การตลาด
สกู๊ป ''ธุรกิจร้านอาหาร'' ประกาศ ''กร้าว!'' ลดเวลานั่งรับประทาน ''สูญเม็ดเงินแสนล้าน''


แม้ว่าจะไม่มีการประกาศเคอร์ฟิวออกมาบังคับใช้ในเขตกรุงเทพมหานคร  แต่หลายธุรกิจก็ถูกประกาศสั่งปิดให้บริการชั่วคราว พร้อมกับปรับรูปแบบและการให้บริการ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้  

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยและสมาคมศูนย์การค้าไทย  ต้องออกมาประกาศตัวปรับรูปแบบให้บริการ  จากเดิมห้างค้าปลีกส่วนใหญ่จะปิดให้บริการในเวลา 22.00 น. ปรับเปลี่ยนเป็นปิดให้บริการในเวลา 21.00 น. โดยประกาศให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมาจนกว่าจะมีการประกาศเปลี่ยนแปลง  เนื่องจากห้างค้าปลีกถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  เพราะเป็นสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก
 
นอกจากนี้  ยังถือเป็นการประกาศตัวถึงการให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเคร่งครัด ในการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19  ตามมาตรการที่เข้มข้นตามลำดับ รวมทั้งเพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยของประชาชนและการให้บริการที่ดีในสถานการณ์เช่นนี้
 
หลังจากมีประกาศออกมาดังกล่าว  ทำให้บรรดาร้านค้าที่อยู่ภายในห้างค้าปลีกต้องปรับเวลาให้บริการเช่นกัน  โดยเฉพาะร้านอาหาร  ซึ่งก่อนที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยและสมาคมศูนย์การค้าไทยจะออกมาประกาศปรับเปลี่ยนเวลาให้บริการ บรรดาร้านอาหารก็เกิดความสับสนพอสมควร  เนื่องจากวันที่ 1 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีประกาศออกมาว่าห้ามผู้บริโภคนั่งรับประทานภายในร้านตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 
 
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ในวันเดียวกัน  คือ วันที่ 1 ม.ค. 2564 สมาคมภัตตาคารไทย ต้องส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงผลกระทบของธุรกิจร้านอาหาร หาก กทม. มีคำสั่งไม่ให้นั่งรับประทานที่ร้านอาหาร
 
 
ในจดหมายฉบับดังกล่าว ระบุว่า จากประกาศของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 หากมีมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหาร โดยจะต้องซื้อกลับเท่านั้น  ทางสมาคมขอเรียนชี้แจงให้เข้าใจ  เพื่อยกเลิกมาตราการและคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากร้านอาหารเป็นธุรกิจ SME และ MICRO SME ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจ 4 แสนล้านบาทต่อปี จากประกาศดังกล่าวจะทำให้มูลค่าธุรกิจร้านอาหารไทยหายไปไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท  และจะทำให้มีผลกระทบเป็นห่วงโซ่ ดังนี้
 
1.อัตราการจ้างงานซึ่งจะทำให้พนักงานตกงานทันทีเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากการกลับมาเปิดธุรกิจร้านอาหารได้มีการว่าจ้างแรงงานกลับเข้าระบบได้เป็นจำนวนมากแต่จากประกาศวันที่ 1 ม.ค. 2564 จะมีผลกระทบต่อการจ้างงานอีกครั้ง 
 
2.ผลกระทบกับสินค้าภาคการเกษตร ซึ่งร้านอาหารต้องใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรกรจำนวนมหาศาลซึ่งจะต้องหยุดชะงักลงอีกครั้งจากคำสั่งวันที่ 1 ม.ค. 2564 จะมีผลทำให้รายได้ของภาคเกษตรกรลดลงเช่นกัน 
 
และ 3.จะมีผลกระทบเรื่องการจัดเก็บภาษี , VAT  และเงินประกันสังคมของภาครัฐบาลที่หายไปอีกครั้ง
 
