การตลาด
สกู๊ป เชนร้านอาหารดัง ดิ้น ''สู้วิกฤติ'' ขยายพอร์ต เจาะ ''สตรีทฟู้ด'' ขยายฐานลูกค้าเพิ่ม


หลังจากปรับตัวกันมาพักใหญ่สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ล่าสุดก็เริ่มมีการปรับตัวกันอีกรอบ ด้วยการพัฒนาร้านอาหารในรูปแบบสตรีทฟู้ดเข้ามาทำตลาด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย เพราะยังไม่มั่นใจว่าภาพรวมเศรษฐกิจของไทยจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งเมื่อใด เนื่องจากโรคโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างหนัก ส่งผลให้ปัจจุบันทั่วโลกมีจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 รวมกันกว่า 36 ล้านคนแล้ว

จากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารต้องออกมาปรับตัวในการทำธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค ล่าสุด 2 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG  และบริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ต้องออกมาปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการเปิดตัวแบรนด์ร้านอาหารน้องใหม่เข้ามาทำตลาดในรูปแบบสตรีทฟู้ด
 
 
 
น.ส.ชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เจ้าของแบรนด์ร้านบาร์บีคิวพลาซ่า ร้านจุ่มแซ่บฮัท  ร้าน Charna (ฌานา)  และร้าน Space Q (สเปซ คิว)  กล่าวว่า ภายหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดใหม่ ด้วยการขยายพอร์ตธุรกิจ (diversified) ทั้งในเรื่องช่องทาง ที่จะมีมากกว่านั่งทานในร้าน และการเปิดสาขาออกนอกมอลล์มากขึ้น รวมทั้งตัวสินค้าที่พัฒนาใหม่ๆ แบบอาหารพร้อมทานพร้อมปรุง และรูปแบบธุรกิจใหม่เกิดขึ้น  รวมไปถึงต้องวางกลยุทธ์การตลาดระยะสั้นแบบเดือนต่อเดือน เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2563 นี้ บริษัท ฟู้ดแพชชั่น ยอมรับว่า ไม่สามารถทำตามแผนงานเดิมที่วางไว้ได้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้น ในปีนี้จึงยังไม่มีการเปิดสาขาใหม่ ส่วนโรงงานที่ต้องปรับปรุงการผลิตก็ยังทำได้ไม่เต็มที่  เพราะยังคงต้องระมัดระวังค่าใช้จ่าย ซึ่งเบื้องต้นบริษัท ฟู้ดแพชชั่น คาดว่าจะกลับมาขยายธุรกิจได้ตามปกติในปี 2564  
 
 
อย่างไรก็ดี  แม้ว่าปีนี้บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จะยังต้องระมัดระวังในเรื่องของการลงทุนขยายธุรกิจ แต่ล่าสุดก็ได้มีการเปิดตัวธุรกิจแฟรนไชส์ “หมูทอดกอดคอ”  เพื่อช่วยคนไทยให้มีอาชีพ  ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ 6 พันธมิตร คือ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดีส ทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กรุงศรี คอนซูมเมอร์ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร จำกัด   โดยผู้ที่สนใจจะเข้ามาเปิดร้านหมูทอดกอดคอ  จะไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการสมัครแฟรนไชส์ไม่ว่าจะเป็น  การยกเว้นค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) การยกเว้นค่าสิทธิหรือการหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายรายเดือน (Royalty Fee) การยกเว้นค่าการตลาด (Marketing Fee/ Advertising Fee) และยกเว้นค่าฝึกอบรม
 
