การตลาด
สกู๊ป ''สินค้า'' เริ่มออกมาใช้ ''งบ'' หนุนอุตสาหกรรมโฆษณาเดือน มิ.ย.เริ่มฟื้น


เริ่มปรับตัวดีขึ้นมานิดนึง สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาของไทย ภายหลังศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ออกมาประกาศมาตรการผ่อนคลายเป็นระยะ โดยในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณามีอัตราการขยายตัวติดลบลดลงเหลืออยู่ที่  27.13% จาก 32.69% ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เม็ดเงินที่ไหลเข้าอุตสาหกรรมโฆษณาในเดือน มิ.ย. มีมูลค่าอยู่ที่ 6,603 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ค. ที่มีมูลค่า  5,933 ล้านบาท

แม้ว่าภาพรวมเดือนมิ.ย. จะปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถขยับการเติบโตให้ดีกว่า 6 แรกของปี 2562 ที่มีมูลค่ารวมสูงถึง 50,738 ล้านบาท เนื่องจาก 6 เดือนแรกของปี 2563 นี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณา มีมูลค่าเพียง 42,973 ล้านบาทเท่านั้น
 
รายงานข่าวจากเอจีบี นีลเส็น ประเทศไทย ระบุว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมโฆษณาในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563  มีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ประมาณ 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562  ที่มีมูลค่า 51,213 ล้านบาท ซึ่ง สื่อทีวียังคงเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดอยู่ที่ 57% ขณะที่ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในเดือนมิ.ย.ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  ติดลบอยู่ที่ประมาณ 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 
สำหรับสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุดในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คือ สื่อในอาคาร ติดลบอยู่ที่ประมาณ 71% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 28 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 97 ล้านบาท ตามด้วย สื่อโรงหนัง ติดลบอยู่ที่ประมาณ 60.13% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 252 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 632 ล้านบาท สื่อนิตยสาร ติดลบอยู่ที่ 51.16% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 42 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 86 ล้านบาท สื่อเคลื่อนที่ ติดลบอยู่ที่ 39.85%  หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 329 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 547 ล้านบาท 
 
 
สื่อหนังสือพิมพ์ ติดลบอยู่ที่ 39.70% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 240 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 398 ล้านบาท สื่อวิทยุ ติดลบอยู่ที่ 36.12% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 267 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 418 ล้านบาท สื่อเคเบิลทีวีและแซทเทลไลท์ทีวี ติดลบอยู่ที่ 32% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 117 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 174 ล้านบาท  สื่อนอกอาคาร ติดลบอยู่ที่ 31.66% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 421 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 616 ล้านบาท และสื่อทีวี ติดลบอยู่ที่ 27.25% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 4,318 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 5,935 ล้านบาท
 
ส่วนสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุดในช่วง 6 เดือนแรก คือ  สื่อโรงหนัง ติดลบอยู่ที่ประมาณ 54.74% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1,674  ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 3,699 ล้านบาท ตามด้วยสื่อหนังสือพิมพ์ ติดลบอยู่ที่ประมาณ 41.08% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1,407 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 2,388  ล้านบาท สื่อในอาคาร ติดลบอยู่ที่  39.88% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 309 ล้านบาท  ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 514 ล้านบาท สื่อนิตยสาร ติดลบอยู่ที่ 30.13%  หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 364 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 521 ล้านบาท สื่อเคเบิลทีวีและแซทเทลไลท์ทีวี  ติดลบอยู่ที่ 27.44% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 780 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 1,075  ล้านบาท 

สื่อเคลื่อนที่ ติดลบอยู่ที่ 22.87% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 2,404 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 3,117  ล้านบาท สื่อวิทยุ ติดลบอยู่ที่ 18.80% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 1,766 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 2,175 ล้านบาท  สื่อทีวี  ติดลบอยู่ที่ 14.14% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 28,413  ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 33,091  ล้านบาท และสื่อนอกอาคาร ติดลบอยู่ที่ 11.46% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 3,004 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 3,393 ล้านบาท
 
 
นอกจากนี้  ยังระบุอีกว่า กลุ่มสินค้าที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีอยู่ด้วยกัน 4 กลุ่มหลัก คือ
 
กลุ่มแรก คือ อาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) มูลค่า 7,153 ล้านบาท ลดลง -22% 

กลุ่มที่ 2 คือ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง (Personal Care & Cosmetic) มูลค่า 6,669 ล้านบาท ลดลง -10% 

กลุ่มที่ 3 คือ Media & Marketing มูลค่า 6,240 ล้านบาท ลดลง -2% และกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มยานยนต์ (Automotive) มูลค่า 3,081 ล้านบาท ลดลง -32% 
 
ในส่วนของบริษัทที่มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2020 ใน  3 ลำดับแรก  คือ
 
ลำดับที่ 1.บริษัท UNILEVER (THAI) HOLDINGS CO.,LTD. มูลค่า 1,738 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 17%  ด้วยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมาคือ ครีมนวดผมสูตรเซรั่ม เพียง 29 บาท ทางสื่อทีวีมูลค่า 13 ล้านบาท รองลงมาคือ ซันซิล และบรีส เอ็กเซล ช่วยขจัดคราบและแบคทีเรียทางสื่อทีวีมูลค่า 10 ล้านบาท
 
ลำดับที่ 2 เป็นของบริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน)  มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาคิดเป็นมูลค่า 1,271 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 48% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา คือ เครื่องบดสับปั่น ซื้อ 1 แถม 1 ทางสื่อทีวีมูลค่า 41 ล้านบาท รองลงมา คือ เครื่องบดสับปั่น ซื้อ 1 แถม 1 ทางสื่อทีวี มูลค่า 37 ล้านบาท
 
ลำดับที่ 3 เป็นของบริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,122 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 17% โดยแคมเปญที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา คือ ลดกระหน่ำกลางปี คอร์ดี้ ทิเบตแอนด์ภูฏาน เซ็ต 3 ขวด ทางสื่อทีวีมูลค่า 21 ล้านบาท รองลงมา คือ คอร์ดี้ ทิเบตแอนด์ภูฏาน ซื้อ 1 แถม 1 ทางสื่อทีวีมูลค่า 16 ล้านบาท 
 
 
จากแนวโน้มที่เริ่มดีขึ้นดังกล่าวหากไม่มีปัจจัยอะไรมาส่งผลกระทบเพิ่ม หรือการระบาดระรอก 2 ของโรคโควิด-19  ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรกอย่างแน่นอน เพราะขณะนี้หลายธุรกิจเริ่มออกมาทำการตลาด เพื่อกระตุ้นยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้เม็ดเงินเริ่มไหลเข้าอุตสาหกรรมโฆษณา แม้ว่าอาจจะชดเชยไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ออกมาทำอะไรเลย
 

LastUpdate 18/07/2563 11:44:08 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 1:45 pm