การตลาด
สกู๊ป ผ่ายุทธศาสตร์ ''อาร์เอส'' ชูโมเดล ''Entertainmerce'' สู่เป้ารายได้หมื่นล้าน


ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของบริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) ที่ได้ออกมาประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ หลังจากดำเนินธุรกิจมาเกือบ 40 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่มีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่องค์กร “อาร์เอส” ก็จะมีการปรับโลโก้ใหม่เกือบทุกครั้ง  เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่มีการล้างภาพโลโก้เก่าของ “อาร์เอส” อย่างชัดเจน จากเดิมจะใช้สีฟ้าขาวเปลี่ยนเป็นสีดำพื้นขาว

ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมาจากอาณาจักรบันเทิงและธุรกิจเชิงพาณิชย์ย่านลาดพร้าวสู่บ้านหลังใหญ่ย่านเกษตร-นวมินทร์  ที่ยิ่งใหญ่โอ่โถงกว่าเดิม “อาร์เอส” ได้มีการเปลี่ยนโลโก้ธุรกิจไปแล้ว 6 ครั้ง และครั้งนี้ คือครั้งที่ 7 ซึ่งได้ "มารีน่า วิลเลอร์" กราฟฟิกดีไซเนอร์จาก Pentagram บริษัทออกแบบชั้นนำระดับโลก เป็นผู้ออกแบบโลโก้ให้ ด้วยการใช้แรงบันดาลใจที่ว่า "อาร์เอส” เป็นองค์กรใหญ่ที่ก่อให้เกิดธุรกิจมากมายผ่านแรงขับเคลื่อนที่สร้างสรรค์ และเป็นเจ้าของธุรกิจหลากหลายแบบ 
 
 
ดังนั้น โลโก้ใหม่ของ “อาร์เอส” จึงต้องสื่อความหมายได้ลึกซึ้ง มีความทันสมัย และมีนัยยะ ด้วยการนำความเป็นเอกลักษณ์และความแตกต่างของโมเดลธุรกิจที่ “อาร์เอส” มี คือ ‘Entertainmerce’ มาถ่ายทอดจิตวิญญาณ รูปแบบธุรกิจ ของ “อาร์เอส” ที่ถูกต้องและตรงกับความเป็น อาร์เอส มากที่สุด
 
หลังจากได้โลโก้ใหม่มาเรียบร้อย และมีการบ้านใหม่จากย่านลาดพร้าวสู่ย่านเกษตร-นวมินทร์ นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ บิ๊กบอสของอาร์เอสก็ออกมาประกาศยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจทันทีภายใต้โมเดล Entertainmerce เพื่อก้าวสู่เป้าหมายรายได้ 10,000 ล้านบาทในอนาคต
 
 
นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2563 นี้ถือเป็นปีแห่งการเริ่มต้นของ อาร์เอส กรุ๊ป ยุคใหม่ เริ่มจากการเปลี่ยนโลโก้ รีแบรนด์องค์กรอย่างเป็นทางการ และปรับโครงสร้างองค์กร ด้วยแนวคิดการทำงานแบบ Agile หรือมุ่งทำงานเป็นทีม เพื่อลดโครงสร้างและขั้นตอนที่ยุ่งยากในการทำงาน ภายใต้โมเดลธุรกิจ Entertainmerce ซึ่งเป็นการดึงศักยภาพ ความเชี่ยวชาญจากธุรกิจสื่อและธุรกิจบันเทิงในมือออกมาใช้ให้มากที่สุด ด้วยการสร้างคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์และน่าสนใจ เพื่อเปลี่ยนผู้ชมและผู้ฟังเป็นผู้ซื้อ
 
สำหรับแผนธุรกิจที่ “อาร์เอส” จะมุ่งเน้นเป็นหลักนับจากนี้  คือ  การ Synergy กันระหว่างกลุ่มธุรกิจในเครือ ที่สามารถควบคุมและบริหารงานได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งปัจจุบัน “อาร์เอส” มีธุรกิจที่อยู่ภายใต้การบริหารด้วยกัน 2 กลุ่มหลัก คือ 1. ธุรกิจคอมเมิร์ซ ประกอบด้วย อาร์เอส มอลล์ และ บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด และ 2. ธุรกิจสื่อและบันเทิง ประกอบด้วย สถานีโทรทัศน์ช่อง 8, คูลลิซึ่ม และ อาร์เอส มิวสิค
 
ในส่วนของกลุ่มธุรกิจคอมเมิร์ซ “อาร์เอส” จะใช้ “อาร์เอส มอลล์” เป็นเรือธงในการทำธุรกิจ ด้วยการนำเวลาโฆษณากว่าครึ่งของธุรกิจทีวี  คือ ช่อง 8 มาทำธุรกิจคอมเมิร์ซ  ซึ่งปัจจุบันธุรกิจดังกล่าวมีลูกค้ากว่า 1.4 ล้านราย และในไตรมาส 2 ที่ผ่านมามียอดขาย 586.2 ล้านบาท ส่วน “เอส มอลล์” ช่องทางออนไลน์ คาดว่าสิ้นปี 2563 นี้จะเติบโตที่ 80% 
 
