การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
''อนุทิน'' มอบรางวัลศูนย์หลักประกันสุขภาพดีเด่น ฝากบุคลากรดูแลประชาชนเต็มที่


สปสช.มอบรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการดีเด่น ทั้งระดับประเทศและระดับเขตรวม 18 หน่วยบริการ ด้านอนุทินร่วมแสดงความยินดีและฝากบุคลากรสาธารณสุขให้บริการประชาชนอย่างเต็มที่ อย่ามองว่าประชาชนคือผู้รับ เจ้าหน้าที่เป็นผู้ให้ แต่ต้องคิดว่ากำลังทำหน้าที่ตามสิทธิที่ประชาชนพึงมี  


สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดงานสัมมนาเครือข่ายรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานมอบรางวัลแก่หน่วยบริการที่ได้รับรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการดีเด่น ประจำปี 2562 ทั้งในระดับประเทศและระดับเขต รวมทั้งหมด 18 แห่ง อีกทั้งมีการเสวนาในหัวข้อ "ยกระดับคุณภาพ จัดการความเหลื่อมล้ำ ลดข้อร้องเรียน" 

นายอนุทิน กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับโรงพยาบาลและเครือข่ายที่ได้รับรางวัลศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริหารจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการดีเด่น ประจำปี 2562 ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นทุ่มเทพัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนเพื่อให้ผู้ให้บริการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ตลอดจนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่หน่วยงานอื่น 
 

นายอนุทิน กล่าวว่า ในเรื่องการให้บริการนั้น กระทรวงสาธารณสุขยินดีให้บริการประชาชนด้วยความเต็มใจอยู่แล้ว ถ้ามีเรื่องหนักนิดเบาหน่อยระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการควรหารือกัน เข้าใจกัน เพราะถ้ามีความขัดแย้งขึ้นเมื่อไหร่จะทำให้สูญเสียทรัพยากรอีกมากมาย ต้องตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ต้องใช้ดุลพินิจ ต้องส่งเรื่องให้หน่วยเหนือ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมที่ไม่เกิดประโยชน์ใดๆเลยนอกจากเสียเวลา เสียความรู้สึก เสียกำลังใจ และสุดท้ายเสียการให้บริการ ดังนั้นฝากผู้อำนวยการโรงพยาบาล  และผู้บริหารกระทรวงฯให้มุ่งเน้นการให้บริการแก่ประชาชนมากที่สุด ถือเป็นภารกิจสำคัญและเป็นหน้าที่ที่ต้องให้บริการประชาชนในฐานะผู้มีสิทธิที่จะมารับบริการ อย่ามองว่าประชาชนคือผู้ที่มาขอใช้บริการ กระทรวงฯและบุคลากรเป็นผู้ให้ คิดแบบนี้ไม่ได้ ต้องคิดว่าเรากำลังทำหน้าที่ในสิทธิที่ประชาชนมี ถ้าคิดแบบนี้ก็จะให้บริการอย่างเต็มที่และไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง 

ด้าน นพ.สินชัย ตันติรัตนานนท์ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถิติเรื่องราวการร้องทุกข์ที่ผ่านมา เรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุดส่วนมากเป็นเรื่องคุณภาพการให้บริการ แต่ละปีมีข้อร้องเรียนหลายร้อยเรื่อง อย่างไรก็ดี แนวโน้มจำนวนการร้องเรียนลดลงเรื่อยๆ จาก 600 กว่าครั้ง/ปี ในอดีตเหลือประมาณ 300-400 ครั้งในปัจจุบัน ต้องขอขอบคุณบุคลากรทุกคนที่พยายามขจัดความไม่เข้าใจในเรื่องการดูแลรักษา ขณะที่ข้อร้องเรียนที่เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างผู้รับบริการและเจ้าหน้าที่นั้นมีน้อยมาก ส่วนมากเป็นความเข้าใจผิดกันเป็นหลัก แต่ที่สำคัญคือเรื่องคุณภาพการให้บริการซึ่งเป็นความท้าทายว่านอกจากในเชิงปริมาณแล้วต้องมีคุณภาพด้วย 

