การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ผลประเมิน ''ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สิทธิบัตรทอง'' คุ้มค่า สปสช.เตรียมเสนอขยายฉีดผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่ม


เปิดเผยผลประเมิน “ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สิทธิบัตรทอง” คุ้มค่า ลดอัตราป่วย เสียชีวิต ชี้ชัดกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ค่ารักษาผู้ป่วยในลดลงกว่า 3 ร้อยล้านบาท/ปี ระบุหากขยายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่ม ครอบคลุมผู้ป่วยโรคเรื้อรังร้อยละ 80 ช่วยประหยัดถึง 1.4 พันล้านบาท/ปี  สปสช. เตรียมจัดทำแผนดึงงบผู้ป่วยในจากค่ารักษาพยาบาลที่ลดลง เสนอขยายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่ม   


 
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช. จัดสรรงบประมาณจัดซื้อวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มาตั้งแต่ปี 2556 จำนวน 3 ล้านโด๊ส และปี 2562 เพิ่มเป็น 4 ล้านโด๊ส เพื่อฉีดให้กับประชากรกลุ่มเป้าหมายทุกสิทธิการรักษาพยาบาล อาทิ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรคทุกลุ่มอายุ, กลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, กลุ่มหญิงมีครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป, เด็ก 6 เดือนถึง 2 ปี, โรคอ้วน, โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีประมาณ 10 ล้านคน โดยให้ครอบคลุมร้อยละ 30 เพื่อลดภาวะเจ็บป่วยและเสียชีวิต ซึ่งที่ผ่านมามีได้ข้อเสนอให้ สปสช. ขยายบริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น ดังนั้นเพื่อให้มีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ในสิทธิประโยชน์บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นี้ สปสช. ได้ให้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข ทำการประเมินประสิทธิผลโครงการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยง 
 

จากการศึกษา IHPP ภายใต้หัวข้อ “ความครอบคลุม ประสิทธิผล และผลกระทบทางการเงิน ของโครงการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558-2562” ปรากฏข้อมูลนัยสำคัญว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ลดภาวะเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่มีสาเหตุจากไข้หวัดและปอดอับเสบได้ รวมถึงลดการนอนในโรงพยาบาลที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลลดลง  

“การศึกษานี้ชี้ว่าประสิทธิผลบริการฉีดวัคซีนมีความคุ้มค่า นอกจากลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบแล้ว ยังทำให้ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในลดลงเป็นจำนวนมาก จากการศึกษาพบว่าถ้าฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กลุ่มเป้าหมายเพิ่มอีก 5 ล้านคน จะใช้งบประมาณประมาณ 500 ล้านบาท แต่ช่วยลดงบประมาณค่ารักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ต้องนอนโรงพยาบาลได้ 1,200 ล้านบาท  สปสช. จึงจะเสนอเรื่องนี้ให้อนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการ และ อนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน เพื่อพิจารณาต่อไป โดยอาจจะใช้เงินที่ประหยัดได้ในระบบมาดำเนินการ ซึ่งอาจจะสามารถดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2564 ได้เลย นอกจากจัดทำแผนดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 แล้ว เนื่องจากวัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันกันได้ทันที ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยได้ในปีที่ฉีดได้เลย” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว            
 
 
รศ.ดร.สุพล ลิมวัฒนานนท์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การศึกษานี้วิเคราะห์ข้อมูลปี 2558-2562 ภาพรวมผู้รับบริการวัคซีนส่วนใหญ่เป็นสิทธิบัตรทอง รองลงมาเป็นสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคมและสิทธิอื่น ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประชากรกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้รับวัคซีนต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ในการวัดประสิทธิผลบริการวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ใช้วิธีเปรียบเทียบผลลัพธ์ทางสุขภาพระหว่างกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังที่ไม่ได้รับวัคซีนและกลุ่มผู้รับวัคซีน โดยเฉพาะในช่วงรณรงค์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เดือนพฤษภาคมถึงกันยายน ที่เป็นช่วงการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ พบข้อมูลอัตราการป่วยที่ต้องเข้านอนในโรงพยาบาลจากโรคไข้หวัดใหญ่หรือปอดอักเสบที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีนมีอัตราป่วยที่ต้องเข้านอนรักษาในโรงพยาบาลสูงกว่าผู้ได้รับวัคซีนอย่างมาก ซึ่งผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมีอัตราเข้านอนรักษาโรงพยาบาลอยู่ที่ร้อยละ 2 - 2.5 สูงกว่าผู้ได้รับวัคซีนอยู่ที่ร้อยละ 1.1 - 1.2 หรือลดลงร้อยละ 0.8 - 0.9 ขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนยังมีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 2.8-3.5 ที่สูงกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนอยู่ที่ร้อยละ 1.1 – 1.3 หรือลดลงร้อยละ 1.6 สอดคล้องกับข้อมูลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เสียชีวิตจากทุกสาเหตุระหว่างกลุ่มผู้ไม่ได้รับวัคซีนและผู้รับวัคซีนที่เป็นแนวทางเดียวกัน  

รศ.ดร.สุพล กล่าวต่อว่า เมื่อจำนวนการเข้านอนในโรงพยาบาลลดลง ส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลลดลงเช่นกัน โดยปี 2558 การเบิกจ่ายค่ารักษากรณีนอนในโรงพยาบาลด้วยไข้หวัดใหญ่หรือปอดอักเสบลดลง 242.3 ล้านบาท ปี 2560 ลดลง 347.8 ล้านบาท และปี 2562 ลดลง 359.6 ล้านบาท ตามการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ขณะเดียวกันยังได้คำนวณเปรียบเทียบหาก สปสช. ขยายการฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมายผู้ป่วยโรคเรื้อรังให้ครอบคลุมร้อยละ 80 จากปี 2558 2560 และ 2562 ที่ผ่านมาที่จัดบริการฉีดวัคซีนครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายร้อยละ 12.9, 15.5 และ 16.5 (ตามลำดับ) จะทำให้ค่ารักษาพยาบาลในแต่ละปีลดลงอยู่ที่ 1,266.4 ล้านบาท, 1,451.7 ล้านบาท และ 1,402.4 ล้านบาท (ตามลำดับ)    

“ผลการศึกษานี้ จึงมีข้อเสนอให้ขยายครอบคลุมฉีดวัคซีนผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 4 โรค ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากยังมีผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับวัคซีนจำนวนมาก หากขยายครอบคลุมได้ร้อยละ 80 นอกจากเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนให้กับผู้ป่วยแล้ว ยังลดค่ารักษาพยาบาลกรณีเข้านอนในโรงพยาบาลกลุ่มโรคละ 350-500 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณได้มาก” รศ.ดร.สุพล กล่าว 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 ม.ค. 2564 เวลา : 18:12:33
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 10:39 am