การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
บทเรียนหลังโควิด-19 แนะ สปสช.ขยายขอบเขตกองทุนสุขภาพตำบลขับเคลื่อน Social Safety Net


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุม BREC meeting "ร่วมตอกย้ำความสำคัญระบบหลักประกันสุขภาพคนไทย" เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2563 โดยมีทรงคุณวุฒิด้านต่างๆร่วมอภิปรายถึงภาพของระบบสุขภาพและสังคมในยุคหลังโควิด-19 กันอย่างกว้างขวาง 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข กล่าวว่า สุขภาพที่ดีมีความเกี่ยวข้องกับทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการเมือง การงาน ครอบครัวหรือสังคม สุขภาพที่ดีคือพื้นฐานที่ดีที่สุดในการพัฒนาทุกภาคส่วน อย่าดูถูกว่าการเมืองเป็นเรื่องลบอย่างเดียวแต่สามารถช่วยในเรื่องการของบประมาณได้อย่างรวดเร็วด้วย และยืนยันว่าขอให้คณะกรรมการทุกคนมีความสบายใจว่าการเมืองจะไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำงาน จะไม่เอาเรื่องสุขภาพ ระบบสาธารณสุขมาแลกกับสุขภาพของประชาชน  
 

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ในส่วนของการจัดการเรื่องโควิด-19 ประเทศไทยได้จัดงบประมาณไว้เพื่อร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในต่างประเทศในการพัฒนาวัคซีน ทั้งนี้สร้างโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนหากมีการคิดค้นสำเร็จแล้ว วัคซีนจะต้องตกมาถึงประเทศไทยและสามารถผลิตในประเทศได้ เพราะหากไม่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก ต่อให้พัฒนาวัคซีนสำเร็จและมีเงินซื้อก็ใช่ว่าจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบให้ลงนามความร่วมมือในวันที่ 18 ส.ค. 2563 นี้ 

"ถ้าประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนไม่ได้ สิ่งที่เราทุ่มเท เสียสละให้ความร่วมมือในการควบคุมโรคจะล้มเหลวหมด ดังนั้นคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เราไม่ได้มอง เรามองว่าประชาชนต้องรอด ต้องเข้าถึงวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนของเรา"นายอนุทิน กล่าว 

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นประเด็นการสร้างสมดุลระหว่างด้านสุขภาพและเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 ว่าในสายสาธารณสุขเองมีทั้งสายเหยี่ยวที่ให้คุมเข้มทั้งหมดและสายพิราบที่ผ่อนปรนให้เศรษฐกิจได้หายใจบ้าง ที่น่าสังเกตคือขณะนี้แพทย์กับนักเศรษฐศาสตร์คุยกันรู้เรื่องแต่ไปคุยกับประชาชนยาก เช่น ที่จังหวัดระยอง เมื่อพบว่ามีผู้ติดเชื้อชาวต่างชาติในพื้นที่แล้ว Reaction แรงมาก ถึงขนาดยกเลิกทุกอย่างทุกทริป บางจังหวัดถึงขนาดไม่ให้คนจากระยองเข้าพื้นที่ ดังนั้นจะสื่อสารกับสังคมให้กลับมาสู่ในจุดที่เหมาะสมได้อย่างไร ตนคิดว่าประเด็นแรกต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าต่อให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศเรายังเอาอยู่  

ดร.สมชัย กล่าวอีกว่า มีอีกหลายประเด็นที่เรียนรู้จากโควิดและต้องขบคิดต่อ เช่น ประชาชนกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าปกติ รายได้ลดลงอย่างมาก  ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ เป็นสิ่งที่ต้องนำไปสู่การขบคิดต่อไปว่าถ้าหลังโควิดยังเป็นอย่างนี้อยู่จะมีการช่วยเหลืออย่างไร  

