)  ซึ่งในขั้นตอนต่อไป ธปท. จะร่วมมือกับ HKMA และสถาบันการเงินสมาชิก เพื่อต่อยอดและขยายขอบเขตการทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้ CBDC เช่น การทดสอบการเพิ่มจำนวนธุรกรรมมากขึ้น หรือการทำธุรกรรมหลากหลายสกุลเงิน เป็นต้น 

ธปท. เชื่อมั่นว่ากระบวนการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินร่วมกับภาคธุรกิจจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเตรียมเข้าสู่โลกดิจิทัลทางการเงินในอนาคต โดย ธปท. ยังคงเปิดกว้างสำหรับภาคธุรกิจที่สนใจร่วมพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้างต่อไป


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.ค. 2563 เวลา : 18:51:40
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:27 am