การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ไทยแลกเปลี่ยนประสบการณ์รับมือโควิด-19 ในเวทีโลก ชูหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยควบคุมโรคระบาด


หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สร้างความสามารถให้ประเทศไทยสามารถรับมือและควบคุมโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายกระดับความเข้มแข็งของระบบสุขภาพไทย ทำให้ระบบสุขภาพสามารถปรับตัวเมื่อพบวิกฤติ และตอบสนองต่อวิกฤตินั้นได้ทันท่วงที” นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าว

“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ กุญแจสำคัญที่จะสร้างความมั่นคงให้กับสุขภาพของประชากรโลก” นพ.ศักดิ์ชัย ให้ความเห็นดังกล่าวในระหว่างเวทีเสวนาออนไลน์ "Investing in Health: The Key to Building Back Better from COVID-19 and Accelerating Progress for UHC and Sustainable Development" หรือ “ลงทุนกับสุขภาพ: กุญแจสู่การพัฒนาระบบสุขภาพภายหลังยุคโควิด-19 การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการพัฒนาที่ยั่งยืน”
 

เวทีเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีแม่งานอย่างองค์การอนามัยโลก ร่วมกับกลุ่มเพื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสุขภาพโลก (Group of Friends of UHC and Global Health) ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้การประชุมด้านการเมืองระดับสูงในประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ

นพ.ศักดิ์ชัย ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จัดการโรคระบาดโควิด-19 ของประเทศไทย ซึ่งได้รับการจัดอันดับ 2 จาก 189 ประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 ได้ดีที่สุด จากดัชนีโควิด-19 ระดับโลก (Global COVID-19 Index) จัดทำโดยองค์กรของมาเลเซียและองค์การอนามัยโลก

“ความสำเร็จของประเทศไทยในการควบคุมโรคโควิด-19 เกิดจากการใช้นโยบายด้านสาธารณสุขและมาตรการทางสังคมร่วมกัน ได้แก่ การตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มข้น การจัดระบบเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อของรัฐบาลและท้องถิ่น ใช้ยุทธศาสตร์การสื่อสารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีการรณรงค์สร้างความรู้เรื่องโรคระบาดอย่างทั่วถึง” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ไทยรับมือโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมีกองทุนสุขภาพ 3 กองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมประชากรร้อยละ 99.8%  ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “บัตรทอง” กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

“ในการดำเนินงานของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราใช้หลักการ 3 ข้อในการจัดการโรคระบาด คือ ความเท่าเทียม ความมีประสิทธิภาพ และการมีส่วนร่วม”

นพ.ศักดิ์ชัยอธิบายว่า “ความเท่าเทียม” คือ การที่ทุกคนในประเทศไทย รวมทั้งชาวต่างชาติ สามารถเข้าถึงการตรวจเชื้อและการรักษาโรคโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

“ความมีประสิทธิภาพ” คือ การที่รัฐบาลไทยจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนสุขภาพต่างๆอยู่แล้วทุกปี เมื่อเกิดโรคระบาด จึงสามารถดึงงบประมาณไปใช้ควบคุมและจัดการโรค เช่น ทำการตรวจหาเชื้อ ติดตามผู้มีความเสี่ยง รักษาผู้ติดเชื้อฟรี

รวมทั้งยังมีการจัดสรรค่าชดเชยให้กับบุคลากรด้านสาธารณสุข ในกรณีที่ได้รับความเสียหายในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ นับว่าเป็นการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่คุ้มค่า ทำให้การรับมือโรคระบาดมีประสิทธิภาพ 

“การมีส่วนร่วม” นับว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ชุมชนเป็นส่วนสำคัญในที่ช่วยจัดการวิกฤติ โดยมีกองทุนส่งเสริมสุขภาพตำบล สนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนดำเนินกิจกรรมเฝ้าระวังและตรวจหาโรค รวมทั้งยังสามารถนำเงินไปซื้อหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ เพื่อแจกจ่ายให้สมาชิกชุมชนอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ งบประมาณบางส่วนยังนำไปสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งได้รับการชื่นชมว่าเป็น “ฮีโร่” ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของประเทศไทย

อสม.ทำหน้าที่หลายอย่าง ตั้งแต่ติดตามการเคลื่อนย้ายของประชากรกลุ่มเสี่ยง ตรวจเยี่ยมบ้านและดูแลสุขภาพสมาชิกในชุมชน รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

นอกจากนี้ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่าโรคโควิด-19 ยังกระตุ้นให้ภาคส่วนสาธารณสุขไทยปรับตัว เพื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
 

ยกตัวอย่างเช่น ความจำเป็นต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้หลายคนเห็นศักยภาพของระบบ Telemedicine หรือโทรเวชกรรม ซึ่งแต่เดิมมีเพียงโรงพยาบาลรัฐ สัดส่วนร้อยละ 1 ของโรงพยาบาลทั้งหมด ที่บูรณาการโทรเวชกรรมเข้ากับการให้บริการทางการแพทย์ สปสช.จึงมีโครงการที่จะขยายบริการโทรเวชกรรมให้ได้ร้อยละ 5 ภายในสิ้นปีหน้า

การปิดเมืองในช่วงโรคระบาด ยังทำให้ สปสช.และโรงพยาบาลทั่วประเทศ หันมาทดลองให้บริการส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์ถึงบ้านของผู้ป่วย รวมทั้งยังเร่งขยาย “โครงการรับยาใกล้บ้าน” ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับยาจากร้านยาชุมชนในเครือข่ายของโรงพยาบาล ลดเวลาเดินทางมาโรงพยาบาล

“โควิด-19 ยิ่งทำให้เราเห็นความสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นสุขภาพระดับโลก และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

“เราสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จากกันและกัน เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น หากเรามีเจตจำนงค์และความมุ่งมั่นร่วมกัน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกที่”

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ก.ค. 2563 เวลา : 17:14:52
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 12:19 am