การตลาด
สกู๊ป ''อาร์เอส'' หวนคืนธุรกิจเพลง ปัดฝุ่น 3 ค่าย ปั้นศิลปินเป็น ''สตาร์'' ต่อยอดรายได้


แม้ว่าตอนนี้ธุรกิจเพลงจะไม่ใช่ธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับบริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) แต่ก็เป็นธุรกิจที่ อาร์เอส  ทิ้งไม่ได้เช่นกัน เพราะธุรกิจเพลงสามารถนำมาต่อยอดทำเงินได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการนำเพลงไปต่อยอดธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเครือ การปั้นศิลปินอินฟลูเอ็นเซอร์  หรือพรีเซ็นเตอร์สินค้า

ย้อนกลับไปในยุค 90 อาร์เอส ถือเป็นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่สร้างศิลปินที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เรียกได้ว่ายุคนั้นเป็นยุคทองของอาร์เอสก็ว่าได้ เพราะไม่มีใครไม่รู้จักเพลงศิลปินของอาร์เอส แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจเพลงเริ่มสั่นคลอน แม้ว่าผู้ประกอบการจะปรับตัว แต่ก็ไม่สามารถต้านทานการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีได้ ทำให้การทำธุรกิจเพลงของแต่ละคนที่เปลี่ยนจากออกเพลงเป็นอัลบั้ม 10-12 เพลง เหลือเพียงการออกเป็นซิงเกิล 1-2 เพลงต่อครั้งเท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส เพราะเพลงคือความบันเทิงอย่างหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในชีวิตของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้ ค่ายเพลงต่างๆ จึงเริ่มกลับมาพลิกฟื้นธุรกิจเพลง ด้วยการปรับรูปแบบการทำธุรกิจ เช่นเดียวกับ อาร์เอส ที่ออกมาประกาศกลับมารุกธุรกิจเพลงครั้งใหญ่ เพื่อต่ยอดธุรกิจในเครือให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น หลังจากผ่อนแรงรุกมาพักใหญ่
 
 
นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  บริษัทไม่เคยหยุดการทำธุรกิจเพลง เพียงแต่มีการปรับรูปแบบการทำธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน  และในปีนี้บริษัทพร้อมแล้วที่จะกลับมารุกธุรกิจเพลงอีกครั้ง ด้วยการมองธุรกิจเพลงที่แตกต่างไปจากเดิม คือ เน้นไปที่ตัวศิลปินมากขึ้น โดยเฉพาะตัวศิลปินที่มีตัวตนน่าสนใจ มีไลฟ์สไตล์ และมีอิทธิพลในโลกออนไลน์ มากกว่าแค่การร้องเพลง และหน้าตาดี
 
การที่ อาร์เอส  ออกมาปรับกลยุทธ์ ด้วยการดึงศิลปินที่มีตัวตน  มีไลฟ์สไตล์  และมีอิทธิพลในโลกออนไลน์มาใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการกลับมารุกธุรกิจเพลงในครั้งนี้ก็เพื่อต่อยอดไปสู่การปั้นศิลปินเป็นซูเปอร์อินฟลูเอนเซอร์  และต่อยอดธุรกิจคอมเมิร์ชในเครือ ตลอดจนการนำศิลปินมาต่อยอดทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับ อาร์เอส และตัวศิลปินเอง 
 
แนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว  อาร์เอส  จะดำเนินการภายใต้คอนเซปต์  Music Star Commerce ต่อยอดธุรกิจคอมเมิร์ชในเครือ ซึ่งโมเดลการปั้นศิลปินใหม่นั้น ยังใช้เแบบเดิมคือตัวศิลปินเป็นผู้ลงทุนเอง และอาร์เอสจะเป็นช่องทางให้ ขณะที่ศิลปินเก่าจะเป็นการหารายได้จากการทำอีเวนต์และคอนเสิร์ต
 
 
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า การสร้างรายได้ให้กับธุรกิจเพลง ภายใต้กลยุทธ์  Music Star Commerce  นั้นถือเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม คือ เพลงจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือหนึ่งที่จะสร้างศิลปินให้เป็น “สตาร์”  และเป็น Business Partner ที่มีความเชื่อมโยงกับโมเดลธุรกิจ Entertainmerce ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักของทุกบริษัทในเครืออาร์เอส กรุ๊ป
 
