การตลาด
สกู๊ป ''ซีอาร์จี'' ซื้อกิจการ ''บราวน์ คาเฟ่'' เสริมแกร่งธุรกิจอาหาร สู้วิกฤต


หลังจากออกมาประกาศว่าจะเดินหน้าซื้อกิจการธุรกิจอาหารที่มีศักยภาพในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ “ซีอาร์จี” ก็เดินหน้าซื้อกิจการธุรกิจอาหารต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความแตกต่างกันไป  โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา ซีอาร์จี ได้มีการจับมือกับบริษัท โออาร์ จำกัด(มหาชน) ในเครือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัทร่วมทุนดำเนินธุรกิจ คาเฟ่ อเมซอน ในประเทศเวียดนาม 

นอกจากนี้ ยังได้มีการนำแบรนด์ร้านอาหารของซีอาร์จีอย่างน้อย 2 แบรนด์ เข้าไปขยายตลาดในประเทศเวียดนามควบคู่ไปกับเปิดคลาวด์ คิทเช่น  เพื่อขยายลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพิ่ม เนื่องจากเวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพและมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งถือเป็นบริษัทแม่ของ ซีอาร์จี ก็ได้เข้าไปขยายธุรกิจในประเทศเวียดนามไว้อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นธุรกิจห้างสรรพสินค้า ธุรกิจดิสเคาน์สโตร์  ธุรกิจร้านกีฬา หรือธุรกิจเครื่องสำอาง เป็นต้น
 
 
จากความสำเร็จที่บริษัทแม่ได้รับดังกล่าว ทำให้ ซีอาร์จี เดินหน้าลุยขยายธุรกิจอาหารเข้าไปในประเทศเวียดนาม และเพื่อให้ธุรกิจอาหารมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ล่าสุด “โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน)” หรือ “CENTEL” ได้มีมติให้ “บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ CENTEL ถือหุ้น 100% เข้าไปลงทุนใน “บริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด” ดำเนินธุรกิจจำหน่ายของหวาน เบเกอรี และเครื่องดื่มภายใต้ชื่อ “บราวน์ คาเฟ่” (Brown Café)
 
การเข้าไปลงทุนในบริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด ดังกล่าว ซีอาร์จี ได้เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด จากผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 18,952 หุ้น และซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกเป็นจำนวน 28,976 หุ้น ซึ่งภายหลังจากซื้อหุ้นเพิ่มทุนแล้ว CRG จะถือหุ้นใน บริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด ทั้งสิ้นจำนวน 47,928 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ด้วยมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 65 – 70 ล้านบาท
 
หลังจากดำเนินการเข้าไปถือหุ้นเสร็จเรียบร้อย บริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด ได้มีการชี้แจงผลประโยชน์ที่ได้จะได้รับจากบริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด  ประกอบด้วย  ผลตอบแทนจากการดำเนินงาน การขยายการลงทุนไปในธุรกิจผลิต  การจำหน่ายอาหาร ของหวาน เบเกอรี่ และเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ Brown Café  ซึ่งผลประโยชน์ที่จะได้รับดังกล่าวเป็นไปตามกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจร้านอาหารของ ซีอาร์จี
 
 
สำหรับข้อมูลของบริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด นั้น  ปัจจุบันดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหาร ของหวาน เบเกอรี่ และเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ “บราวน์ คาเฟ่” (Brown Café)  โดยปัจจุบันมีจำนวนร้านบราวน์ คาเฟ่ เปิดให้บริการประมาณ 11 สาขา ในจำนวนดังกล่าวเป็นสาขาที่บริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท เป็นเจ้าของเองจำนวน 10 สาขา ส่วนที่เหลืออีก 1 สาขา  เป็นสาขาที่ให้สิทธิ์ในการบริหารกับพันธมิตรที่ซื้อแฟรนไชส์ร้านบราวน์ คาเฟ่ และก่อนที่ ซีอาร์จี จะเข้ามาซื้อกิจการ บริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด ได้มีการเซ็นสัญญาให้สิทธิ์การบริหารร้านบราวน์ คาเฟ่ ให้กับผู้ประกอบการรายหนึ่งในประเทศมาเลเซีย
 