นพ.สินชัย กล่าวว่า สำหรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงฯในเรื่องนี้คือการยกระดับคุณภาพ จัดการความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การลดข้อร้องเรียน การยกระดับจะใช้คำว่า optimal service โดยแต่ละเขตสุขภาพแม้จะมีศักยภาพต่างกัน แต่ต้องมีพื้นฐานเท่ากัน มีรูปแบบการรักษา การใช้ทรัพยากร การลงทุนที่บูรณาการร่วมกันโดยวางเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำให้เหลือน้อยที่สุดในระยะเวลา 2 ปีนี้ 
 

นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำมีทั้งความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ กับ ความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการบริการที่ได้รับ ซึ่งทาง สรพ. มีบทบาทในการมุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการของสถานพยาบาล โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลรัฐ 969 แห่ง หรือ 88.82% ของโรงพยาบาลรัฐทั้งหมดเข้ามาอยู่ในระบบการรับรองคุณภาพของ สรพ. และมีโรงพยาบาลเอกชนอีก 39.84 % จาก 379 แห่งที่เข้ามาในระบบ 

นพ.ธีรพล กล่าวว่า เรื่องคุณภาพบริการจะเชื่อมโยงกับความปลอดภัยหรือ Safety ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในระบบบริการสุขภาพ จากสถิติทั่วโลกพบว่าสาเหตุอันดับ 3 ที่ทำให้เกิดความพิการ มาจากผลพวงจากการบริการที่ผิดพลาด ดังนั้นถ้าผลักดันเรื่องคุณภาพได้ เรื่องความปลอดภัยจะตามมา ซึ่งที่ผ่านมา สรพ. ได้ผลักดันเรื่องการเพิ่มคุณภาพบริการเข้าไปในแผนแม่บทบูรณาการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่อง 2P Safety ในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งและกลายเป็นมาตรฐานสำคัญจำเป็นในการรับรองคุณภาพสถานบริการ ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาระบบ NRLS (National Reporting and Learning System) เพื่อรับรายงานข้อผิดพลาดจากโรงพยาบาลต่างๆว่าเป็นเรื่องอะไรบ้าง เพื่อสร้างการเรียนรู้และนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์พัฒนาระบบความปลอดภัยในเรื่องนั้นๆ ทั้งนี้เมื่อสามารถลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องความปลอดภัยได้ ก็จะช่วยลดเรื่องการร้องเรียนไปโดยปริยาย 

ด้าน น.ส.อรกัลยา พิชชาออน หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน อ.เมือง จ.ปทุมธานี กล่าวว่า บทบาทของหน่วย 50 (5) คือสร้างการรับรู้เรื่องสิทธิของประชาชน จัดบริการเรื่องการฟื้นฟู เพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ด้อยโอกาส และเมื่อมีการเข้าถึงสิทธิมากขึ้นก็จะเกิดการร้องเรียน บางครั้งประชาชนก็ไม่กล้าที่จะร้องเรียนที่โรงพยาบาล เรื่องก็จะตกมาที่หน่วย 50 (5) ซึ่งเป็นคนกลางช่วยในเรื่องการช่วยเหลือเบื้องต้นหรือการไกล่เกลี่ยเพราะบางเรื่องก็เกิดจากความเข้าใจผิด ขณะเดียวกัน หน่วย  50 (5) ก็ต้องทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในการลดการเกิดข้อร้องเรียนซ้ำ นอกจากนี้ต้องมีการเชื่อมโยงกับสื่อมวลชนและฝ่ายปกครองในพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย การทำงานร่วมกับโรงพยาบาลก็ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น  

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ธ.ค. 2563 เวลา : 10:53:48
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 3:57 pm