เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยท่ามกลางความไม่แน่นอน : ปรับกระบวนทัพ รับความท้าทาย


เศรษฐกิจไทยเผชิญความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก สร้างความท้าทายให้กับผู้วางนโยบายทั้งในด้านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ทำให้โจทย์สำคัญคือจะมีการบริหารจัดการเศรษฐกิจอย่างไรท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สูง 
 
 

ในงานวิจัยในครั้งนี้ได้มีการรวบรวมและสร้างดัชนีบ่งชี้ระดับความไม่แน่นอนไว้ 4 ด้านหลัก
 
1 ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจโลก โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มพุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น สงครามการค้าระหว่างไทยและจีน วิกฤติโควิด 19 การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ
 
2.ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจการเงินและการคลังของไทย ที่ประทุขึ้นเป็นครั้งคราว เช่นการเปลี่ยนแปลงทางขั้วการเมืองในการบริหารเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนของมาตรการภาครัฐในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดความขัดแย้งในการออกมาตรการดูแลเงินบาท
3. ความไม่แน่นอนด้านภาวะเศรษฐกิจที่พบว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง 3 ช่วง คือ ช่วงวิกฤติการเงินโลกในปี 2551 ช่วงน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และวิกฤติโควิด 19 ในปัจจุบัน
4.ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย ที่เกิดขึ้นรุนแรงหลายครั้ง ระหว่างปี 2549-2557 และกำลังมีแนวโน้มเกิดชึ้นอีกครั้งในปี 2563

เมื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยพบว่าความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นมีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี โดยภาคการลงทุนและภาคการส่งออกได้รับผลกระทบมากที่สุด 

อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนยกเว้นการส่งออกที่พบว่า ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทำให้ภาคเอกชนมีการปรับเพื่อให้ส่งออกได้มากขึ้นเพื่อผลกระทบของความต้องการในประเทศที่ลดลง ทั้งนี้ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นพบว่า ความไม่แน่นอนด้านภาวะเศรษฐกิจส่งผลกระทบมากที่สุด รองลงมาคือความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจการเงินและการคลัง ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยตามลำดับ

และยังพบว่าความไม่แน่นอนต่างๆ ในช่วง 14 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้จีดีพีหายไปประมาณ 4.9 ล้านล้านบาทซึ่งมากกว่างบประมาณปี 2564 ทั้งปี

สำหรับทางเลือกที่จะรับมือความไม่แน่นอนต่างๆ พบว่าการใช้นโยบายการเงินแบบเดิม ๆ มีประสิทธิลดลงอย่างชัดเจน ดังนั้นภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นโดยงานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ข้อมูลบริษัทกว่า 350,000 แห่งเพื่อศึกษาว่าแต่ละภาคธุรกิจมีความสามารถในการรับมือกับความไม่แน่นอนแตกต่างกันอย่างไร ทั้งนี้พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นดาวเด่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล บริษัทผลิตยาและเวชภัณฑ์ และอุตสาหกรรมการขายและรับซ่อมยานยนต์ สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนได้ดี ขณะที่อุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วง คือ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเลคโทรนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า 

สำหรับอุตสาหกรรมส่งออกส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทางลบจากความไม่แน่นอนต่างๆ ยกเว้นความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองที่ทำให้มีการส่งออกสูงขึ้นเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดจากความต้องการในประเทศที่ลดลง ในขณะที่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกส่งผลทางลบต่อการส่งออกโดยเฉพาะตลาดส่งออกหลัก แต่ผู้ส่งออกก็ปรับตัวโดยการเปิดตลาดใหม่ ๆในการส่งออก

ในด้านการลงทุน พบว่าความไม่แน่นอนทุกด้านส่งผลกระทบทางลบต่อการลงทุนของไทยทั้งหมด โดยความไม่แน่นอนระหว่างประเทศที่สูงขึ้นมากตั้งแต่ปี 2551 คาดว่าจะทำให้การลงทุนของไทยหายไป 30,000 ล้านบาท แต่ความไม่แน่นอนด้านภาวะเศรษฐกิจมีผลกระทบรุนแรงที่สุด และยังพบว่าหากเศรษฐกิจอาเซียนมีปัญหากลับมีการลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
 
 

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มโลหะแปรรูปและอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตยาและเวชภัณฑ์ได้รับผลกระทบน้อย 

ด้านผลกระทบต่อสภาพคล่องพบว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบต่อบริษัทที่มีสภาพคล่อง 5 อุตสาหกรรม คือ คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมนำเที่ยว การศึกษา และร้านอาหาร โดยในส่วนของธุรกิจร้านอาหารปกติจะเป็นอุตสาหกรรมดาวรุ่งแต่งานวิจัยพบว่าหากร้านอาหารเหล่านี้เจอผลกระทบจากความไม่แน่นอนที่รุนแรงอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ประสบปัญหาได้เพราะส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีที่มีเงินทุนไม่มาก

บทสรุป

ผู้วิจัยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย  3 ข้อ
 
1.ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั้ง 4 ด้าน โดยการลดผลกระทบความไม่แน่นอนบางด้าน เช่น นโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ควรเปลี่ยนแปลงบ่อย หรือหากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ควรจะมีการสื่อสารต่อสาธารณชนให้เข้าใจ รวมทั้งต้องมีการประสานงานด้านนโยบายระหว่างหน่วยงานร่วมกัน เพื่อลดความไม่แน่นอนนโยบายของรัฐบาล
 
2.การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมดาวรุ่ง พร้อมๆ กับการดูแลการโยกย้ายเงินทุนผ่านตลาดการเงิน การเพิ่มทักษะแรงงาน เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของความไม่แน่นอนต่าง ๆ เหล่านี้ไปได้ 
 
3.ในส่วนของเอกชนเองต้องเตรียมพร้อมด้านเงินทุนเพื่อรองรับความไม่แน่นอน และขยายไปประเทศต่าง ๆ ให้มากขึ้น ขณะที่ภาครัฐต้องช่วยให้เอกชนเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อช่วยลดความเสี่ยงกรณีเกิดความไม่แน่นอนขึ้น โดยรัฐบาลต้องเข้าช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับบริษัทที่ดี รวมทั้งช่วยกระจายความเสี่ยงเพื่อให้เอกชนสามารถส่งออกได้มากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี
 
ผศ. ดร.พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ดร.พิม มโนพิโมกษ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ดร.อาชว์ ปวีณวัฒน์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ชัยธัช จิโรภาส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ทศพล อภัยทาน ธนาคารแห่งประเทศไทย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ก.ย. 2563 เวลา : 18:05:15
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:38 am