ธุรกิจต่อมาที่ให้ความสำคัญ คือ “ไลฟ์สตาร์” บริษัทนี้ทำหน้าที่ผลิตสินค้าไลฟ์สไตล์ให้กับ “อาร์เอส” และสร้างรายได้ให้กับ “อาร์เอส มอลล์”  คิดเป็นสัดส่วน 60% จาก 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ S.O.M. Cordy Tibet & Bhutan, S.O.M. I-Kare และ S.O.M. CMAX โดยครึ่งปีหลังนี้  “อาร์เอส” มีแผนที่รุกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มเครื่องสำอาง อย่าง BT Cosmetic ของไบเตย อาร์สยาม และอาหารสัตว์เลี้ยง  เนื่องจากปัจจุบันตลาดรวมอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 40,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตสูงถึง 10% เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ทางด้านธุรกิจสื่อและบันเทิง ซึ่งก็คือ  “สถานีโทรทัศน์ช่อง 8” 
 
ปัจจุบันได้มีการปรับแผนธุรกิจใหม่ผ่าน 4 ขาหลักภายหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  คือ มีเดียสปอนเซอร์ 40% อีเวนต์ 10% ลิขสิทธิ์/ไลเซนส์ 20% และเอนเตอร์เทนเมิร์ซ 30% ซึ่งหลังจากนี้จะมีรายการใหม่ในรูปแบบเอนเตอร์เทนเมิร์ซ 1 รายการ คือ นายจ๋าทาสมาแล้ว ตอบโจทย์ธุรกิจอาหารสัตว์ และคอนเทนต์ต่างประเทศ คือ ราคาพารวย เริ่มออกอากาศช่วงไพรม์ไทม์ตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา
 
 
ส่วนธุรกิจคลื่นวิทยุอย่าง “คูลลิซึ่ม” จะเน้นการดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์แม่น้ำ 3 สาย คือ COOLfahrenheit 40% กับการเข้าถึงผู้ฟัง กทม.และปริมณฑลกว่า 2 ล้านราย COOL Live 30%  โดยในปี 2564 เตรียมจัด 10 คอนเสิร์ต และมิวสิกเฟสติวัล เพื่อเข้าถึงผู้คนกว่า 1 แสนราย และ COOL anything 30%  จะเป็นการทำตลาดกับแอปพลิเคชันและต่อยอดคอมเมิร์ซจากผู้ฟังสู่การเป็นผู้ซื้อ 
 
ขณะที่ธุรกิจ “อาร์เอส มิวสิค” ปี 2563 นี้จะใช้กลยุทธ์ มิวสิกสตาร์คอมเมิร์ซ ผ่าน 3 ค่ายเพลง  โดยในเดือน ต.ค.นี้ จะทำการเปิดตัวศิลปินใหม่ของทั้ง 3 ค่าย  คือ RSiam, Kamikaze และ Rose Sound  เพื่อขยายฐานผู้ชมและผู้ฟัง  นอกจากนี้  ยังถือเป็นการปัดฝุ่นธุรกิจเพลง ซึ่ง “อาร์เอส” มีแผนจะเข้ามาทำธุรกิจเพลงอย่างจริงจังอีกครั้ง  เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจอื่นๆ 
 
จากแผนการดำเนินงานดังกล่าว “อาร์เอส” คาดหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีรายได้ทะลุ 10,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน  ส่วนสิ้นปี 2563 นี้คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 4,800-4,900 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท ภายหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  โดยในส่วนของรายได้ดังกล่าว แบ่งเป็น ธุรกิจคอมเมิร์ซ 65% ทีวี 20-25% วิทยุ 10% และเพลง 5%
 
นายสุรชัย กล่าวปิดท้ายว่า อาร์เอสกำลังเข้าสู่ปีที่ 40 โดยธุรกิจเพลงเป็นจุดเริ่มต้นของอาร์เอส ที่ผ่านมาบริษัทได้ผ่านอะไรมามากมาย เป็นองค์กรที่มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากธุรกิจหลักเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ทรานส์ฟอร์มสู่ธุรกิจคอมเมิร์ช ที่เกิดจากการเรียนรู้จากความผิดพลาดต่อยอดสู่ความถูกต้อง ภายใต้กลยุทธ์ Entertainmerce ซึ่งเราต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ควรทำ ควรหยุด ควรช้า และควรเร็ว ภายใต้จังหวะในการทำธุรกิจที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งจากแผนการทำงานดังกล่าวอาร์เอสจะไม่กลัวเรื่องดิสรัปชันอีกต่อไป 
 

LastUpdate 22/08/2563 14:13:00 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 10:05 pm