การตลาด
สกู๊ป ''กลุ่มไทยเบฟฯ'' ทิ้งหุ้น GMM25 ''บอย ถกลเกียรติ'' เข้าเสียบคุมทัพควบช่องวัน


ปลายเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาวงการสื่อถือว่ามีความคึกคักมากเลยทีเดียว เมื่อบริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด ของทายาทไทยเบฟฯ อย่างนายฐาปน สิริวัฒนภักดี  ตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ 50% ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด ให้กับนายถกลเกียรติ วีรวรรณ เข้าไปดูแลสถานีโทรทัศน์ช่อง GMM25 อย่างเต็มตัว  ควบคู่ไปกับการดูแลช่องวัน

เหตุการณ์ดังกล่าวมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติขายหุ้นในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด ให้บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่องวัน 31 ซึ่งมีจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้น 31.27% นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ถือหุ้น 18.73% และบริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ของกลุ่มปราสาททองโอสถ ถือหุ้น 50% รวมมูลค่า 1,200 ล้านบาท พร้อมปรับโครงสร้างบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด ระหว่างการซื้อขายหุ้นกับ บริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด ของนายฐาปน สิริวัฒนภักดี ที่ถือหุ้นอยู่ 50%
 
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด จะมีบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ถือหุ้นอยู่ 100% โดยมีบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด ถือหุ้น 99.80% บริษัท เอ-ไทม์ มีเดีย จำกัด ถือหุ้น 100% และกลุ่มบริษัทที่จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ถือหุ้นเกิน 99% ได้แก่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม ทีวี จำกัด, บริษัท จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท เช้นจ์ 2561 จำกัด ส่วนบริษัท จี เอ็ม เอ็ม โฮลดิ้ง จำกัด จะเข้าซื้อหุ้นบริษัท จีเอ็มเอ็ม 25 จำกัด, บริษัท คอนเทนต์ แอนด์ อาร์ตติสท์ เน็ตเวิร์ค จำกัด และบริษัท เอ-ไทม์ ทราเวิลเลอร์ จำกัด (อยู่ระหว่างการดําเนินการชําระบัญชี)
 
 
ขณะเดียวกัน  ยังจะมีการอนุมัติการเข้าสัญญาแต่งตั้งตัวแทนการตลาด สถานีโทรทัศน์ช่อง GMM25 และสัญญาอนุญาตให้ใช้ชื่อและลิขสิทธิ์รายการทางสถานีโทรทัศน์ GMM25 กับ จีเอ็มเอ็ม โฮลดิ้ง ที่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้นอยู่ 100% โดยจะจัดสรรรายได้ระหว่าง จีเอ็มเอ็ม โฮลดิ้ง 30% และจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง (ที่จะมี เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ถือหุ้นทั้งหมด) 70% โดยสัญญาจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 และสิ้นผลเมื่อใบอนุญาตของสถานีโทรทัศน์ช่อง GMM 25 ครบระยะเวลาตามที่กำหนดในปี 2572 
 
อย่างไรก็ดี  แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านของโครงสร้างผู้ถือหุ้น  แต่บริษัท จีเอ็มเอ็ม 25 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ จีเอ็มเอ็ม โฮลดิ้ง ยังคงทำหน้าที่บริหารจัดการสถานี  จัดให้มีนายสถานี และเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่กับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) รวมทั้งค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม  เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO)

ส่วนในเรื่องของเงินลงทุน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินให้กับบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์  ด้วยการค้ำประกันเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 31.27% ของเงินกู้จำนวน 2,200 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนของ เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ สําหรับนําไปชําระราคาซื้อขายหุ้นของจีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง คิดเป็นวงเงินค้ำประกันจำนวนสูงสุดไม่เกิน 1,100 ล้านบาท โดยผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจ
 