ประเด็นต่อมาคือการช่วยเหลือของภาครัฐเองก็ตกหล่น เช่น มีคนจำนวนหนึ่งที่ตกหล่นไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท รัฐอาจต้องปรับแนวคิดในการเยียวยา อาทิ ปรับเป็นแบบถ้วนหน้าหรือไม่ ถ้าห่วงว่าจะใช้งบเยอะก็อาจใช้วิธีคัดคนรวยออก ปัญหาการตกหล่นจะไม่เกิดขึ้น แนวคิดแบบนี้สามารถนำมาออกแบบสวัสดิการทางสังคมหลังช่วงโควิดได้ว่าทำแบบไหนที่ควรเป็นแบบถ้วนหน้า  

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการจ้างงาน ในช่วงเดือน เม.ย.ประมาณการจำนวนผู้ตกงาน 5 ล้านคน และคาดว่าสิ้นปีจะมีจำนวนคนตกงาน 4 ล้านคน จะเอาคนกลุ่มนี้กลับมาสู่ระบบอย่างไร กลุ่มในภาคธุรกิจท่องเที่ยวบริการจะทำอย่างไร ตรงนี้ยังไม่มีการคิดจากรัฐเพราะยังเน้นไปที่การเยียวยาอยู่ รวมทั้งกลุ่มที่เป็นแผลเป็นจากโควิด เช่น คนกลุ่มหนึ่งที่อายุเยอะ เรียนไม่สูง ไม่ได้กลับมาทำงานเพราะธุรกิจไม่จ้างแล้ว รัฐบาลจะมีนโยบายอย่างไร การพัฒนาทักษะแรงงานอย่างไร 

"อีกประเด็นคือเรื่องหนี้ครัวเรือน เชื่อว่าสิ้นปีนี้หนี้ครัวเรือนจะพุ่งกระฉุด เราจะแก้หนี้อย่างไร ปรับโครงสร้างหนี้อย่างไร ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ตอนโควิดสิ่งแวดล้อมกลับมาฟื้นฟู ทำให้เห็นว่าพฤติกรรมของมนุษย์มีผลกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ เราจะใช้ความตระหนักรู้ของคนเพื่อนำไปสู่นโยบายระยะยาวอย่างไร" ดร.สมชัย กล่าว 

ประเด็นสุดท้ายที่ ดร.สมชัยให้ความเห็นคือภาครัฐจำเป็นต้องปรับระบบการวางแผนงบประมาณ เพราะระบบในตอนนี้ไม่เอื้อให้เกิดการวางแผนงบประมาณเพื่อป้องกันความเสี่ยงซึ่งมีโอกาสเกิดไม่มากนักแต่ถ้าเกิดแล้วความเสียหายจะรุนแรง ที่ผ่านมาเคยมีการผลักดันเรื่องการเพิ่มความสามารถในการการติดตามสืบหากลุ่มเฝ้าระวังให้เพิ่มขึ้น 5 เท่า ปรากฎว่าหัวหน้าหน่วยราชการหลายหน่วยงานบอกว่าของบแบบนี้ไม่ผ่าน สะท้อนว่าระบบราชการไม่เอื้อต่อการวางแผนกลยุทธ์แบบนี้ ดังนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด กฎระเบียบ ประเพณีปฏิบัติต่างๆ ด้วย 

ด้าน ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นสอดคล้องในเรื่องระบบราชการที่ไม่สามารถของบเพื่อเตรียมการไว้ล่วงหน้าเพราะคิดว่าเป็นความสูญเปล่า เรื่องนี้ต้องทบทวนอย่างมาก แต่ผู้บริหารหน่วยงานราชการไม่มีใครกล้ารับความเสี่ยงนี้ ดังนั้นเรื่องนี้รัฐบาลอาจต้องเป็นฝ่ายคิดเป็นหลัก 