ในส่วนของโมเดลแฟรนไชส์หมูทอดกอดคอก็มีให้เลือกด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ  โมเดลที่ 1 (A) ชุดสร้างอาชีพ ในราคา 11,900 บาท จากราคาเต็ม 14,305 บาท เหมาะสำหรับพื้นที่ในร่ม โมเดลที่ 2 (B) ชุดสร้างฐานะราคา 32,900 บาท จากราคาเต็ม 36,720 บาท เหมาะสำหรับทุกพื้นที่ เคลื่อนย้ายได้ มีช่องเก็บของ แถมรับฟรี วัตถุดิบ พร้อมเปิดร้าน ส่งฟรี ถึงที่ตั้ง และโมเดลที่ 3 (C) ชุดสร้างรายได้ ราคา 59,900 บาท จากราคาเต็ม 64,380 บาท เหมาะสำหรับการตั้งประจำ แข็งแรงและปลอดภัย แถมรับฟรี วัตถุดิบ พร้อมเปิดร้าน ส่งฟรี ถึงที่ตั้ง
 
สำหรับเมนูหลักที่จะนำมาจำหน่าย คือ หมูสับทอดพริกสด หมูสับทอดกระเทียม หมูสามชั้นทอดกระเทียม และไก่ทอดกระเทียม ในราคาเริ่มต้น 25 บาท หรืออร่อยเป็นชุดในราคาประหยัด 30 บาท โดยภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะมีจำนวนร้านหมูทอดกอดคอ เปิดให้บริการไม่ต่ำกว่า 100 สาขา 
 
 
ด้าน นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG กล่าวว่า จากตัวเลขของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2563 คาดว่า จะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3.85-3.89 แสนล้านบาท หรือหดตัวประมาณ 9.7-10.6% จากปี 2562 เนื่องจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่สั่งอาหารดีลิเวอรี่มารับประทานในบ้านหรือที่ทำงานมากขึ้นแทนการนั่งรับประทานที่ร้านประกอบกับกำลังซื้อที่ลดลง
 
จากการแข่งขันที่รุนแรงและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว เช่นเดียวับ CRG ที่จะหันมาให้ความสำคัญกับการเปิด Cloud Kitchen และการขายแฟรนไชส์ มากขึ้น เพราะสามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้  เนื่องจากการลงทุนต่ำ โดยแบรนด์ที่ CRG จะให้ความสำคัญมากขึ้นนับจากนี้ คือ ร้าน “อร่อยดี" ซึ่งเป็นแบรนด์ร้านอาหารไทยจานด่วนที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันมีสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 20 สาขา  ซึ่งในส่วนของปีนี้ได้มีการขยายสาขาใหม่ไปจำนวน 15 สาขา  
 
 
ส่วนเป้าหมายการขยายและสาขาของแบรนด์อร่อยดี  จะแบ่งเป็น CRG ขยายสาขาเอง และการขยายสาขาของแฟรนไชส์  ซึ่งทำเลที่เหมาะสมสำหรับการเปิดร้านอร่อยดี  คือ Non Mall, Residential Area, Stand alone  โดยในปีแรก ของการขยายสาขาคาดว่าจะมีจำนวนสาขาของบริษัท 25 สาขา และสาขาของแฟรนไชส์ 1 สาขา รวมเป็น 26 สาขา หลังจากนั้น CRG จะขยายสาขาเองปีละ 10 สาขา ควบคู่ไปกับการขยายสาขาของแฟรนไชส์ โดยภายใน 5 ปี น่าจะมีสาขาที่เปิดโดยให้บริการรวมกันไม่ต่ำกว่า 300 สาขา แบ่งเป็น   CRG เปิดให้บริการเอง 75 สาขา และสาขาของแฟรนไชส์ 225 สาขา กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
 
นายธนพล ธรรพสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG กล่าวว่า  จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แบรนด์อร่อยดี ไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบดังกล่าวมากนัก เนื่องจากยอดขายส่วนใหญ่ กว่า 70% มาจากช่องทางเดลิเวอรี่  เพราะร้านอร่อยดี จำนวนกว่า 53% อยู่ในปั้มน้ำมัน  และ 16% อยู่ใน Grab kitchen & Cloud Kitchen  หรือครัวกลางที่มีการจัดส่งอาหารให้ถึงมือลูกค้าโดย GrabFood 
 

LastUpdate 10/10/2563 11:44:04 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 9:08 pm