เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สศค. - รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังเดือนสิงหาคม 2563


สถานการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนสิงหาคม 2563 ปรับตัวดีขึ้นในหลายภูมิภาคเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก เป็นต้น สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19)


 
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม2563ว่า “สถานการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนสิงหาคม 2563 ปรับตัวดีขึ้น ในหลายภูมิภาคเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก เป็นต้น สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19)”โดยมีรายละเอียดดังนี้

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยในเดือนสิงหาคม 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนหลายตัวปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 28.9 10.4 และ 3.5 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.4 ต่อปีนอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ53.7 และ 73.0 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ทำให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังชะลอตัวโดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -32.3 และ -46.7 ต่อปี ตามลำดับแต่ชะลอตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -44.1 และ -51.4 ต่อปี ตามลำดับสำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ-0.4 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี 
 
 
เศรษฐกิจภาคกลางดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยในเดือนสิงหาคม 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกร ขยายตัวถึงร้อยละ 17.0 และ 15.4 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ขยายตัวได้ร้อยละ 166.8 ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 1,583 ล้านบาทสำหรับวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตแอลกอฮอล์ในจังหวัดชัยนาทและจากโรงงานรับจ้างสีข้าวและขัดข้าวในชุมชนท้องถิ่นที่อยู่รอบบริเวณโรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 49.5 และ 85.3 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ทำให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังชะลอตัวโดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -54.2 และ -66.6 ต่อปี ตามลำดับแต่ชะลอตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวอยู่ที่ร้อยละ-62.8 และ -70.2 ต่อปี ตามลำดับสำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.9 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -1.7ต่อปี

เศรษฐกิจภาคเหนือดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยในเดือนสิงหาคม 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนหลายตัว เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่  และรายได้เกษตรกรขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.6 4.2 และ 14.2 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 52.4 และ 66.5 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ทำให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังชะลอตัวโดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนหดตัว
อยู่ที่ร้อยละ -35.2 และ -59.3 ต่อปี ตามลำดับจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -35.9 และ -55.6 ต่อปี ตามลำดับสำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ-0.9ต่อปี

เศรษฐกิจภาคตะวันออกดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยในเดือนสิงหาคม 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนซึ่งสะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวได้ถึงร้อยละ 22.6 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวได้ดีอยู่ที่ร้อยละ 79.4 ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน 2,854ล้านบาท จากโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น อุปกรณ์รับส่งสัญญาณภาพและเสียงในจังหวัดชลบุรีเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งสองดัชนีเป็นเดือนที่ 4อยู่ที่ระดับ 53.8 และ 103.2 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ทำให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังชะลอตัวโดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -44.4 และ-74.8 ต่อปี ตามลำดับแต่ชะลอตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -51.5 และ -75.7 ต่อปี ตามลำดับสำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.8ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -1.6ต่อปี

เศรษฐกิจภาคตะวันตกดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยในเดือนสิงหาคม 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนซึ่งสะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 36.3 ต่อปี เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนดีขึ้นจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ที่กลับมาขยายตัวได้โดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในด้านความเชื่อมั่น พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 49.5และ 85.3 ตามลำดับส่วนหนึ่งเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังชะลอตัวโดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -21.3 และ -45.9 ต่อปี ตามลำดับจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -21.6 และ -41.6 ต่อปี ตามลำดับสำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.8 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -1.7 ต่อปี

เศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑลดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยในเดือนสิงหาคม 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของรายได้เกษตรกร โดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ15.7 ต่อปี จากราคาพืชผล อาทิ ข้าว พืชผัก และกล้วย ที่เพิ่มขึ้น สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวได้ดีอยู่ที่ร้อยละ 21.3 ต่อปี และเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการที่ขยายตัวได้ดีอยู่ที่ร้อยละ 45.1 ต่อปี ด้วยเงินทุนจำนวน6,308ล้านบาท จากโรงงานทำถุงพลาสติกในจังหวัดกรุงเทพมหานครเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 50.4 และ 85.3ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ทำให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังชะลอตัวโดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -65.7 และ -84.7 ต่อปี ตามลำดับแต่ชะลอตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -79.8 และ -90.0 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.5ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี

เศรษฐกิจภาคใต้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าโดยในเดือนสิงหาคม 2563 เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการขยายตัวของรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 16.8 ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 47.5 และ 81.9 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019ทำให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวยังชะลอตัวโดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือนหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -67.8 และ -87.5 ต่อปี ตามลำดับจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวอยู่ที่ร้อยละ-68.0 และ -87.1 ต่อปี ตามลำดับสำหรับในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -1.1 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ -1.8ต่อปี


รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม 2563

“เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2563 ยังคงชะลอตัว แต่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ภายหลังมาตรการผ่อนคลายการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19)”

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม 2563 พบว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม 2563 ยังคงชะลอตัว แต่มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การส่งออกสินค้า และการบริโภคภาคเอกชน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่าง ๆ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ภายหลังมาตรการผ่อนคลายการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19)” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 4.3 จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -3.8 สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ที่สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 14.8 จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -35.5 เช่นเดียวกันกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ร้อยละ 9.2 ต่อปี และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 51.0 หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (มาตรการผ่อนคลายฯ) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ประกอบกับผลของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในช่วงก่อนหน้า ช่วยให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 1.5 และ 13.1 จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และหดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -11.5 และ -0.5 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนในหมวดการก่อสร้างทรงตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี ในขณะที่การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์กลับมาลดลงร้อยละ -6.9 จากเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล และลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -14.1

เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -7.9 จากการขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มสินค้า 1) สินค้าอาหาร เช่น ข้าวพรีเมียม ข้าวกล้อง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องโทรสาร เป็นต้น และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาทิ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าโซลาร์เซลล์ เป็นต้น 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น ถุงมือยาง เป็นต้น และ 4) สินค้าเก็งกำไรและลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจ เช่น ทองคำ เป็นต้น อย่างไรก็ดี  การส่งออกยานยนต์ อัญมณีและเครื่องมือ (ไม่รวมทองคำ) ยังคงชะลอตัว ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น โดยการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ 15.2 ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปญี่ปุ่น และอาเซียน 9 ประเทศ หดตัวชะลอลงที่ร้อยละ -16.6 และ -13.5 ต่อปีตามลำดับ สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากประเทศคู่ค้าได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างต่อเนื่อง

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 84.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการผ่อนคลายฯ ทำให้ภาคเอกชนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ  สำหรับภาคเกษตร ที่สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดปศุสัตว์อาทิ ไก่เนื้อ ไข่ไก่ เป็นต้น ในขณะที่สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 ที่มีการระบาดทั่วทุกภูมิภาคของโลก ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยต่อเนื่องเป็นที่ 5 นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 แต่การท่องเที่ยวภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยหดตัวในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -32.4 ต่อปี

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 47.0 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ในระดับสูงที่ 254.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ก.ย. 2563 เวลา : 15:14:42
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:14 am