นอกจากนี้  อาร์เอส ยังมีการบริหาร asset ทั้งหมด ประกอบด้วย  การฟังเพลงผ่านระบบดิจิทัล การบริหารศิลปินในค่าย การขายลิขสิทธิ์เพลง  การจัดอีเวนต์และคอนเสิร์ต  การทำโปรเจคร่วมกับ Partner ที่เป็นอันดับต้นๆ ในใจผู้บริโภค เพื่อให้เกิดคอนเทนต์ใหม่ๆ เช่น การทำ Project “RS X JOOX GENERATION JOOX” ที่นำเอาเพลงระดับตำนานของอาร์เอส มาให้ศิลปินที่อยู่ในกระแสปัจจุบันมาตีความใหม่ ซึ่งเปิดตัวเพลงแรกไป และเตรียมจะปล่อยตัวต่อไปในเดือนหน้า
 
สำหรับค่ายเพลงที่จะนำกลับมารุกตลาดเพลงในครั้งนี้  จะด้วยกัน 3 ค่ายหลัก  คือ 1. Rose Sound  ค่ายเพลงค่ายแรกของนายสุรชัย (เฮียฮ้อ) ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาใช้ RS  ซึ่งก็คือตัวย่อของ Rose Sound นั่นเอง  2. Kamikaze  ค่ายเพลงที่มีคอนเซ็ปต์หลัก คือ คนไทยหัวใจวัยรุ่น  และ 3. RSIAM  ค่ายเพลงลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงที่ผ่านมา  ซึ่งครั้งนี้จะมีการปรับภาพลักษณ์ให้ดูเป็นลูกทุ่งที่ทันสมัยมากขึ้น
 
ขณะเดียวกัน  ในส่วนของตัวศิลปินเองก็จะมีการนำศิลปินเก่ามาทำเพลงใหม่  ควบคู่ไปกับการปั้นศิลปินหน้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด  เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ  และทำให้วงการธุรกิจเพลงมีสันมากขึ้น
 
 
 
ด้าน นายสุกฤช สุขสกุลวัฒน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจเพลง กล่าวเพิ่มเติมว่า การกลับมาของอาร์เอส มิวสิค ในครั้งนี้จะเป็นการสร้างตำนานบทใหม่ให้วงการเพลงอีกครั้ง กับ “RS MUSIC NEW ERA : OPEN YOUR MUSIC EXPERIENCE” และเป็นก้าวใหม่ที่ท้าทายของธุรกิจเพลง กับการเปิดตัวศิลปินเลือดใหม่ จาก 3 ค่ายเพลง คือ RoseSound, Kamikaze และ RSIAM กับดนตรีหลากหลายแนว ที่ฟังได้ทุกเจเนอเรชัน 
 
จากการออกมาปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจเพลงดังกล่าว อาร์เอส มั่นใจว่าในสิ้นปี 2563 นี้จะมีรายได้จากธุรกิจเพลงไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท  และปี 2564 มีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% แม้ว่าจะเป็นรายได้ที่ไม่มาก  เมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา  ซึ่ง  อาร์เอส มีรายได้หลักมาจากธุรกิจเพลงกว่า 90% 
 
ส่วนภาพรวมรายได้ในสิ้นปี 2563 นี้  อาร์เอส  คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 4,200-4,300 ล้านบาท ปรับเป้าหมายลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะมีรายได้รวมแตะ 5,000 ล้านบาท  เนื่องจากปีนี้ประเทศไทยและทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปพอสมควร  จึงทำให้ต้องปรับลดเป้าหมายรายได้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 
 
ปัจจุบัน อาร์เอส มีสัดส่วนรายได้หลัก  60% มาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ขายสินค้าภายใต้ RS Mall และ COOLanything ผ่าน Platform และช่องทางทั้งของ อาร์เอส และพันธมิตร ทั้งในส่วนของ On air จากช่อง 8 และช่องผู้นำดิจิทัลทีวีอื่นๆ วิทยุ COOLfahrenheit ทีวีดาวเทียม และ Online ทั้ง LINE OA, Website และ Application รวมถึงการวางสินค้าผ่านช่องทางห้างค้าปลีกต่างๆ ภายใต้การดูแลของบริษัท Lifestar
 
อีก  30% มาจากธุรกิจมีเดีย คือ  สื่อทีวีดิจิทัล ช่อง 8 และ COOLfahrenheit ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มฟังเพลงผ่านคลื่นวิทยุและทางออนไลน์ อันดับ 1 ของคนเมือง ส่วนที่เหลืออีก 10% มาจากธุรกิจเพลง  ซึ่งผลิตเพลงผ่านค่าย RSiam และ Kamikaze ซึ่งรายได้หลักมาจากการบริหาร asset ทั้งหมด เช่น  การฟังเพลงผ่านระบบดิจิทัล การบริหารศิลปินในค่าย การขายลิขสิทธิ์เพลง รวมถึงการจัดอีเวนต์และคอนเสิร์ต
 

 


LastUpdate 28/11/2563 19:16:06 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 6:15 am