การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
สปสช.ชวนคลินิกเอกชนร่วมระบบบัตรทอง นำร่อง ''รักษาปฐมภูมิทุกที่ในเครือข่ายชุมชนอบอุ่น''


สปสช.ประชุมขับเคลื่อน “รักษาปฐมภูมิทุกที่ในเครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น” ชวน คลินิกเอกชนระบบบัตรทอง ปรับเป็น “หน่วยบริการปฐมภูมิ” นำร่องบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่ดูแลประชาชน พร้อมแจงปรับชดเชยค่าบริการ แยกเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวและจ่ายตามรายการบริการที่กำหนดตามผลงานบริการ 


นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่ “รักษาปฐมภูมิทุกที่ ในเครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น” ที่นำร่องในพื้นที่ กทม. ก่อน ซึ่งเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา สปสช. ได้จัดประชุมหน่วยบริการประจำ คลินิกชุมชนอบอุ่น ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร 28 แห่ง เพื่อชี้แจงการปรับระบบบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่ (New Model) ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้ผู้ป่วยไปรักษาที่ไหนก็ได้ โดย สปสช. ได้ดำเนินการจัดระบบให้ผู้ป่วยสามารถรักษาปฐมภูมิทุกที่ ในเครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น พร้อมทำความเข้าใจ ทั้งการบริหารจัดการและระบบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ ตามมติที่คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข.กทม.) ได้พิจารณาและเห็นชอบก่อนหน้านี้  

ทั้งนี้ ตามนโนบายนี้ หน่วยบริการที่เปิดรับสมัครเพื่อดูแลประชาชน จะมีทั้ง “หน่วยบริการปฐมภูมิ” และหน่วยบริการร่วมที่เพิ่มเติม โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. และโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการประจำ ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการแม่ข่าย ซึ่งในส่วนหน่วยบริการปฐมภูมิจะมีหลักเกณฑ์บริการเช่นเดียวกับหน่วยบริการประจำในรูปแบบเดิม ยังคงมีประชากรที่ขึ้นทะเบียนจำนวน 8,000 -10,000 คนเช่นเดิม เพียงแต่ประชากรเหล่านี้จะเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิใดก็ได้ในเครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่นเดียวกัน  ซึ่ง สปสช.ได้ปรับวิธีการจัดสรรงบประมาณ จากแต่เดิมที่จ่ายเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวตามประชากร (Capitation) ให้กับหน่วยบริการ โดยปรับการจ่ายชดเชยตามรายการบริการที่กำหนด (Fee Schedule) ที่เป็นการจ่ายตามผลงานบริการ ซึ่งคลินิกได้รับค่าใช้จ่ายตามผลงานที่บริการจริง ทั้งนี้หากสิ้นปีงบประมาณเหลือ สปสช. ก็จะกระจายเงินก้อนนี้กลับไปยังหน่วยบริการทั้งหมด เนื่องจากเป็นการบริหารในรูปแบบกองทุน (Global budget)    

ส่วนการส่งต่อผู้ป่วยแต่เดิมหน่วยบริการจะต้องหาโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วยเอง โดยต้องไปเจรจากับโรงพยาบาล แต่หากเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่นี้ สปสช.จะจัดหาโรงพยาบาลรับส่งต่อให้ โดยแบ่งกลุ่มโรงพยาบาลตามโซนของ กทม. 6 พื้นที่ ทำให้หน่วยบริการมีโรงพยาบาลรับส่งต่อเพิ่มเติม และในกรณีที่เตียงโรงพยาบาลในหน่วยบริการเต็ม ยังสามารถส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลทุติยภูมิ ตติยภูมิหรือข้ามเขตได้ ทำให้การส่งต่อผู้ป่วยรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ในส่วนบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ที่มีความเชี่ยวชาญ ในฐานะหน่วยบริการแม่ข่ายจะช่วยเป็นพี่เลี้ยงทั้งในด้านวิชาการและปฏิบัติงานในการรุกลงไปในพื้นที่เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนได้   

“จากนี้ สปสช.เขต 13 กทม.จะเปิดรับสมัครหน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการร่วม เพื่อขับเคลื่อนระบบบริการปฐมภูมิบัตรทองในรูปแบบใหม่ โดยคลินิกที่ยังเป็นหน่วยบริการประจำอยู่ หากจะสมัครเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิก็ยินดี แต่หากจะยังคงเป็นหน่วยบริการประจำแบบเดิมก็ยังมีเอกสิทธิ์อยู่ เพียงแต่หากจะร่วมดูแลประชากรที่ยังเป็นสิทธิว่าง 1.9 ล้านคน ต้องเป็นรูปแบบใหม่เท่านั้น”   

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการเปิดให้เข้ารับบริการปฐมภูมิทุกที่ในเครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น อาจทำให้เกิดที่ซ้ำซ้อนได้นั้น สปสช.ขอย้ำว่าการเข้ารับบริการของผู้ป่วยที่หน่วยบริการทุกครั้ง ผู้ป่วยต้องใช้บัตรสมาร์ทการ์ด (smart card) เพื่อยืนยันตัวตนและการเข้ารับบริการ ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อข้อมูลกันในเครือข่ายบริการ ทำให้ทราบว่าผู้ป่วยเข้ารับบริการที่หน่วยบริการใดบ้าง ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยการป้องกันปัญหานี้ได้ 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ต.ค. 2563 เวลา : 16:46:31
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 2:17 am