ศ.วุฒิสาร กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิดได้ขยายภาพความเหลื่อมล้ำของสังคมและผลกระทบที่เชื่อมโยงกันหลายมิติ ได้เห็นถึงเศรษฐกิจที่ถดถอย ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้น พบว่าทุนทางสังคมของไทยมีสูง ภาคประชาสังคมสามารถ absorb ปัญหาได้ การจัดการเชิงพื้นที่ก็เป็นเรื่องที่ตอบโจทย์มาก หลายพื้นที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเลยเพราะมีการจัดการในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้สามารถนำมาใช้กับการส่งเสริมป้องกันโรคและด้านเศรษฐกิจได้ แต่บทบาทของรัฐก็ยังมีความจำเป็นสูงมากในเรื่องการสื่อสารสังคม และใช้ข้อมูลข่าวสารตัดสินใจ ทำให้เกิดความมั่นใจของประชาชน สร้างสมดุลว่าจังหวะไหนควรกลัวแค่ไหน  

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นในตอนนี้ไทยยังเน้นที่เรื่องการประคับประคองสถานการณ์ ลดตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่สิ่งที่ไม่รู้คือในอนาคตจะมี Return เมื่อไหร่ อย่างไร จะไปกันต่อทางไหน มีวัคซีนแล้วต้องรักษาระยะห่างหรือไม่ ต้องทำงานจากที่บ้านหรือไม่  

"สังคมไทยควรทบทวนมาตรการ ทั้งด้านการควบคุมโรคและสุขอนามัย ความมั่นคงทางอาหาร ทักษะใหม่ๆที่ต้องการในอนาคต วิถีการทำงานแบบใหม่ โอกาสในการประกอบธุรกิจแนวใหม่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้ทุกคนเข้าถึง เราต้องการการจัดการพลังอาสาสมัคร การจัดการบุญ เช่น ตู้ปันสุข เริ่มไม่มีคนเอาของไปใส่ แปลว่าต้องการการจัดการให้เกิดความยั่งยืน และในพื้นที่ต้องสร้างความยั่งยืนของระบบ Social Safety Net หรือตาข่ายการคุ้มครองทางสังคม ซึ่ง สปสช.มีกองทุนสุขภาพตำบลเป็นต้นทุนที่ใหญ่มาก ถ้าทำงานแบบแค่ไม่ใช่แค่จ่ายเงินแต่ให้เป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมด้วย ขยับจากเรื่องสุขภาพไปสู่เรื่องสุขภาวะ ขยับกลุ่มเป้าหมายไปถึงกลุ่มที่หลุดจากระบบสังคม ทำงาน Synergy กับกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่มากขึ้น เชื่อว่าจะสร้าง Social Safety Net ได้ดี"ศ.วุฒิสาร กล่าว 

ด้าน นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย ฉายภาพแนวโน้มความเสี่ยงและความท้าทายในภาพรวมว่า ยุคหลังโควิด-19 โรคนี้อาจจะไม่หายไป แต่อาจอยู่แบบไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดวัคซีนกันทุกปีก็ได้ ส่วนตัวแล้วให้ความสำคัญกับเรื่องการส่งเสริมและป้องกันสุขภาพอย่างมาก โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของชาวโลกถึง 71% โดยโรคที่เสียชีวิตกันมากคือ โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจ 17.9 ล้านคน มะเร็ง 9 ล้านคน โรคปอด 3.8 ล้าน และ เบากหวาน 1.6 ล้าน ในจำนวนนี้ 15% ตายก่อนวัยอันควร และ 85% ของการตายจาก NCDs เกิดในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง หรือเรื่อง Air Pollution 91% ของชาวโลกอยู่ท่ามกลางอากาศที่ไม่ปลอดภัยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิต 7 ล้านคน ที่น่าสนใจคือ 29% ของมะเร็งปอดเกิดจากอากาศเป็นพิษโดยไม่ได้สูบบุหรี่เลย หพร้อมกับเน้นย้ำว่า โรค NCDs เป็นโรคที่ป้องกันได้ และจำเป็นต้องมีการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสุขภาพปฐมภูมิให้มากขึ้นกว่านี้ 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ส.ค. 2563 เวลา : 18:38:56
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 3:46 pm