การเข้าถือหุ้นของช่อง GMM25 ครั้งนี้  ในส่วนของโครงสร้างผู้บริหาร และรูปแบบของการดำเนินธุรกิจยังเหมือนเดิม  มีเปลี่ยนแปลงเพียงการเข้าไปซื้อบริษัทผลิตคอนเทนต์อย่าง “จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง” ที่ประกอบไปด้วย บริษัท เช้นจ์2561 จำกัด (ของนางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา), จีเอ็มเอ็ม ทีวี (ของนายสถาพร พานิชรักษาพงศ์), จีเอ็มเอ็มมีเดีย (ของนายสมโรจน์ วสุพงศ์โสธร), จีเอ็มเอ็ม สตูดิโอ อินเตอร์เนชั่ลแนล (ของนายเอกชัย เอื้อครองธรรม) ด้วยเงินลงทุนมูลค่า 2,200 ล้าน ซึ่งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นของ GMM25 ทั้งหมด 100% เพราะกลุ่มไทยเบฟฯ  (บริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด) ได้ถอนหุ้นออกไปเมื่อหลายเดือนก่อน
 
 
นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กล่าวว่า การที่กลุ่มเดอะวัน เอ็นเตอร์ไพร์ส  เข้ามาถือหุ้นในช่อง GMM25 ครั้งนี้  เปรียบเสมือนการผ่าตัดครั้งใหญ่ของช่อง  ซึ่งหลังจากดำเนินการทำสัญญาซื้อขายหุ้นเรียบร้อย  อาจจะมีการเข้าไปจัดแจงคอนเทนต์ต่างๆ ว่าเหมาะสมกับคนดูมากน้อยแค่ไหน  เนื่องจากในปี 2564 จะมีการปรับเปลี่ยนคอนเทนต์ที่เคยออกอากาศในช่อง GMM25 ไปออกอากาศในช่องวัน  เช่น   “คลับฟรายเดย์เดอะซีรีส์” และละครของ “เช้นจ์2561” ทั้งหมดจะถูกย้ายไปออกอากาศในช่องวันต้นปีหน้า ในส่วนซีรีส์ของ “จีเอ็มเอ็ม ทีวี” จะถูกดึงมาเป็นตัวชูโรงในช่วงไพรม์ไทม์ของช่อง GMM25
 
ส่วนซีรีส์วัยรุ่น  อย่างเช่นซีรีส์วาย  ซึ่งเป็นคอนเทนต์ยืนของช่อง  เช่นเดียวกับรายการ “แฉ” ก็ยังตงมี “มดดำ คชภา ตันเจริญ” เป็นพิธีกร  พร้อมกับเพิ่มรายการ “แฉแต่เช้า” ที่จะกลับมาออนทีวีอีกครั้งโดย “เอไทม์ มีเดีย” รับหน้าที่เป็นผู้ผลิต  ภายใต้คอนเซปต์ใหม่ของช่องที่จะเน้นไปที่ “นิวเจน-ไลฟ์สไตล์-เอ็นเตอร์เทนเมนต์” และรายการสดเป็นหลัก
 
นายถกลเกียรติ  กล่าวต่อว่า  แผนการดำเนินธุรกิจนับจากนี้ บริษัท วัน เอ็นเตอร์ไพรส์  จะซื้อเฉพาะคอนเทนต์ โดยจะมุ่งผลิตคอนเทนต์ให้กับช่อง GMM25 และดูแลเรื่องทำการตลาด มีจุดเป้าหมายหลักคือ ปรับคอนเทนต์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยช่อง GMM25 จะเน้นจับกลุ่มเป้าหมายไปที่วัยรุ่น เทรนดี้ ขณะที่ช่องวัน จะเน้นจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นโมเดิร์นแมส  และถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น  แต่สัดส่วนโดยภาพรวมถือว่าเหมือนเดิม คือ  ประนันท์ภรณ์ ตัวแทนจากกลุ่มปราสาททองโอสถ 50% GMM GRAMMY 33% และทางกลุ่มของผมถือหุ้น 37% 
 
สำหรับเป้าหมายของช่อง GMM25 นับจากนี้นั้น  นายถกลเกียรติยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะติดอันดับท็อป 5 ช่องทีวีดิจิทัลได้หรือไม่ เพราะเรื่องนั้นไม่ใช่ประเด็นหลักของการเข้ามาถือหุ้นช่อง GMM25  เพราะทุกวันนี้คอนเทนต์ที่ทุกคนทำออกมาล้วนแต่เป็นคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ  เช่นเดียวกันคอนเทนต์ของช่อง GMM25  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคอนเทนต์ที่สามารถนำมาออกอากาศได้ทั้งในทีวีและออนไลน์
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ธ.ค. 2563 เวลา : 10:56:07
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 2:00 pm