เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สามทศวรรษของปัญหาความเหลื่อมล้ำและความท้าทายใหม่


ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน(SES) ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (2531-2562) ที่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช) จัดทำขึ้นในรูปของดัชนีความเหลื่อมล้ำ พบว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการบริโภคมีแนวโน้มลดลง แต่บทวิจัยฯ พบว่า แม้ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการบริโภคในภาพรวมจะลดลง แต่มีปัจจัยหลายประการที่น่ากังวลและอาจจะทำให้ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงมีความไม่ยั่งยืน รวมถึงวิกฤตโควิดที่ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ
 

ปัจจัยแรก แม้ว่าครัวเรือนทุกกลุ่มอายุจะมีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ลดลง แต่พบว่า กลุ่มเตรียมเกษียณหรืออายุ 55-69 ปี และครัวเรือนสูงอายุ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป มีการพึ่งพารายได้จากเงินโอนมากขึ้น ทั้งเงินช่วยเหลือจากรัฐและญาติพี่น้อง โดยพบว่ากลุ่มอายุ 55-59 ปี สัดส่วนที่พึ่งเงินโอนเป็นรายได้หลักเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7  เป็น 12 ในรอบ 30 ปีที่ผ่าน และกลุ่มอายุ 60-64 ปี มีสัดส่วนที่พึ่งเงินโอนเป็นรายได้หลักเพิ่มจากร้อยละ 10 เป็น 27 ซึ่งหากกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไปขาดรายได้จากเงินโอนจะทำให้ระดับความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ไม่ลดลงนัก ขณะเดียวกัน เงินโอนส่วนใหญ่ยังเป็นเงินช่วยเหลือของญาติพี่น้องในครัวเรือน มากกว่าเงินช่วยเหลือจากรัฐ การพึ่งพาเงินโอนจึงเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะเงินช่วยเหลือดังกล่าวมีความไม่แน่นอน รวมทั้งการเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย ทำให้ครัวเรือนสูงอายุมีมากขึ้น ขณะที่ครัวเรือนรุ่นหลังมีบุตรหลานน้อยลง ยิ่งทำให้การพึ่งพาลูกหลานมีความยากลำบากขึ้น
 
 

นอกจากนี้ ยังพบว่าครัวเรือนภาคเกษตรมีความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต โดยเฉพาะครัวเรือนภาคเกษตรที่ยากจน พบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ ไม่ได้เป็นตัวเงิน เช่น ผลผลิตที่ปลูกได้ ทำให้ครัวเรือนภาคเกษตรมีสภาพคล่องต่ำ  ขณะที่ครัวเรือนนอกภาคเกษตรแม้จะมีความเหลื่อมล้ำลดลง แต่กลุ่มที่มีระดับการศึกษามัธยมปลาย ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 28 เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่เติบโตมากนักในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
 
 
ปัจจัยอีกประการ คือ การบริโภค พบว่าทุกกลุ่มมีรายจ่ายหลัก คือ บ้าน อาหาร ค่าเดินทาง สำหรับกลุ่มรายได้ต่ำ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ 82 ของรายจ่าย ทำให้เมื่อเกิดปัญหาด้านรายได้หรือสูญเสียรายได้ไป กลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำจะต้องลดการบริโภคสินค้าจำเป็น ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นประมาณร้อยละ 62  ซึ่งหากรายได้ลดลง ก็สามารถลดค่าใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่น การท่องเที่ยวและสันทนาการ ลงได้ เป็นต้น 

สำหรับผลกระทบความเหลื่อมล้ำที่เกิดวิกฤตโรคโควิด 19 ผลวิจัยพบว่า แม้อัตราการมีงานทำในภาพรวมจะลดลงไม่มาก แต่เมื่อดูในรายละเอียดกลับพบว่า ผู้ที่ยังมีงานทำแต่มีชั่วโมงการทำงานเป็นศูนย์ เพิ่มจากประมาณร้อยละ 1.5 ในช่วงก่อนเกิดโควิด 19  เป็นร้อยละ 6.8   ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการมาตรการล็อคดาว์น โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ภูเก็ต ชลบุรี ฯลฯ  นอกจากนี้  กลุ่มที่ถูกตัดหรือลดเงินเดือนจะเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาระดับประถมและมัธยม ขณะที่ผู้ที่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาแม้จำนวนชั่วโมงทำงานจะลดลง แต่โดยเฉลี่ยมิได้ถูกลดเงินเดือน
 