ทั้งนี้ ธุรกิจร้านอาหารทั้งในส่วนภัตตาคารและร้านอาหารขนาดเล็ก รวมไปถึงร้านอาหารตามริมข้างทางได้ปฎิบัติตามมาตราการป้องกัน COVID-19 จากคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขด้วยความเคร่งครัดมาโดยตลอดรวมไปถึงร้านอาหารขนาดใหญ่และขนาดกลางได้เข้าร่วมอบรมและเรียนรู้จนได้สัญลักษณ์ SHA เกิน 80% และผู้ประกอบการเกือบทั้งหมดยังตระหนักถึงความปลอดภัยของลูกค้าและพนักงานที่ปฎิบัติงานในร้านด้วยการเพิ่มมาตราการเสริมเข้าไปมากขึ้นกว่าคำสั่งของสาธารณสุขด้วย เช่น
 
1.จัดให้มีการเช็คอินก่อนเข้ารับบริการที่ร้านด้วยแอปพลิเคชันไทยชนะ 
 
2.ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทั้งพนักงานและลูกค้าก่อนเข้าร้าน 
 
3.ทำความสะอาดโต๊ะเก้าอี้ด้วยแอลกอฮอล์ ทุกครั้งเมื่อมีลูกค้าใช้เสร็จ 
 
4.แจกแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งเมื่อมาใหม่  
 
5.จัดให้พนักงานทั้งส่วนหน้า,ส่วนหลัง และในครัวมีการใส่ถุงมือยางและผ้าปิดปากตลอดเวลาที่มีการปฎิบัติงาน  
 
6.มีการถูพื้นด้วยน้ำยากำจัดเชื้อโรค ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง
 
7.จัดตารางทำความสะอาดห้องน้ำและถูพื้นด้วยน้ำยากำจัดเชื้อโรค ทุกๆ 2 ชั่วโมง 
 
8.ร้านที่มีประตู ให้เช็ดมือจับด้วยแอลกอฮอล์ ทุกครั้งที่มีการสัมผัส 
 
9.แจกช้อนกลางส่วนตัวให้ลูกค้าเพื่อลดการสัมผัสภาชนะร่วมกัน 
 
และ 10.ร้านอาหารที่มีเครื่องปรับอากาศ ทางร้านจะทำความสะอาดทุกๆ 4 ชั่วโมง
 
 
จากการปฎิบัติตามมาตรการที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดมีผลสะท้อนให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ระลอกใหม่ในครั้งนี้ไม่ได้มีมูลเหตุหรือต้นตอมาจากร้านอาหารเลย  เพราะแท้จริงแล้วการแพร่ระบาดระลอกใหม่เกิดมาจากกลุ่มธุรกิจที่ผิดกฎหมายทั้งหมด เพราะไม่ปฎิบัติตามมาตรการ
 
เหตุและผลดังกล่าว ทางสมาคมภัตตาคารไทย จึงใคร่ขอความกรุณานายกรัฐมนตรี  และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ได้ช่วยพิจารณาไม่ออกมาตรการห้ามรับประทานอาหารในร้านอาหาร ดังที่ กทม. แถลงข่าวไว้ในวันที่ 1 ม.ค. 2564 โดยให้ร้านอาหารสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติดังเดิม
 
การยื่นจดหมายของสมาคมภัตตาคารไทยดังกล่าว ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาแถลงข่าวด่วนในเย็นวันที่ 1 ม.ค. 2564 ยกเลิกประกาศของ กทม. ว่าให้ร้านอาหารสามารถเปิดให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารได้จนถึงเวลา 21.00 น. เหมือนกับเวลาปิดของห้างค้าปลีก  ซึ่งห้างค้าปลีกในกรุงเทพฯ ต่างตบเท้าปฏิบัติตามคำประกาศของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและสมาคมศูนย์การค้าไทย
 
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง จากเดิมขยายเวลาให้นั่งรับประทานอาหารในร้านได้ถึงเวลา 21.00 น. เช่นเดียวกับการเปิดให้บริการของห้างค้าปลีกอาจมีการยกเลิกเหมือนกับการแพร่ระบาดในระลอกแรก  เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว  และเพื่อความปลอดภัยของทุกคน ทางที่ดี คือ ทุกคนต้องตั้งการ์ดสูง รักษาสุขภาพอนามัยให้แข็งแรง และประกาศตามคำแนะนำของ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
 

LastUpdate 09/01/2564 12:24:22 โดย : Admin
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 10:02 pm