การตลาด
สกู๊ป ''ธุรกิจแอลกอฮอลล์'' ทรุดหนัก '''นายกฯน้ำเมา''' ออกโรง จี้รัฐแก้มาตรา 32


ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ยากลำบากพอสมควรสำหรับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์  เพราะนอกจากจะเจอกับอุปสรรคการห้ามโฆษณาสินค้าผ่านสื่อต่างๆแล้ว  ในปีนี้ยังเจอกับปัญหาผู้บริโภคชะลอกำลังซื้อ  และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ต้องหยุดการขายสินค้าชั่วคราวไปเกือบ 3 เดือนในบางพื้นที่  ซึ่งจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในปี 2563 นี้  น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 170,000 ล้านบาท  ติดลบประมาณ 60-70%  ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ต้องหันกลับมาวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น  โดยเฉพาะมาตรา 32 ที่ว่าด้วย การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เช่น การโพสต์ภาพเหล้าเบียร์พร้อมข้อความต่างๆ เพราะต้องการที่จะขายสินค้าเหล้าเบียร์นั้นๆ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ และห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกับการมีข้อความหรือพฤติการณ์ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้คนอื่นอยากจะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
 
 
นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวว่า  มาตรา 32 ที่นำมาบังคับใช้ในปัจจุบันค่อนข้างมีความล้าสมัย เนื่องจากถูกบังคับใช้มากว่า 12 ปี ตั้งแต่ปี 2551 จึงทำให้ไม่มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไป  
 
นอกจากนี้  ตัวกฎหมายยังมีความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ  เนื่องจากกฎหมายถูกออกโดยอาศัยการตีความและดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่มีมาตรฐานชัดเจน จึงทำให้มีการเปิดช่องการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และยังคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการสื่อสารและการแสดงความคิดเห็น  รวมไปถึงการเสียค่าปรับที่ถูกกำหนดไว้สูงอย่างไม่สมเหตุสมผล  คือ  ต้องจ่ายค่าปรับตั้งแต่ 50,000 – 500,000 บาท  
 
จากจำนวนค่าปรับที่ค่อนข้างสูงดังกล่าว ทำให้มีปัญหาในเรื่องของสินบนรางวัลเจ้าหน้าที่ และผู้แจ้งเบาะแส  เนื่องจากจะมีการแบ่งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้ถึงร้อยละ 80 ของค่าปรับ ในขณะที่จะมีเงินเข้ากระทรวงการคลังเพียงร้อยละ 20 ของค่าปรับเท่านั้น  ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของสินบนรางวัล อาจเป็นเหตุให้เกิดความไม่ชอบธรรมในกระบวนการยุติธรรมได้
 
 
นายธนากร กล่าวต่อว่า  ในส่วนของกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ที่อาจต้องปิดตัวลงเพราะไม่มีช่องทางในการทำธุรกิจและการแข่งขันในตลาด ทำให้เกิดการผูกขาด เปิดช่องให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจผิดกฎหมายสามารถใช้ประโยชน์จากการปิดกิจการของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง
 
พร้อมกันนี้ การใช้กฎหมายดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และไม่สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนการเป็นรัฐบาลดิจิทัล และส่งเสริมการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (digital economy) 
 
ส่วนการอ้างเหตุในการออกประกาศการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเป็นการป้องกันเยาวชนจากการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ถือเป็นการแก้ปัญหาที่เกินจำเป็น และถือว่าไม่เป็นการควบคุมแต่มุ่งกำจัดเพราะการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออนไลน์นั้นสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ซื้อ การทำธุรกรรมซื้อขาย ตลอดจนการจัดส่งสินค้าย้อนหลังได้ จึงไม่มีเหตุจำเป็นในการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้
 
ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐควรหันมาให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเยาวชนยังสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้จากช่องทางอื่นๆ แม้ไม่มีการจำหน่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์  ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทางสมาคม TABBA  จึงอยากให้ภาครัฐบาลหันไปให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการขายสินค้าออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย  จึงจะตรงจุดของการแก้ไขปัญหามากกว่า เช่น  การจำหน่ายสินค้าปลอม การจำหน่ายสินค้าหนีภาษี และการพนันออนไลน์ เป็นต้น
 
 
นายธนากร กล่าวว่า  ผู้ประกอบการยินดีจะปฏิบัติตามกฎหมาย หากกฎหมายนั้นเป็นธรรม ชัดเจน และเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยจะเห็นได้ว่าเราให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการปฏิบัติตามนโยบายในช่วงวิกฤตของการแพร่ระบาดโรคโควิด -19 แต่กฎหมายดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม เกินความจำเป็น อีกทั้งยังไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ และส่งผลเสียต่อหลายฝ่าย
 
เพราะฉะนั้น ทางสมาคม TABBA จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนแก้ไขกฎหมายมาตรา 32 ให้มีความชอบธรรมและชัดเจน และยกเลิกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยยึดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 77 ที่ระบุว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
 
นายธนากร  กล่าวปิดท้ายว่า  อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับผลกระทบจากข้อกฎหมายที่คลุมเครือและไม่เหมาะสมกับสภาพสังคม จนกระทบกับการดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลาหลายปี และเมื่อเกิดภาวะวิกฤตไม่ว่าจะเป็นการชะลอกำลังซื้อของผู้บริโภค หรือโรคระบาดอย่างโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้  ซึ่งปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์เป็นอย่างมาก ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องพิจารณาข้อกำหนด และหลักเกณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงทบทวนกฎหมายที่ประกาศออกมาบังคับใช้ เพื่อปรับเปลี่ยนกฎหมายให้ทันสมัยเหมาะสมกับสภาพการณ์  และทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 
 

LastUpdate 26/09/2563 12:04:20 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 1:27 pm