 
 
และแม้ว่าทุกกลุ่มจะมีการบริโภคลดลงช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 แต่กลุ่มที่จบประถมและมัธยม เริ่มมีการลดเงินโอนช่วยเหลือญาติหรือพ่อแม่พี่น้อง ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงจะลดรายจ่ายที่เกี่ยวกับความฟุ่มเฟือยออก เช่น ท่องเที่ยว หรือดูหนังฟังเพลง เพราะฉะนั้น วิกฤติโรคระบาดโควิด 19 ทำให้คนจนได้รับผลกระทบที่มากกว่า ขณะที่คนรวยหรือผู้มีรายได้สูงสามารถได้ประโยชน์จากการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและกลายเป็นการออมแทน

บทสรุป

ความเหลื่อมล้ำในเชิงรายได้ที่ลดลงในตลอด 30 ปีที่ผ่านมา มาจากปัจจัยหลัก ๆ สองปัจจัย คือ หนึ่ง มีคนทำงานนอกภาคเกษตรมากขึ้นและความเหลื่อมล้ำนอกภาคเกษตรนั้นลดลง และสอง จากเงินโอนที่ลูกหลานโอนให้ญาติหรือพ่อแม่ ทำให้ครัวเรือนสูงอายุยังพอมีรายได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวล ก็คือการพึ่งพาเงินโอนอาจจะไม่ยั่งยืน ขณะที่กลุ่มทำงานนอกภาคเกษตร กลุ่มทักษะกลาง ๆ มีรายได้เติบโตไม่มากนัก นอกจากนี้ การเกิดโรคระบาดโควิด 19 ยังทำให้เห็นความเปราะบางของกลุ่มรายได้ต่ำ กลุ่มแรงงานทักษะต่ำ ประสบภาวะไร้งานแบบเต็มตัวและแบบแฝง เงินเดือนลดลงและไม่พอใช้จ่าย ขณะที่กลุ่มแรงงานทักษะสูงได้รับผลกระทบไม่มากนักและสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ในช่วงวิกฤติ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายหลายอย่างที่ดูแลกลุ่มคนรายได้ต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ รวมทั้ง การมีนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อลดค่าใช้จ่าย นโยบายเหล่านี้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และการบริโภคในปัจจุบัน  

แต่หากมองในภาพใหญ่ นโยบายเหล่านี้ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยในส่วนของครัวเรือนสูงอายุ เราควรจะหาแนวทางให้ครัวเรือนรายได้ต่ำสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เช่น การเปลี่ยนความคิดของทุกฝ่ายที่ว่า อายุ 55-60 ปี คือ อายุเกษียณของไทย ซึ่งนับว่าเร็วมากเมื่อเทียบกับอายุเกษียณของต่างประเทศ จึงต้องสร้างทางเลือกให้มากขึ้นให้กับคนที่ยังอยากทำงานต่อ ให้มีงานทำที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเป็นทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งด้านเวลาการทำงานและสถานที่ทำงาน สนับสนุนให้นายจ้างเพิ่มพูนทักษะให้เป็นที่ต้องการ หรือการที่ทั้งภาครัฐและเอกชนเอง ต้องเลิกแนวคิดการคัดเลือกผู้สมัครงานที่ว่า ผู้สมัครส่วนใหญ่ต้องมีอายุไม่เกิน 35 และปรับแก้กฏหมายเพื่อลดการกีดกันในตลาดแรงงานด้วยเกณฑ์อายุ

นอกจากนี้  ควรต้องมีการปรับแนวคิดเรื่องรายได้หลังเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการออม หรือปฏิรูประบบบำนาญ ให้ครัวเรือนทุกกลุ่มอาชีพ มีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอและแน่นอน และระบบมีความยั่งยืนทางการคลัง รวมทั้ง การใช้ Big Data ด้านตลาดแรงงานของหลายกระทรวง มาวิเคราะห์และออกแบบแนวนโยบายในการแก้ปัญหาที่ดียิ่งขึ้น
 
ผศ. ดร.เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู Universidad Carlos III de Madrid 
ผศ. ดร.ศุภนิจ ปิยะพรมดี  University College London 
รศ. ดร.พรพจ ปรปักษ์ขาม  National Graduate Institute for Policy Studies, Tokyo 
ดร.นฎา วะสี  สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 ก.ย. 2563 เวลา : 09:26:15
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 12:11 am