การตลาด
สกู๊ป คนไทยแห่ ''ออกกำลังกาย'' สู้โควิด-19 หนุนตลาด ''อุปกรณ์ฟิตเนส'' บูม


การเกิดขึ้นของโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้  แม้ว่าจะทำให้หลายธุรกิจได้หยุดชะงัก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้อีกหลายธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด  หนึ่งในนั้นก็คือ ธุรกิจอุปกรณ์ฟิตเนส  เนื่องจากปัจจุบันคนไทยหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น  เพื่อให้ห่างไกลจากโรคร้าย  เลยทำให้ภาพรวมธุรกิจอุปกรณ์ฟิตเนสมีการขยายตัวดีขึ้น  แม้ว่าปี 2563 ธุรกิจฟิตเนสจะมีการขยายตัวไม่มากเหมือนกับช่วงหลายปีที่ผ่านมา

แม้ว่าปีนี้ธุรกิจฟิตเนสจะขยายตัวต่ำ  แต่หลายธุรกิจก็เริ่มให้ความสนใจนำอุปกรณ์ออกกำลังกายเข้าไปเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจของตัวเองไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรมแรม  หรือที่อยู่อาศัยอย่างคอนโดมิเนียม  บ้านเดี่ยว  และทาวน์เฮ้าส์  รวมไปถึงธุรกิจโรงพยาบาล  
 
จากความต้องการของหลายธุรกิจที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้บริษัทผู้จำหน่ายอุปกรณ์ฟิตเนสได้รับอานิสงส์ไปแบบเต็มๆ  เพราะจากเดิมยอดขายอุปกรณ์ฟิตเนสหลักๆ จะมาจากผู้ให้บริการฟิตเนส  แต่ปัจจุบันธุรกิจโรงแรม  และโรงพยาบาล  รวมไปถึงที่อยู่อาศัยก็หันมาสั่งอุปกรณ์ฟิตเนสไปบริการลูกค้ามากขึ้น
 
นายแดเนียล ไลน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จอห์นสัน เฮลธ์ เทค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ฟิตเนส อาทิ เมทริกซ์ (matrix) และฮอริซอน (horizon) กล่าวว่า  ภาพรวมของตลาดอุปกรณ์ฟิตเนสในปี 2564  น่าจะยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี  เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภค  หน่วยงานภาครัฐ   และภาคอกชนหันมาสนใจดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น  เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงปลอดภัยจากโรคระบาดที่เกิดขึ้น  
 
 
อย่างไรก็ดี  แม้ว่าจะมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น  แต่ขณะเดียวกันก็ถือว่ามีความท้าทายสูง  เพราะจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิขึ้น  ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภคไปด้วย เห็นได้จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา  ผู้ประกอบการในธุรกิจฟิตเนสหันมาเปิดให้บริการสอนออกกำลังกายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น
 
สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความโดดเด่นและหันมาสั่งซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกายมากขึ้น  คืออ กลุ่มธุรกิจสุขภาพอย่างโรงพยาบาล และคลินิกกายภาพ  เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งหันมาเสริมบริการด้านกายภาพบำบัด และการฟื้นฟูสมรรถภาพหลังการรักษามากขึ้น 
 
นอกจากนี้  ในด้านของคลินิกด้านกายภาพยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น วอริกซ์ คลินิกกายภาพบำบัด (Warrix Physiotherapy) ของแบรนด์สินค้ากีฬารายใหญ่  ซึ่งการขยายตัวของธุรกิจคลินิกกายภาพและความต้องการอุปกรณ์ฟิตเนสของธุรกิจโรงพยาบาลที่เพิ่มขึ้น  ทำให้ทั้ง 2 ธุรกิจมียอดสั่งซื้ออุกรณ์ฟิตเนสมากกว่าธุรกิจโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ที่ปัจจุบันอยู่ในสภาวะค่อนข้างซบเซา
 
