การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สธ.ชี้แจงกรณีล่ามชาวไทยประจำกรุงริยาด ซาอุดิอาระเบีย เสียชีวิต


กระทรวงสาธารณสุขแสดงความเสียใจกรณีล่ามชาวไทยประจำกรุงริยาด ซาอุดิอาระเบีย เสียชีวิต นับเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 59 ของประเทศไทยจากโรคโควิด 19 ในทางระบาดวิทยา แต่ทางการแพทย์ถือว่าเสียชีวิตด้วยอาการปอดอักเสบจากแบคทีเรียดื้อยา เตรียมเสนอคณะกรรมการวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พิจารณาให้ความเห็นเพิ่มเติม


วันนี้ (18 กันยายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย ผศ.นายแพทย์พจน์ อินทลาภาพร แพทย์โรงพยาบาลราชวิถี และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการเสียชีวิตของล่ามชาวไทยที่ประจำกรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่โรงพยาบาลราชวิถี

นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของล่ามชาวไทยผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นชายไทยอายุ 54 ปี อาชีพล่ามของสำนักงานแรงงานประจำกรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย
เริ่มไม่สบายเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2563 มีอาการเล็กน้อย ตรวจพบเชื้อโควิด 19 ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 แต่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยรายนี้อยู่ในไลน์กลุ่มสำหรับให้คำปรึกษาดูแลสุขภาพคนไทยในต่างประเทศของกรมการแพทย์  ได้ให้คำแนะนำว่า หากมีอาการมากขึ้นให้ไปโรงพยาบาล กระทั่งวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลคิง ฟาฮัด เมดิคัล ซิตี้ และย้ายไปแผนกไอซียูในวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ผลการตรวจเชื้อโควิด 19 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ยังเป็นบวก ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผู้ป่วยหยุดหายใจ ต้องทำการกู้ชีพและใส่ท่อช่วยหายใจ

จากนั้นวันที่ 25 และ 30 สิงหาคม 2563 ผลการตรวจหาเชื้อโควิด 19 เป็นลบทั้งสองครั้งก่อนเดินทางกลับประเทศไทยด้วยเครื่องบินพยาบาล (Air Ambulance) ตามความต้องการของผู้ป่วยและญาติ โดยออกจากกรุงริยาด เวลา 20.30 น. ของวันที่ 1 กันยายน 2563 พร้อมทีมแพทย์และพยาบาลอินโดนีเซีย ระหว่างเดินทางได้ถอดท่อช่วยหายใจ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมงถึงประเทศไทยเวลา 01.36 น.ของวันที่ 2 กันยายน 2563 และรับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลราชวิถีโดยใช้เตียงแคปซูลเคลื่อนที่เพื่อป้องกันการสัมผัส วันที่ 3 กันยายน ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเหนื่อยมากขึ้น ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ทำการเพาะเชื้อทางแบคทีเรีย และให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำ ช่วงระหว่างรักษามีอาการทรงๆ และทรุดตัวลงในช่วงหลัง

ด้าน ผศ.นายแพทย์พจน์ อินทลาภาพร แพทย์โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า จากการตรวจประเมินผู้ป่วยพบปัญหาปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา จึงให้ยารักษาปอดอักเสบจากแบคทีเรียต่อเนื่อง โดยปอดด้านขวามีเงาทึบเป็นผลมาจากภาวะการอักเสบของปอดอย่างรุนแรงจากโรคโควิด 19 ก่อนหน้านี้  มีภาวะพังผืดในปอด ทำให้การหายใจค่อนข้างลำบาก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ คลื่นหัวใจมีความผิดปกติซึ่งอาจเกิดจากการที่หัวใจหยุดเต้น 1 ครั้งระหว่างอยู่ที่ซาอุดิอาระเบีย ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการบาดเจ็บ โดยคลื่นหัวใจผิดปกติต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง โดยระดับน้ำตาล
ในเลือดไม่ค่อยดี ส่งผลให้การดูแลรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยามีความยุ่งยากขึ้น ต้องเพิ่มยาควบคุมความดัน3 ชนิด ขณะที่สภาพร่างกายโดยรวมทรุดลงอย่างรวดเร็ว อวัยวะอื่นในร่างกายล้มเหลว ทั้งระบบเลือด ไตวายจากการติดเชื้อ จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิตในวันที่ 18 กันยายน 2563                                                            

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยโควิด 19 ลำดับที่ 3,430 ของไทย จากการสอบสวนโรคพบประวัติชัดเจนว่า ติดเชื้อโควิด 19 ที่ซาอุดิอาระเบียตั้งแต่กรกฎาคม 2563 การนำผู้ป่วยกลับประเทศไทยด้วยเครื่องบินพยาบาลมีระบบป้องกันการติดเชื้อ เมื่อถึงประเทศไทยอยู่ในระบบการดูแลรักษาที่มีมาตรฐาน ไม่พบผู้สัมผัสเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรายนี้นับเป็นผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 เป็นรายที่ 59 ของประเทศไทยในทางระบาดวิทยาและทางสถิติ เนื่องจากยังเป็นการรักษาต่อเนื่องจากการรักษาโรคโควิด 19 ในครั้งแรก แต่ในทางการแพทย์ถือว่าเสียชีวิตจากแบคทีเรียดื้อยา โดยจะเสนอให้คณะกรรมการวิชาการภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พิจารณาให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงการเสียชีวิตของผู้ป่วยรายนี้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ก.ย. 2563 เวลา : 17:47:06
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 5:15 pm