จากการเข้าซื้อกิจการร้านบราวน์ คาเฟ่ ดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันปัจจุบัน ซีอาร์จี มีเครือข่ายธุรกิจร้านอาหารรวมประมาณ 17 แบรนด์  ประกอบด้วย ร้านมิสเตอร์โดนัท (Mister Donut), ร้านเคเอฟซี (KFC), ร้านอานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s), ร้านเปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch), ร้านชาบูตง (Chabuton), ร้านโคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery), ร้านไทยเทอเรส (Thai Terrace), ร้านโยชิโนยะ(Yoshinoya), ร้านโอโตยะ (Ootoya), ร้านเทนยะ (Tenya), ร้านคัตสึยะ(Katsuya), ร้านอร่อยดี (Aroi Dee), ร้านสุกี้เฮ้าส์ (Suki House), ร้านซอฟท์แอร์(Soft Air), ร้านเกาลูน (Kowlune) ร้านสลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory) และร้านบราวน์ คาเฟ่ (Brown Café) ทำให้ปัจจุบัน ซีอาร์จี มีจำนวนสาขาร้านอาหารในเครือรวมกันประมาณ 1,058 สาขา
 
 
นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ “ซีอาร์จี” กล่าวว่า  ปี 2563 ถือเป็นปีที่ประเทศไทยเจอมรสุมลูกใหญ่ แต่เมื่อมรสุมลูกนี้ผ่านไปและสังคมไทยเป็นสังคมโซเชียล ธุรกิจอาหารจะผ่านจุดหนักหนาได้ เพราะจากข้อมูลการคาดการณ์ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 4.37-4.41 แสนล้านบาท หากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น การใช้จ่ายของลูกค้าจะกลับมา  โดยในส่วนของบริษัทเองก็ได้มีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจด้วยการหาพันธมิตรใหม่ๆ เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่ง  ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่บริษัทเลือกนำมาใช้ในการทำธุรกิจนับจากนี้ คือ “Greater Together Stronger Together”  เพราะการเดินไปคนเดียวในธุรกิจร้านอาหารในช่วงจังหวะแบบนี้เป็นเรื่องยาก ดังนั้น  บริษัทจึงต้องปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยง
 
ส่วนภาพรวมผลการดำเนินงานของ ซีอาร์จี ในสิ้นปี 2563 นี้ คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่กว่า 10,000  ล้านบาท แบ่งเป็นซื้อกลับบ้าน 45% จากช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 46%  ส่วนเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นเป็น 25% จากช่วงก่อนอยู่ที่ 12% ซึ่งที่ผ่านมาเดลิเวอรี่มีอัตราเติบโตสูงถึง 50% และในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มเป็น 30% เมื่อคลาวด์ คิทเช่นเปิดตัวมากขึ้น ส่วนการรับประทานอาหารในร้าน จากเดิมเป็นช่องทางหลักมีสัดส่วน 42% ปีนี้คาดว่าจะลดลงอยู่ที่ 30%
 
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น  ทำให้หลายฝ่ายออกมาคาดการณ์ว่าภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารจะขยายตัวลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมาศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2563 น่าจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 437,000 – 441,000  ล้านบาท  มีอัตราการเติบโตจากปี 2562 ที่ประมาณ 1.4- 2.4% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 430,762 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 มีมูลค่าอยู่ที่ 419,801 ล้านบาท  ปี 2560 มีมูลค่าอยู่ที่ 399,596 ล้านบาท และปี 2559 มีมูลค่าอยู่ที่ 383,417 ล้านบาท
 
ทั้งนี้  อัตราส่วนประมาณ 73% ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารที่มีประมาณ 437,000-441,000 ล้านบาท เป็นของผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก  ส่วนอีก 27% เป็นสัดส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่  นอกจากนี้ ในมูลค่าดังกล่าวแบ่งเป็นร้านอาหารที่มีสาขา 27% ร้านอาหารของผู้ประกอบการายกลางและเล็กที่ไม่มีสาขา 32% และร้านอาหารข้างทาง(street food) ที่มีหน้าร้าน 41%  แม้ว่าจะมีวิกฤตทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารส่วนหนึ่งหายไปจากตลาด เนื่องจากไม่สามารถแบกรับตันทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้  แต่ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารก็ยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรง เพราะท่ามกลางวิกฤตย่อมมีโอกาส
 

LastUpdate 04/09/2563 13:32:49 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 8:10 pm