นายแดเนียล  กล่าวต่อว่า  ในส่วนของดีมานด์จากบริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐ  ก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าจับตามอง  เพราะปัจจุบันเริ่มมีความต้องการสร้างยิม  หรือศูนย์ออกกำลังกายให้กับพนักงานของตัวเอง  ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์คาดว่าน่าจะกลับมาลงทุนกับฟิตเนสเต็มที่อีกครั้งหลังจากความต้องการที่อยู่อาศัยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ  เนื่องจากบริการดังกล่าวถือเป็นจุดขายของโครงการ เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการความคุ้มค่าจากการลงทุนซื้อโครงการอสังหาฯ  ซึ่งฟิตเนสถือเป็นหนึ่งในบริการที่โครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ นิยมนำมาเป็นจุดขาย  เพื่อดึงความสนใจลูกค้า
 
ส่วนลูกค้าทั่วไปหรือบีทูซี ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีความตื่นตัวในเรื่องสุขภาพพอสมควร  เนื่องจากหลายคนหันมาออกกำลังกายมากขึ้น  ซึ่งบางรายมีการซื้ออุปกรณ์ไปใช้เองที่บ้าน  เลยทำให้ยอดขายอุปกรณ์การออกกำลังกายสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้เติบโตเพิ่มขึ้น  
 
 
ทั้งนี้  จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว  ทำให้การแข่งขันในธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ฟิตเนสมีความรุนแรงมากขึ้น  ซึ่งจากเดิมจะแข่งกันในเรื่องของฟังก์ชั่นเป็นหลัก  ปัจจุบันเริ่มมีการแข่งขันในด้านของบริการหลังการขาย และราคามากขึ้น  เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีผู้ประกอบการนำสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาจำหน่าย  ทำให้ราคาขายค่อนข้างต่ำ  
 
นายแดเนียล  กล่าวอีกว่า  แม้ว่าจะมีผู้นำสินค้าจากจีนเข้ามาทำตลาดมากขึ้น  ด้วยการชูจุดขายในด้านของราคาที่ถูก  แต่บริษัทก็ไม่มีความกังวลในเรื่องดังกล่าว  เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคจะให้ความสนใจกับแบรนด์สินค้าที่เชื่อถือได้มากกว่าราคาสินค้าที่ถูก  
 
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของ บริษัท จอห์นสัน เฮลธ์ เทค (ประเทศไทย)  นับจากนี้จะหันไปให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าในกลุ่มธุรกิจสุขภาพทั้งในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นผู้ป่วยชาวไทย คลินิกกายภาพบำบัด และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รวมไปถึงศึกษาโอกาสความร่วมมือกับสโมสรกีฬาต่าง ๆ เพื่อนำเสนอสินค้าซึ่งจะเพิ่มไลน์อัพอุปกรณ์ด้านกายภาพบำบัด และรักษาอาการบาดเจ็บให้หลากหลายขึ้น โดยอาจมีการจับมือกับสโมสรฟุตบอลร่วมเปิดศูนย์ฝึก และเข้ามาเป็นสปอนเซอร์โฆษณาในสนามแข่งอีกด้วย
 
ขณะเดียวกัน  ยังจะตอกย้ำจุดแข็งในเรื่องของการบริการหลังการขาย ด้วยการรับประกันสินค้า เช่น มอเตอร์ 5 ปี และตัวเครื่อง 10 ปี  นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะให้บริการสินเชื่อซอฟต์โลนหรือโมเดลการเช่าซื้อ ให้เช่า หรือผ่อนชำระกับลูกค้าจากเดิมที่มีเพียงเครดิตเทอม 30-60 วัน เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มนำบริการดังกล่าวมาให้บริการได้ในช่วงต้นปี 2564  เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ลูกค้า
 
นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์คนใหม่เพื่อสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ และรีโนเวตโชว์รูมที่บางนาและภูเก็ตรองรับสินค้าใหม่ที่จะนำเข้ามาจำหน่าย เสริมกับการเพิ่มคอร์สฝึกอบรมการดูแลรักษาเครื่อง  เพื่อยืดอายุการใช้งาน และบริการจัดคลาสออกกำลังกายตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการเพิ่มบริการในฟิตเนสของตัวเอง เช่น กลุ่มอสังหาฯ และโรงพยาบาล ซึ่งแนวทางดังกล่าวถือเป็นการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งปี 2563 รายได้จากลูกค้าในธุรกิจโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นถึง 20% ส่วนกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มียอดขายเติบโตเพียง 10% ลดลงจากเดิมที่เคยเติบโตปีละ 15-20%

LastUpdate 04/01/2564 16:21:06 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 4:14 pm